มีเรื่องเล่าจากแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ที่เพิ่งได้อ่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่านแล้วก็คิดว่าน่าเอามาเล่าต่อให้คุณผู้อ่านที่ผ่านคอลัมน์นี้ผ่านเว็บไซต์ Tonkit360 หรือเฟซบุ๊ก Tonkit360 ได้รับทราบกันไว้หน่อย เพราะน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับอุปทานหมู่ในยุคดิจิทัล ที่เกิดกระแสแบบชั่วข้ามคืนและหายไปแบบชั่วข้ามวัน
เรื่องดังกล่าว เป็นการเล่าเรื่องจากยูทูบช่องหนึ่งที่มีเจ้าของช่องเป็นชายหนุ่มชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ชายหนุ่มคนดังกล่าววางแผนทำคลิปลงยูทูบ โดยมีโจทย์ว่าจะสร้างร้านราเมงขึ้นมาหนึ่งร้าน แล้วจะทำอย่างไรให้มีคนสนใจและเข้าร้านให้ได้จำนวนมาก เขาเริ่มด้วยการสร้างแบรนด์ร้านราเมงผ่านทาง blog โดยใส่เนื้อหาของร้านบอกเล่าว่าเป็นร้านที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ วิธีการถ่ายรูปราเมงของชายหนุ่มผู้นี้เพื่อลง blog ใช้วิธีการง่าย ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยสตูดิโอถ่ายภาพ แต่ใช้แสงธรรมชาติ บวกกับวัตถุดิบที่หาได้จากในตู้เย็นเอามาประกอบ
หลังจากสร้าง blog จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาสร้างความสนใจในเนื้อหาด้วยการยิงแอดโฆษณาว่าร้านจะมาเปิดที่ออสเตรเลีย พร้อมกันนั้นชายหนุ่มวางแผนให้คนสนใจด้วยการเชิญ Influencer มารีวิวราเมงที่ร้าน (ซึ่งยังไม่ได้เปิด) โดยให้กินฟรี ในคลิปดังกล่าวจะเห็นว่า Influencer ให้ความสนใจที่จะเข้ามารีวิวเป็นจำนวนมาก และแต่ละคนมี Follower ในระดับแสนอัป ส่งผลต่อการสร้างกระแสความน่าสนใจในโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี
เมื่อยูทูบเบอร์หนุ่มได้จำนวน Influencer ที่จะมารีวิวราเมง (ที่ไม่ได้มีอยู่จริง) แล้ว เขาก็ต้องเตรียมเปิดร้านด้วยวิธีการไปเช่าโต๊ะ เก้าอี้ และสถานที่ รวมถึงไปซื้อราเมงสำเร็จรูป พร้อมกับเครื่องปรุงสำหรับเหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิด เมื่อถึงวันเปิดร้านให้เหล่า Influencer เข้ามาชิม หลังร้านจึงเป็นการต้มเส้นราเมงสำเร็จรูป พร้อมน้ำซุปสำเร็จ และเนื้อสัตว์ที่ได้รับการปรุงมาแล้ว เสิร์ฟให้กับนักชิมที่สมัครใจเข้ามาชิมฟรี
แน่นอนว่าการได้ชิมฟรีเป็นจิตวิทยาเบื้องต้นที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกดี รีวิวที่ออกมาจึงไปในทางที่ดี และส่งผลให้ร้านราเมง (หลอก ๆ) ของยูทูบเบอร์หนุ่มมีลูกค้ามาต่อคิวรอเข้าร้านเป็นจำนวนมากหลังเกิดอุปทานหมู่ จากกระแสที่ถูกสร้างโดย เหล่า Influencer ส่วนใครที่อยากเห็นว่าตอนจบเป็นอย่างไร ติดตามกันได้ที่ยูทูบนี้เลยค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=KvLGDbU6PIk
เอาเข้าจริง สิ่งที่ยูทูบเบอร์หนุ่มรายนี้สร้างขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วโซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เหล่านักการตลาดเลือกใช้ ไม่ใช่แค่ Influencer บนโซเชียลมีเดีย หรือการยิงโฆษณาผ่านทาง Google Ad แต่ยังมีเครื่องมือที่เอาไว้คอยตรวจสอบฟีดแบ็กจากกลุ่มเป้าหมายหรือ Audience ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ยินมาว่านักการตลาดหรือเอเยนซี่บางรายก็ขอแต่ความคิดเห็นในเชิงบวก เพื่อนำไปแสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจในพรีเซนเทชันของผลิตภัณฑ์
ยุคนี้เป็นยุคที่มีอุปทานหมู่เกิดขึ้นได้บ่อย และเราหนีเครื่องมือทางการตลาดไปไม่พ้นค่ะ เพราะเครื่องมือที่ใช้สร้างกระแสนั้นอยู่ในเว็บไซต์ ในโซเชียลมีเดีย ในสตรีมมิ่งอย่างยูทูบ แถมยังมีคลิปสั้นอย่าง TikTok เนื้อหาเหล่านี้อยู่ในสมาร์ตโฟนที่ทุกคนมีติดตัวเอาไปด้วยทุกที่ แม้กระทั่งเวลานอนยังเอาไว้บนหัวนอน เราได้เสพทั้งเนื้อหาที่เป็นจริง เนื้อหาที่บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง หรือเนื้อหาที่ไม่มีความจริงอยู่เลย ยิ่งในสังคมไทยที่ผู้คนอ่อนไหวต่อการชักจูงด้วยข้อมูลที่เกินจริง บนแพลตฟอร์มที่พวกเขาคิดว่ามีความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดอุปทานหมู่ หรือไวรัลยุคดิจิทัลได้โดยง่าย
เมื่อหลบไม่พ้นแบบนี้เราควรรับมืออย่างไร คำตอบคือ “อย่ากลัวที่จะผิดพลาดค่ะ” คนในยุคสมัยนี้เวลาจะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สักชิ้น จะไปกินข้าวสักมื้อ พวกเขามักจะอ่านรีวิวก่อนจะตัดสินใจเพราะกลัวว่าการตัดสินใจของตนเองจะผิดพลาด ทำให้เครื่องมือการตลาดที่เรียกว่า Influencer เฟื่องฟู เพราะเชื่อกันว่าคนเหล่านี้จะมาป้องกันการผิดพลาดของตนเองได้ แต่แท้จริงแล้วเรากลับตกลงไปอยู่ในหลุมของอุปทานหมู่เป็นที่เรียบร้อย
ถ้าต้องซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เราไม่ค่อยมีความรู้มาก่อน การหาข้อมูลประกอบหรือซื้อมาเพื่อทดลองใช้กับตนเอง แม้จะไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ แต่เราก็ได้รู้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่เหมาะกับเรา ที่สำคัญเป็นการตัดสินใจของคุณเอง ไม่ได้เชื่อตามรีวิวที่คนอื่นมาตัดสินใจให้ โดยที่เราไม่รู้ว่าพวกเขาได้ใช้จริงหรือเปล่า เช่นเดียวกับร้านอาหาร หากเลือกร้านผิดพลาดเราก็แค่จำไว้ว่าไม่ต้องกลับมากินอีก ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร และถ้าได้ร้านที่อร่อยถูกปากตนเอง คุณก็สามารถปักหมุดเพื่อกลับมาอีกครั้งได้
“อย่ากลัวที่จะผิดพลาด กลัวที่ตนเองไม่พยายามหรือไม่ได้แก้ไขความผิดพลาดจะดีกว่า” เพราะความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อเติบโต เช่นเดียวกับภาระหน้าที่ที่หลายคนชอบวิ่งหนี เพราะมันเป็นเรื่องน่าเบื่อและเหน็ดเหนื่อย สุดท้ายแล้วคนเหล่านี้จะเป็นผู้แพ้อยู่ร่ำไป เพราะมักจะวนลูปอยู่ในปัญหาของตนเอง
ลองเลือกดูค่ะว่าจะอยู่ในวงจรของอุปทานหมู่ต่อ เพราะมันสบายดีที่ไม่ต้องคิดและรับผิดชอบ หรือจะลองรับมือกับความผิดพลาดและภาระหน้าที่ดูสักตั้ง แล้วมาวัดผลกันว่าแบบไหนที่ให้คุณรู้สึกภูมิใจในตนเองได้มากกว่ากัน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ