“สุขภาพในช่องปาก” สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

หลายคนอาจไม่ทราบว่า การดูแล “สุขภาพในช่องปาก” เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม เพราะช่องปากเป็นประตูที่เปิดเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายหลายระบบ อีกทั้งช่องปากยังเป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของเชื้อแบคทีเรียที่มีทั้งแบคทีเรียชนิดดีและชนิดก่อโรค ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือชนิดก่อโรคมีมากกว่าชนิดดี ก็จะทำให้เกิดปัญหาโรคในช่องปาก หากปล่อยไว้ไม่รักษามันก็จะลุกลามไปยังร่างกายส่วนอื่น ๆ และเนื่องจากระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานสัมพันธ์กัน เมื่อระบบหนึ่งติดเชื้อ ระบบอื่น ๆ ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน

ในเมื่อสุขภาพของช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบอื่น ๆ ในร่างกาย ดังนั้น การดูแลสุขภาพในช่องปากจึงสามารถป้องกันปัญหาสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในช่องปากเอง หรือปัญหาสุขภาพโดยรวม การดูแลรักษาสุขภาพในช่องปาก จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

โดยทั่วไป เราจะพบแบคทีเรียในช่องปากได้มากกว่า 400 ชนิด หากเกิดโรคติดเชื้อในช่องปาก ช่องปากเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และแพร่กระจายเชื้อโรคจากช่องปากเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะผ่านการหายใจ การกินอาหาร การดื่มน้ำ การกลืนน้ำลาย หรือการติดเชื้อบริเวณที่เป็นแผลในปาก เชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคจะสามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อวัยวะภายในอย่างสมอง ปอด หัวใจ ไต และที่อื่น ๆ ที่อาจก่อโรคร้ายแรง ยิ่งถ้าเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว ภูมิต้านทานต่ำ หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่างอย่าง ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น การรักษาสุขภาพช่องปากจึงช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้

ไม่เพียงเท่านั้น การมีปัญหาสุขภาพช่องปากจะส่งผลโดยตรงต่อการกินอาหารและการย่อยอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากช่องปากเป็นพื้นที่ส่วนแรกสุดที่รับอาหารเข้าสู่ร่างกาย และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบย่อยอาหาร อาหารทุกอย่างที่คนเรากิน จะถูกย่อยให้ชิ้นเล็กลงที่ในปาก หากอวัยวะในช่องปากมีปัญหา ไม่สามารถทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียดได้ อวัยวะในระบบย่อยอาหารในลำดับต่อ ๆ ไปก็จะทำงานหนักมากขึ้น หรือหากอวัยวะในช่องปากเจ็บปวดมากจนกินอาหารไม่ได้ กินอาหารบางประเภทไม่ไหว ก็อาจส่งผลต่อเรื่องของการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพในช่องปากจึงไม่ใช่แค่เพื่อรอยยิ้มที่สวยงาม สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง หรือเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น แต่การมีฟันที่แข็งแรง มีสุขภาพช่องปากที่ดี คือการส่งเสริมสุขภาพโดยรวมที่ดีของร่างกายนั่นเอง

ความสัมพันธ์ของสุขภาพในช่องปากกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

1. โรคหัวใจและหลอดเลือด

มีการศึกษาที่พบความเชื่อมโยงระหว่างโรคปริทันต์ (โรคเหงือกเรื้อรัง) กับโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากการติดเชื้อที่เหงือกทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือดได้ หรืออาจเกิดขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรียจากเหงือกที่อักเสบสามารถเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือด

2. โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ด้านสุขภาพช่องปาก ผู้ที่มีโรคปริทันต์มีโอกาสในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น โรคเหงือกที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบด้วย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่สมดุล ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง

3. โรคติดเชื้อในกระแสเลือด

เพราะการติดเชื้อในช่องปาก เช่น เป็นฝีในฟันหรือเหงือกที่อักเสบ หากไม่ได้รับการรักษา สามารถลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

4. โรคและความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ

เชื้อแบคทีเรียจากช่องปากสามารถเข้าสู่ปอดผ่านทางการหายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อเหล่านี้สามารถนำไปสู่โรคปอดอักเสบหรือติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม

5. โรคและความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร

เพราะฟันที่ไม่แข็งแรง มีอาการปวดฟัน ปวดเหงือก หรือการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร ทำให้การเคี้ยวอาหารไม่สมบูรณ์ การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดทำให้เกิดปัญหาในการย่อยอาหาร เช่น ท้องอืดหรือกรดไหลย้อน ปวดท้อง นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการเคี้ยวที่ไม่ดี จะทำให้กินอาหารลำบาก กินอาหารบางประเภทไม่ได้ จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม

6. ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์

ช่วงตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ผู้ตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคเหงือกอักเสบ และปริทันต์อักเสบรุนแรงกว่าช่วงเวลาอื่น รวมทั้งอาจเกิดฟันผุได้มากขึ้น การติดเชื้อที่เหงือก นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพในช่องปากแม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของลูก เพราะโรคปริทันต์ในหญิงตั้งครรภ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักน้อยได้ เนื่องจากการอักเสบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและกระบวนการทางชีวภาพในร่างกายของผู้ตั้งครรภ์ ในช่วงการเลี้ยงดูลูก แม่ที่เป็นโรคฟันผุยังทำให้ลูกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคฟันผุเพิ่มขึ้นด้วย

7. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

การอักเสบในช่องปากจากโรคเหงือก อาจทำให้เกิดการอักเสบในส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วยเช่นกัน มีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่มีโรคเหงือกมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มากขึ้น

8. ปัญหากลิ่นปาก

ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุหรือเหงือกอักเสบ มักนำไปสู่กลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองและความสัมพันธ์ในสังคม มีปัญหาในการเข้าสังคม

9. ปัญหาสุขภาพจิต

การมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก เช่น ฟันผุหรือสูญเสียฟัน ปัญหากลิ่นปาก และโรคในช่องปากอื่น ๆ ที่รุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในรูปลักษณ์และเกิดปัญหาทางจิตใจ เช่น ความเครียดหรือความวิตกกังวล ยิ่งถ้าเป็นในระยะที่รักษาไม่หาย สุขภาพจิตก็ยิ่งแย่ตาม

10. ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก

การดูแลช่องปากไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงนี้ได้

การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก

ปัญหาสุขภาพช่องปากสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ซึ่งประกอบไปด้วยพฤติกรรมที่สำคัญ 3 ด้าน คือ

  • พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยทั่วไปก็จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายทุกระบบอยู่แล้ว นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปากแต่พอดี (ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั่วไปด้วย) คือ อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
  • พฤติกรรมการดูแลอนามัยช่องปาก การดูแลรักษาอนามัยช่องปากขั้นพื้นฐานที่ควรต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน คือ การแปรงฟัน
  • หมั่นตรวจและเฝ้าระวังสุขภาพช่องปาก โรคในช่องปากก็เหมือนกับโรคทางร่างกายอื่น ๆ หากตรวจพบไวและรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ผลการรักษาก็จะดี มีโอกาสหายขาด ไม่เสียเวลา ไม่ทรมาน และใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามจนสายเกินแก้ นอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากด้วย เพราะมันจะไม่ใช่แค่เกิดโรคในช่องปากหรือสูญเสียฟันเท่านั้น แต่อาจลามเป็นโรคทางกายอื่น ๆ รวมถึงความทุกข์ทรมานในช่วงที่อายุมากขึ้น การไม่มีฟันหรือสุขภาพฟันไม่ดี จะทำให้กินอาหารลำบาก ปวดฟัน เจ็บเหงือกอยู่ตลอดเวลา ค่ารักษาก็แพง และถึงจะใส่ฟันปลอม แต่ของปลอมก็ไม่มีทางสู้ของแท้ได้อยู่แล้ว

เพราะสุขภาพช่องปากมีความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด โดยเฉพาะต่อสุขภาพ ปัญหาต่าง ๆ ในช่องปากสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ ปลายทางที่เลวร้ายจะไม่ใช่แค่การสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร หรือโรคต่าง ๆ ในช่องปาก แต่โรคที่เกิดในช่องปากสามารถลุกลามกลายเป็นโรคทางร่างกายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคผนังหลอดเลือดแดงหนาตัว โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะไตวาย ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอจึงช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในระยะยาวได้ ซึ่งต้องป้องกันตอนที่ยังป้องกันได้ ไม่ใช่พยายามแก้ไขตอนที่ทุกอย่างสายเกินไป เวลานั้นมันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว