เมื่อประมาณปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ทางสถาบัน Reuters Institute for the Study of Journalism ได้เปิดเผยรายงาน Digital News Report ซึ่งระบุว่าคนไทยส่วนใหญ่ คิดเป็น 64% มักจะติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่มีเพียง 7% เข้าสู่แพลตฟอร์มของสำนักข่าวโดยตรง และ 23% ค้นหาข้อมูลเองหรือติดตามจากเว็บไซต์ที่เป็นบุคคลที่ 3
ดูเหมือนว่าข้อมูลดังกล่าวจะตรงกับที่สถาบัน We Are Social เก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยในรอบปี ซึ่งมีรายงานว่าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้มากที่สุด อันดับที่ 1 คือ Social Networks โดยมีการใช้ถึง 98.6% อันดับที่ 2 เป็นประเภท Chat and Messaging อยู่ที่ 98.2% อันดับที่ 3 เป็นประเภท Search Engines และจำพวก Web Portals ต่าง ๆ อันดับที่ 4 เป็นประเภท Shopping, Auction และ Classifieds ส่วนอันดับที่ 5 เป็นประเภทค้นหาแผนที่ ค้นหาที่จอดรถ หรือค้นหาบริการต่าง ๆ
เป็นสองข้อมูลจากสองแหล่ง ที่ยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการติดตามข่าวสารอย่างไร และที่ยกมาไว้ในคอลัมน์วันนี้ เพื่อจะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ร้องดัง ๆ ไปยังหน่วยงานภาครัฐ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่จังหวัดเชียงรายและอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือนั้น ชาวบ้านเขาไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภัยพิบัติหรือความเดือนร้อนของประชาชน ควรจะยกเครื่องการสื่อสารบนโลกออนไลน์เสียงใหม่ ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าดูจากตัวเลขจากทั้งสองสถิติ จะเห็นว่ารูปแบบการติดตามข่าวสารของคนไทยในปัจจุบันนั้นไม่ได้เน้นไปที่เว็บไซต์หลัก แต่เน้นการบอกต่อบนโซเชียลมีเดีย และการได้เห็นตามความสนใจของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง และการรับรู้ข้อมูลบนพื้นฐานแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Fake News หรือข่าวในลักษณะ Misleading ได้ง่ายนั้น ส่งผลอย่างยิ่งในภาวะที่กำลังเกิดเหตุที่ไม่ปกติ และทำให้ผู้คนสับสนกับข้อมูลที่ตนเองมีอยู่
แล้วเว็บไซต์หลักของหน่วยงานราชการนั้นน่าเข้าใช้งานมากแค่ไหน คำตอบคือไม่มีสักหน่วยงานเลยที่น่าเข้าไปใช้งาน ที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ชั่วโมงนี้ต้องยกให้ว่าพัฒนาได้เหนือระดับกว่าใคร (ฮา) เมื่อเว็บไซต์หลักของหน่วยงานราชการไม่น่าเข้า ฝ่ายสารสนเทศที่ต้องรับผิดชอบในการส่งต่อข่าวสารเพื่อให้เกิดความรับรู้ก็จำเป็นต้องสร้างแอ็กเคานต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารระหว่าง หน่วยงานและประชาชน
แต่…การเปิดแอ็กเคานต์เฟซบุ๊กก็เหมือนไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎ ส่งผลให้เกิดการมองเห็นน้อยลง หากแอ็กฯ ของหน่วยงานไหนมีแต่ Copy&Paste มาจากเว็บไซต์หลัก ยอดติดตามก็จะน้อย ส่งผลต่อการมองเห็นและเลยเถิดไปถึงยอด Engagement หากบริหารจัดการไม่ดี วันดีคืนร้ายเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานมีสิทธิถูกปลอมแอ็กเคานต์ หรือถูกขโมยแอ็กเคานต์ได้โดยง่าย
เมื่อเว็บไซต์หลักไม่มีคนเข้าไปดู แอ็กเคานต์เฟซบุ๊กถูกปิดกั้นการมองเห็น จะให้ซื้อบูสต์โพสต์ทางหน่วยงานก็ไม่ได้มีงบประมาณ หวังจะให้เป็น organic อย่างเดียว เวลาเกิดเหตุไม่ปกติ ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมประชาชนถึงไปติดตามเพจเล่าข่าว เพจทนายความ เพจองค์กรในภาคเอกชนกันหมด
เราอยู่ในยุคที่ “ใครครองสื่อ คนนั้นครองอำนาจ” แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าการสื่อสารจากภาครัฐสู่ประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน เวลาเกิดเหตุไม่ปกติขึ้นในบ้านเมือง จึงมักเห็นช่องโหว่ของระบบ และหลายครั้งถูกเพิกเฉยที่จะแก้ไข จนทำให้เราได้เห็นความผิดพลาดเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในทางกลับกัน หากทุกหน่วยงานเรียนรู้จากความผิดพลาดและยกระดับการสื่อสารใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเว็บไซต์หรือในโซเชียล ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในวงกว้าง แล้วคุณจะเห็นว่าการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ