ความทรงจำของการเริ่มต้น

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางบริษัท ต้นคิด มีเดีย จำกัด ในฐานะ Production House ที่ผลิตรายการ World of Speed สุดขีดความเร็ว ออกอากาศทาง PPTVHD36 ได้มีโอกาสจัด Thank You Party ให้กับสปอนเซอร์ชิพ ที่สนับสนุนรายการมาตลอดระยะเวลา 3 ปีของรายการ ที่ต้องบอกว่าเป็นกองหลังที่ทำให้พวกเรามีกำลังใจเป็นอย่างมากที่จะผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับวงการมอเตอร์สปอร์ตออกสู่สื่อสาธารณะ

สำหรับผู้เขียนที่ผ่านการทำรายการมาตั้งแต่รายการข่าว กีฬา อาหาร จนมีโอกาสได้ผลิตสารคดี ช่วงเวลาที่ถูกบันทึกอยู่ในความจำมากที่สุด คือช่วงเวลาของการเริ่มต้นรายการ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องรวบรวมไอเดียให้ได้เป็นหนึ่งเดียว ต้องวางแผนการถ่ายทำ ประสานงานกับสปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุนรายการ ประสานงานกับสถานีที่ต้องเช่าเวลาออกอากาศ เรื่อยไปจนถึงงาน Post Production อันเป็นขั้นตอนท้ายสุดก่อนที่จะส่งรายการออกสู่สายตาของสาธารณะ

วันแรกของการออกอากาศ ทีมงานทุกคนมักดูพร้อมกัน และลุ้นว่าเรตติ้งจะเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ ทีมงานต้องคอยตรวจสอบว่าคลิปของรายการที่โพสต์ในแพลตฟอร์มออนไลนนั้นมีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง นั่นคือช่วงเวลาที่พวกเราจะเรียกกันติดปากว่า “ขึ้นรายการ” ที่เหล่า Producer หลายคน ๆ บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุด แต่เชื่อไหมคะว่าทุกคนมักจะจดจำช่วงเวลานี้มากที่สุด

จนกระทั่งรายการออกอากาศไปได้ประมาณ 3 เดือน หากได้ไปต่อ นั่นหมายถึงการปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเล่าเรื่องเพื่อให้รายการมีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อทีมงานต้นคิด มีเดีย กับรายการ World of Speed ผ่านวงจรแบบนี้มาจนถึงปีที่ 3 พวกเราคลายความกดดันลงและพยายามมุ่งมั่นให้รายการดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้สมกับที่ผู้ชมให้ความสนใจ และสปอนเซอร์ยังคงให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

เล่ามาถึงตรงนี้ให้นึกถึงคำถามจากคนรอบข้างหลายคน ที่ถามว่าทำไมไม่ลองทำรายการออนไลน์บนแพลตฟอร์ม ออนไลน์บ้างจะได้ไม่ต้องเสียค่าเช่าเวลา ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์มากเหมือนทำรายการโทรทัศน์ ที่สำคัญคำถามนำแบบนี้ มักตามมาด้วยคำพูดที่ว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนดูทีวีกันแล้ว”

เอาเข้าจริงเวลาคนถามอะไรแบบนี้ ผู้เขียนมักจะยิ้มตอบมากกว่าจะให้คำตอบ เพราะดูเป็นการพูดที่ตัดสินจากความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเราคงไปเปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้ เพราะถ้าให้อธิบายจริง ๆ คงต้องใช้เวลากันยืดยาว เอาเป็นว่าถือโอกาสนี้ให้คำตอบเลยแล้วกันกับสองคำถามที่คนทำ Production House มักเจอกันบ่อย ๆ

ข้อแรก ที่ถามว่าทำไมไม่ทำรายการลงโซเชียลมีเดียบ้าง คำตอบคือ ทางต้นคิด มีเดีย เคยผลิตแล้ว แต่เป็นการผลิตให้กับสปอนเซอร์ชิปมาแล้วหลายเจ้า ได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง และเราไม่ใช่ Production House ที่เติบโตมาจาก Youtuber แต่เป็นเฮาส์ที่โตมาจากสายสื่อ ทำให้การสร้างสรรค์เนื้อหาของต้นคิด มีเดีย ค่อนข้างเฉพาะทางและสบายใจที่จะสร้างสรรค์งานในลักษณะที่เป็นอยู่มากกว่า

ส่วนข้อที่สอง ที่พูดว่า “สมัยนี้ไม่ค่อยมีคนดูทีวีกันแล้ว” เอาเข้าจริงในคำพูดนี้ต้องแบ่งออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทีวี คือ Device ในการรับชมเนื้อหา ซึ่งปัจจุบันจากความเชื่อทางการตลาดที่บอกว่า “ผู้คนก้มหน้าดูแต่โทรศัพท์ของตนเอง” ความเชื่อนี้ไม่ผิด แต่ผู้คนก็เปิดทีวีทิ้งไว้ เพื่อให้มีเสียงและภาพเป็นเพื่อนขณะที่นั่งเล่นโทรศัพท์เช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า “สมัยนี้ผู้คนไม่ดูทีวีกันแล้ว” คงไม่ถูกนัก คงต้องใช้เป็น “สมัยนี้ผู้คนมีสมาธิกับเนื้อหาบนทีวีน้อยลง” แต่ถ้าเนื้อหาบนทีวีมีความน่าสนใจมากเท่าไร โซเชียลมีเดียก็จะกลายเป็นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้คนแต่ละแพลตฟอร์ม สามารถขยายความเนื้อหาหรือ Content ได้มากกว่าเดิม

จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องด้อยค่าสิ่งหนึ่งเพื่อยกให้อีกสิ่งหนึ่งดี แต่วิธีการทั้งเก่าและใหม่นั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการปรับตัวไม่ให้ตึงหรือหย่อนจนเกินไป เช่นเดียวกับที่ ต้นคิด มีเดีย สร้างสรรค์เนื้อหามาจนในปีหน้านี้ เราจะเข้าสู่ปีที่ 14 นับเป็นย่างก้าวสำคัญในการเติบโตกับรายการใหม่อีกหนึ่งรายการ และการผลิตสารคดีจากทีมงานในรุ่นที่สอง อันเป็นการ “แตกหน่อต่อกอ” แนวคิดการผลิตสื่อที่ดีและสร้างสรรค์ออกสู่สาธารณะ โดยไม่จำเป็นต้องด้อยค่าหรือตัดสินใคร เพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้สังคมที่ความคิดผู้คนที่เร็วระดับ 5G น่าอยู่ขึ้นอีกไม่น้อย

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ