หากพูดถึงงานเทศกาลหรืองานประจำปีที่จัดขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น ล้วนแล้วแต่น่าสนใจในมุมมองของทั้งคนไทยเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยมีเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ไม่แพ้ที่ใดในโลก ด้วยสไตล์ที่ต่างกันไปตามวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งส่วนใหญ่งานเทศกาลประจำปีของไทยจะมีลักษณะเป็นงานบุญที่มีกิจกรรมรื่นเริง และมีการออกร้านขายอาหารแบบ Street Food ด้วย เรียกได้ว่าทั้งอิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มท้องกันถ้วนหน้า
และหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ช่วงเดือนพฤศจิกายนแบบนี้ ก็คือ งานวัดภูเขาทอง หรือ งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) โดย งานวัดภูเขาทอง ประจำปี 2567 นี้ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8-17 พฤศจิกายน 2567 จัดเต็ม 10 วัน 10 คืน ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ใครใคร่ไปร่วมงาน อ่านรายละเอียดด้านล่างนี้ได้เลย
ประเพณีห่มผ้าแดง ไฮไลต์สำคัญของงาน
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมสืบสาน “ประเพณีห่มผ้าแดง” ถวายองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือก็คือประเพณีที่ทำกันมายาวนานมากกว่า 130 ปี หลังจากที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ก็ได้มีการจัดพิธีการห่มผ้าแดงขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 จนถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 หรือตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังพิธีลอยกระทง รวม 10 วัน 10 คืน
สำหรับ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ซึ่งเป็นเจดีย์บนภูเขาจำลอง สถานที่ที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุบริเวณยอดเจดีย์ โดยโครงสร้างจะคล้ายกับพระเจดีย์วัดภูเขาทอง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2420 โดยอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง และครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2442 เมื่ออุปราชแห่งประเทศอินเดีย ได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่เนินพระเจดีย์เก่า ที่เมืองกบิลพัสดุ์มาทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมโภชและอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์บนยอดภูเขาทองนี้ และได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุสืบต่อมาถึงปัจจุบัน โดยจะมีการอัญเชิญผ้าแดงมาห่มเจดีย์เป็นเวลา 10 วัน
“การห่มผ้าสีแดง” ให้กับองค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง ตามความเชื่อโบราณ เชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นมงคล และยังมีความเชื่อที่ว่าผู้ที่เขียนชื่อและนามสกุล ลงบนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ จะได้รับความเป็นสิริมงคล ดังนั้น จึงเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา ว่าการได้ร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ จะสร้างอานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ด้วยผืนผ้าที่พระบรมสารีริกธาตุ ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดจากอันตราย ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ซึ่งทางวัดได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนจารึกชื่อ-นามสกุล พร้อมเขียนคำอธิษฐานขอพรลงบนผ้าแดงไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา
กิจกรรมอื่น ๆ ภายในงาน
นอกจากพิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มพระบรมสารีริกธาตุ ที่จะจัดขึ้นเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายนแล้ว ภายในงานยังมี กิจกรรมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์
- พระประธาน พระอุโบสถ วัดสระเกศ
- หลวงพ่อโต
- หลวงพ่อดำวัดสระเกศ
- พระอัฏฐารส
- หลวงพ่อดุสิต
- คัมภีร์โบราณ 2,000 ปี
- พระพุทธมงคลบรมบรรพต (หลวงพ่อดวงดี)
- พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี)
กิจกรรมสัมผัสประเพณีวัฒนธรรมไทย 4 ภาค
- รื่นเริงและสนุกสนานกับเกมงานวัด ชิงช้าสวรรค์ การแสดงดนตรีลูกทุ่งย้อนยุค
- ตื่นตากับสุดยอดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย
- แต่งชุดไทย เดินเที่ยวตลาดย้อนยุควิถีชาวสยาม
- ลอยประทีปเทียนหอมบูชาพระพุทธเจ้าน้อย
- การออกร้านค้าชุมชน ชอปของกินอาหารอร่อยมากมาย
- ตระการตากับไฟประดับกว่า 1 ล้านดวง
วิธีเดินทางไปเที่ยวงานวัดภูเขาทอง 2567
การเดินทางไปยังวัดสระเกศ สามารถเดินทางมาได้ด้วยหลากหลายวิธี ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที รถไฟไทย รถโดยสารประจำทาง ตามเส้นทางการเดินรถของ ขสมก. ที่วิ่งผ่านวัดสระเกศ จำนวน 13 เส้นทาง 2 ถนน ได้แก่ ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนหลานหลวง และรถยนต์ส่วนตัว
- รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามยอด (BL30) จากนั้นเดินไปตามถนนเจริญกรุงเข้าถนนวรจักร ต่อรถเมล์สาย 8, 37 หรือ 48 หรือวินมอเตอร์ไซค์, ตุ๊กตุ๊ก
- รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ต่อรถเมล์สาย 47 หรือ 48 หรือวินมอเตอร์ไซค์
- รถไฟ รฟท. ตรวจสอบขบวนรถจากต้นทางที่แวะจอดที่ป้ายหยุดรถไฟยมราช จากนั้นเดินต่อไปยังป้ายรถเมล์ถนนหลานหลวง ต่อรถเมล์สาย 2, 44, 59, 60, 79, 183, 511
- รถโดยสารประจำทาง
รถ ขสมก.
ถนนจักรพรรดิพงษ์ จำนวน 4 เส้นทาง
-
- สาย 15 (4-2) วงกลม : สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู-สยาม
- สาย 21 (4-6) วัดคู่สร้าง-มหานาค
- สาย 47 (3-41) ท่าเรือคลองเตย-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 49 (2-43) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หมอชิต 2-หัวลำโพง
ท่าเรือผ่านฟ้า ถนนหลานหลวง จำนวน 11 เส้นทาง
-
- สาย 15 (4-2) วงกลม : สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู-สยาม
- สาย 47 (3-41) ท่าเรือคลองเตย-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 59 (เดิม) รังสิต-สนามหลวง
- สาย 60 (1-38) สวนสยาม-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
- สาย 79 (4-42) อู่บรมราชชนนี-ราชประสงค์
- สาย 511 (เดิม) ปากน้ำ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ตลิ่งชัน) สายใต้ใหม่
- สาย 511 (3-22E) ปากน้ำ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ตลิ่งชัน) สายใต้ใหม่ (ทางด่วน)
- สาย 1-7E รังสิต-สนามหลวง (ทางด่วน)
- สาย 1-80E สวนสยาม-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย (ทางด่วน)
- สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สนามหลวง (ทางด่วน)
- สาย S1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สนามหลวง (ทางด่วน)
รถเอกชน
- สาย 2 (3-1) ปากน้ำ-สะพานพุทธ ลงท่าเรือผ่านฟ้า แล้วเดิน 250 เมตร
- สาย 2 (3-2E) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ ลงท่าเรือผ่านฟ้า เดิน 250 เมตร