จากความสำเร็จที่ได้ออกแบบระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (LogHealth) ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนได้ส่งต่อเทคโนโลยีสู่ชุมชนทั่วประเทศ ปัจจุบันเตรียมยกระดับสู่การเป็น “Digital Medical Hub” พร้อมขยายผลจาก “ภาคสาธารณสุข” สู่ “ภาคการเกษตร”
รองศาสตราจารย์ ดร.เดชรัตน์ สัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแบบโมเดล “Quadruple Innovation Helix” รองรับการเชื่อมโลกดิจิทัลเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ภายใต้การสร้าง “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) สำหรับรัฐ-มหาวิทยาลัย-อุตสาหกรรม และกลุ่มประชาสังคม ที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตร จากดั้งเดิมไปสู่ดิจิทัล
การประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางอุตสาหกรรม (IIoT) ในห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตรถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในกระบวนการผลิต ขนส่ง และกระจายสินค้า IIoT ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถติดตามสถานะของสินค้าในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง จนถึงการจัดจำหน่าย โดยสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของสินค้าแบบเรียลไทม์ ช่วยจัดการสต็อกสินค้าและคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ
ในการขนส่งและการกระจายสินค้า IIOT ช่วยตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในยานพาหนะ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และการสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย นอกจากนี้ยังช่วยวิเคราะห์และปรับเส้นทางการขนส่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมความยั่งยืนในการขนส่งสินค้า
IIoT ยังเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรับรองความปลอดภัยทางอาหาร ข้อมูลจาก IIoT สามารถบันทึกประวัติการปลูก การใช้สารเคมี และกระบวนการขนส่ง ทำให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงแหล่งที่มาของอาหารได้อย่างละเอียด อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรระบุและแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า
การสร้างระบบนิเวศสำหรับการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางอุตสาหกรรม (IIoT) ในการเตรียมความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตรของประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา รัฐบาล และกลุ่มประชาสังคม (Quadruple Innovation Helix)
โดยอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และนำเทคโนโลยี IIoT มาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เช่น การติดตามผลผลิต และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันการศึกษาให้การสนับสนุนด้านวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในภาคการเกษตร
รัฐบาลมีบทบาทในการสร้างนโยบาย และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยี IIoT มาใช้ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงิน และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ช่วยลดต้นทุนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่วนกลุ่มประชาสังคม หรือผู้ใช้มีความสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะแบบจริงจังเกี่ยวกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้ใช้ที่แท้จริง ข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มนี้ช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น และสอดคล้องกับความเป็นจริงของการปฏิบัติ
การทำงานร่วมกันของทั้ง 4 กลุ่มนี้ช่วยสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งซึ่งสนับสนุนการใช้ IIoT ในห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างกลุ่มต่าง ๆ จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในภาคเกษตร เช่น การเพิ่มผลผลิต การลดการใช้สารเคมี และการประหยัดน้ำ การบูรณาการเทคโนโลยี IIoT กับการปฏิบัติการเกษตรอย่างยั่งยืนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างแท้จริง
โดยการจัดการ “ข้อมูล” ให้เข้าสู่ “ระบบสารสนเทศ” จะก่อให้เกิด “การเรียนรู้” พร้อมพัฒนาสู่ “ปัญญา” สร้างคนสร้างชาติอย่างมั่นคง และยั่งยืน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย สู่การเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้ต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th