ฤดูฝนที่ฝนตกติดต่อกันทั้งเช้า-เย็นทุกวัน ในขณะเดียวกันฤดูหนาวก็กำลังเตรียมมาเยือนในอีกไม่กี่สัปดาห์ จะเห็นว่ามีโรคภัยไข้เจ็บระบาดอยู่ด้วยกันหลายโรค หนึ่งในนั้นคือ “โรคไข้หวัดใหญ่” ที่ค่อนข้างระบาดชุมในช่วงนี้ แต่จริง ๆ แล้วโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี แถมยังติดต่อได้กับทุกเพศทุกวัย โดยไม่จำกัดแค่ในเด็กเล็กหรือคนที่มีสุขภาพอ่อนแอเท่านั้น ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีก็สามารถติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้คนรอบข้างได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้ก็คือ สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากถึง 216,600 คนแล้ว
ทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสก่อโรค อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C โดยสายพันธุ์ A และ B เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน อาการติดเชื้อมักเริ่มขึ้นในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน (จมูกและคอ) และอาจแพร่กระจายไปยังปอดและหลอดลมได้
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอดีต พบว่าไวรัสสายพันธุ์ A พบได้บ่อย เราจะคุ้นเคยกันในชื่อ A/H1N1 และ A/H3N2 จนหลายปีที่ผ่านมา พบว่าการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ Victoria และ Yamagata ส่วนสายพันธุ์ C ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่เกิดการระบาด อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อยที่พบการระบาดร่วมกันอย่าง H1N1, H3N2, Victoria และ Yamagata ส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้พอ ๆ กัน
การติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่ และชวนสังเกตอาการ
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ทางการหายใจ ซึ่งเราจะได้รับเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเมื่อมีผู้ไอหรือจาม นอกจากนี้ การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด เช่น โรงเรียน หรือโรงงาน และสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสฝอยละอองในอากาศ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ของผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการใช้มือสัมผัสไปที่พื้นผิวที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ แล้วนำมาสัมผัสที่จมูกและปาก การป้องกันไข้หวัดใหญ่แบบง่าย ๆ จึงป้องกันได้ด้วยวิธีเดียวกันกับการป้องกัน COVID-19
ขณะที่ระยะการฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อไปได้อีก 3-5 วัน ส่วนการแพร่เชื้อในเด็กสามารถแพร่เชื้อได้ยาวนานถึง 7 วันเลยทีเดียว
ส่วนอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ หากสงสัยว่าอาจป่วยเป็นไข้หวัด ให้ลองสังเกตอาการตามนี้
- มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ปวดหัว
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ไอแห้ง เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก
- อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
การป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสี่ยงต่ออาการโรคประจำตัวกำเริบ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ บางคนอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ รวมถึงหูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเป็นอย่างมาก ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ยากและมีอาการรุนแรงคือ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเป็นโรคปอดหรือถุงลมโป่งพองจะยิ่งทำให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น หรืออาจมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทจนถึงขั้นเสียขีวิตได้
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ถึงปีละ 250,000-500,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีประมาณ 50,000 คน ในปีที่มีการระบาดมากจะพบได้ถึง 70,000 คน ส่วนในปี 2566 นี้ สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 23 ก.ย. 2566 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 216,600 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน
ส่วนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วจะหายเอง ซึ่งหากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ๆ และนอนพักมาก ๆ ยังไม่ควรออกกำลังกาย แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จำเป็นต้องฉีดหรือไม่
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นทางเลือกเพื่อการปกป้องและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย หากฉีดไว้ก็จะช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันโรคได้ดีขึ้น โดยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ไม่สามารถทำให้ก่อเกิดโรคได้ นำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการเสริมภูมิคุ้มกันโรค ช่วยป้องกันการเกิดโรคไข้ใหญ่ และลดความรุนแรงของโรคเมื่อเจ็บป่วย
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี โดยมีคำแนะนำให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง ในผู้ที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของสายพันธุ์ไวรัสที่บรรจุในวัคซีนให้เป็นไปตามการคาดการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัสที่มีแนวโน้มระบาดในแต่ละช่วงปีนั้น ๆ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จะเป็นผู้แนะนำ
ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มี 2 ชนิด ได้แก่
1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ตระกูล H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata หรือ Victoria
2. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ตระกูล H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata และ Victoria
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั้ง 4 สายพันธุ์
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์นั้น จะป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มากกว่า อย่างไรก็ดี มีคนบางกลุ่มที่ควรฉีดป้องกันให้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีอาการแทรกซ้อนหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายมากขึ้น และสามารถนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตได้
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด
- หญิงมีครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือน ขึ้นไป
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อ HIV
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม
- ผู้ที่วางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะใน ยุโรป อเมริกา
- ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะต้องเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ที่จะไปพิธีแสวงบุญ ผู้จะไปชมกีฬา ไปเที่ยวงานเทศกาลต่าง ๆ