อาการแบบไหนที่เรียกว่า “ฉุกเฉิน” ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าห้องฉุกเฉินได้

เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่รู้ว่า “ห้องฉุกเฉิน” ของโรงพยาบาลนั้น ไม่ใช่พื้นที่สำหรับผู้ป่วยทุกคน แต่เป็นพื้นที่เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินจริง ๆ และเป็นอาการฉุกเฉินแบบที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินต้องเป็นผู้ประเมินว่าเข้าข่ายฉุกเฉิน ไม่ใช่ตัวคนป่วยหรือญาติผู้ป่วยทึกทักเอาเองว่าอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่เรียกว่าฉุกเฉิน ด้วยมันมีเกณฑ์ในการคัดกรองของมันอยู่ ฉะนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันอย่างถูกต้องดีกว่า ว่าอาการป่วยแบบไหนที่เข้าข่ายในการจะเรียกว่า “ฉุกเฉิน” ได้

นิยามของ “ห้องฉุกเฉิน”

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉิน คือการที่ผู้เข้ารับบริการไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “ฉุกเฉิน” คืออะไร บ้างก็เข้าใจว่าถ้าตนเองหรือคนที่ตัวเองรักกำลังเจ็บป่วยไม่ว่าจะด้วยอาการอะไรก็ตาม มันย่อมฉุกเฉินเสมอ และมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าห้องฉุกเฉินในเวลากลางคืน คือห้องสำหรับหาหมอตอนดึก ตอนที่คลินิกอื่น ๆ ปิดหมดแล้ว ในความเป็นจริงหลักการของห้องฉุกเฉินจะฉุกเฉินตามชื่อ มีเกณฑ์ในการคัดแยกผู้ป่วยว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน โดยเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินจะเป็นผู้ประเมินและคัดแยกผู้ป่วยตามเกณฑ์และระดับความฉุกเฉิน รวมถึงสื่อสารกับญาติผู้ป่วยถึงเกณฑ์ในการคัดแยก ว่าอาการแบบไหนต้องรักษาทันที อาการแบบไหนที่รอได้

โดยขั้นตอนในการประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้น จะต้องงประเมินให้เสร็จสิ้นใน 60 วินาที ดังนี้

  1. สภาพทั่วไปของผู้ป่วย คัดแยกว่าป่วยจากโรค/อาการบาดเจ็บ สภาพของผู้ป่วยตามที่เห็น เช่น อายุ เพศ รูปร่าง สีผิว ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวหรือไม่หรือหมดสติไป
  2. การประเมินความรู้สึกตัว ใช้หลักการ A-V-P-U โดย A คือ รู้สึกตัวดี, V คือตอบสนองต่อเสียงเรียก, P คือ ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และ U คือ ไม่รู้สึกตัวหรือไม่ตอบสนอง ซึ่งต้องเช็กว่ามีอาการไม่หายใจร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ต้องปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือทำ CPR โดยเร็ว
  3. การประเมินทางเดินหายใจ ดูว่ามีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี จะดูได้จากการที่พูดได้อย่างเต็มเสียงและการหายใจยังปกติ แต่ถ้าไม่รู้สึกตัวและยังหายใจได้ จะต้องจัดท่าเปิดทางเดินหายใจ และทำทางเดินหายใจให้โล่ง
  4. การประเมินการหายใจ ใช้หลักการตาดู หูฟัง แก้มสัมผัส ฟังปอด ถ้ายังหายใจได้ หายใจปกติหรือเร็ว/ช้าผิดปกติ หายใจสะดวกหรือหายใจลำบาก
  5. การประเมินการไหลเวียนโลหิต หลักการคือ ต้องตรวจชีพจร ดูสีผิว วัดอุณหภูมิร่างกาย ความชื้นของผิวหนัง ตรวจดู capillary refill (วัดการไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย) และตรวจดูจุดที่เลือดออกมาก ต้องทำการห้ามเลือด

จะเห็นว่าระบบการทำงานของห้องฉุกเฉิน คือการทำงานตามสภาวะที่วิกฤติต่อชีวิต ซึ่งมีเกณฑ์ในการตัดสินว่าใครควรได้รับการรักษาก่อน-หลัง ด้วยระบบการคัดกรองผู้ป่วย ว่าใครเร่งด่วน ใครไม่เร่งด่วน ใครฉุกเฉิน และใครเข้าขั้นวิกฤติ ถ้าเข้ามารักษาพร้อมกัน จะต้องรักษาคนที่วิกฤติก่อน โดยพยาบาลเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ด้วยการซักประวัติ ดูสัญญาณชีพ ค่าความดัน หรือค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ซึ่งวิธีคัดกรองอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ฉุกเฉิน จะแบ่งเป็น 5 ระดับ

  • ระดับที่ 1 ฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามชีวิต จะต้องได้รับการรักษา “ทันที” เช่น ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ระบบหายใจ ระบบลำเลียงเลือด ระบบประสาทไม่ทำงาน ชัก เลือดออกมาก ใช้สัญลักษณ์สีแดง
  • ระดับที่ 2 ฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยภาวะเฉียบพลันรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อนที่อาการจะรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นที่อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ อ่อนแรง มีอาการอัมพาต ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ถูกกรด-ด่าง กระเด็นเข้าตา จะตรวจรักษาภายใน 10 นาที ใช้สัญลักษณ์สีเหลือง
  • ระดับที่ 3 ฉุกเฉินไม่รุนแรง คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่นานเกินไป เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหักไม่มีเลือดออก ปวดท้อง ผื่นแพ้ขึ้นเฉียบพลัน ไข้สูงแต่ยังไม่ช็อก จะตรวจรักษาภายใน 30 นาที ใช้สัญลักษณ์สีเขียว
  • ระดับที่ 4 เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยทั่วไป คือ บุคคลที่เจ็บป่วยแต่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุที่บาดเจ็บเล็กน้อย สิ่งแปลกปลอมเข้าตา จมูก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เสียเลือดเล็กน้อย ตรวจรักษาภายใน 1 ชั่วโมง ใช้สัญลักษณ์สีขาว
  • ระดับที่ 5 ไม่มีการตอบสนอง ไม่พบผู้ป่วยฉุกเฉิน ใช้สัญลักษณ์สีดำ

นอกจากนี้ ยังมีผู้รับบริการสาธารณสุขอื่น เป็นภาวะที่ไม่ฉุกเฉิน หรือก็คือผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีภาวะเสี่ยงเสียชีวิต สัญญาณชีพปกติ เช่น เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ แพทย์นัดฉีดยา ทำแผล จะตรวจรักษาภายใน 2 ชั่วโมง

การที่พบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยในห้องฉุกเฉิน หากอาการเบื้องต้นไม่ได้เข้าข่ายฉุกเฉิน ก็อาจจะต้องรอนานหน่อย เพราะได้รับการประเมินแล้วว่ายังพอรอได้ เนื่องจากการทำงานในห้องฉุกเฉินจะทำงานกันตามความเร่งด่วน ซึ่งก็คือผู้ที่เสี่ยงจะเสียชีวิตหากไม่ทำการรักษาในเวลานั้น ไม่ใช่ตามลำดับเวลาก่อน-หลัง หรือจริง ๆ แล้วเจ้าหน้าที่อาจปฏิเสธการรักษาก็ย่อมได้ หากในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก

จรรยาบรรณของแพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยทุกคน แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีความเร่งด่วนในการช่วยชีวิตไม่เท่ากัน ในเมื่อแพทย์ไม่สามารถรักษาพร้อมกันได้ แพทย์ต้องรักษาผู้ที่อยู่ในภาวะอันตรายที่สุดก่อน เพราะห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริง ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำงานอย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อดึงชีวิตผู้ป่วยให้พ้นจากความตาย ซึ่งหากในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไป (ที่แล้วเข้าใจไปเองว่าฉุกเฉิน) นอกจากจะแออัดแล้ว เรื่องของเวลา แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ หรือยา ก็จะถูกดึงมาใช้กับผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ

6 อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ

ผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่คัดกรองให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับที่ 1 (ผู้ป่วยสีแดง) จะถูกจัดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่จะต้องได้รับการรักษาทันที ซึ่งเกณฑ์ในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้ คือผู้ป่วยที่มี 6 กลุ่มอาการ ดังนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  6. มีอาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

รู้จักบุคลากรในห้องฉุกเฉิน

การแพทย์ฉุกเฉิน จะอาศัยการทำงานกันเป็นทีม ตั้งแต่การรับเรื่องจากสายด่วน 1669 หรือการโทรสายตรงเข้ามายังโรงพยาบาล การทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องนี้ต้องทำงานร่วมกัน ประสานงานกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหลัก ๆ มีดังนี้

  • แพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ที่เป็นผู้ประเมินและปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน จากการเจ็บป่วยเฉียบพลัน อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจากบาดแผล
  • ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยหนักที่ได้รับบาดเจ็บที่คุกคามถึงชีวิต และต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน
  • นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ที่เก็บและทดสอบตัวอย่างของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด ปัสสาวะ การรายงานผลของตัวอย่างที่เก็บตรวจอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญต่อการรักษามากเช่นกัน
  • พยาบาลผู้ป่วยนอก พยาบาลที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยตามสภาพ ซักประวัติ และทำทะเบียนการรักษา
  • พยาบาล ปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์
  • นักรังสีวิทยา วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ได้รับใบอนุญาตให้ใช้รังสีเอกซ์อัลตราซาวนด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจแมมโมแกรม และการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก เพื่อประเมินผู้ป่วย
  • พนักงานห้องฉุกเฉิน การลำเลียงผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วย จำเป็นต้องมีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แคล่วคล่องว่องไว จนกว่าผู้ป่วยจะถึงมือแพทย์

เจ็บป่วยฉุกเฉิน (เท่านั้น) ถึงจะโทร 1669

หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินดังที่แจกแจงรายละเอียดไว้แล้วข้างต้น และไม่สามารถที่จะไป (หรือนำผู้ป่วยไป) พบแพทย์ได้ด้วยตนเอง สามารถใช้บริการเรียกรถฉุกเฉิน ที่สายด่วน 1669 ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรรู้ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นสายด่วนที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โดยสายด่วน 1669 เป็นสายด่วนฉุกเฉินที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งได้ทันที

หลักการทำงานของสายด่วน 1669 เมื่อประชาชนโทรเข้ามา เจ้าหน้าที่จะซักประวัติ เพื่อประเมินอาการว่าเข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ ก่อนส่งทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ เมื่อถูกประเมินแล้วว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ขั้นต่อไปก็จะส่งทีมไปรับผู้ป่วย และส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพราะหากส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์ช้าก็อาจนำไปสู่ความสูญเสีย เมื่อส่งผู้ป่วยฉุกเฉินถึงโรงพยาบาลแล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่จะทำการรักษาให้ผู้ป่วยพ้นวิกฤติ แล้วอาจพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิหรือมีประวัติในการรักษาต่อไป

ดังนั้น ต้องเข้าใจว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่สายด่วน 1669 จำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อประเมินอาการผู้ป่วยตามความเหมาะสม เพราะในบางกรณีไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจริง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะให้คำแนะนำอื่น ๆ หรือแนะนำวิธีการรักษาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องจำไว้ว่า สายด่วน 1669 คือสายด่วนแห่งชีวิต ผู้โทรแจ้งต้องมีเหตุฉุกเฉินจริง ๆ ห้ามโทรเล่น เพราะอาจเป็นการฆ่าผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นทางอ้อม

ข้อมูลจาก Bangkok EMSHospital Jobs Online