ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า


แม้จะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักของความพิการทางระบบประสาทในระยะยาว มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถฟื้นคืนสมรรถภาพให้กลับมาสมบูรณ์ได้ แต่หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับนักกายภาพบำบัด ฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จะทำให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เองอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

กภ.ภาพวิจิตร เสียงเสนาะ นักกายภาพประจำคลินิก TMS-TST สาขากายภาพบำบัดระบบประสาท งานกายภาพบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองที่มาติดต่อขอเข้ารับบริการที่คลินิก TMS-TST ส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการอ่อนแรงครึ่งซีก อยากพัฒนาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ทั้งทางด้านแขนและมือ หรือการเดิน เป็นต้น

การบำบัดด้วยวิธีการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS – Transcranial Magnetic Stimulation) ร่วมกับการฝึกกายภาพบำบัดแบบเฉพาะเจาะจง (TST – Task Specific Training) ริเริ่มประยุกต์โดยคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย

จากการศึกษาและผลการรักษา พบว่าการรักษาด้วยการใช้ TMS ร่วมกับการฝึก TST พบว่าสมองทั้งสองซีกเกิดความสมดุล และพัฒนาความสามารถในการใช้งานและการเคลื่อนไหว ผลการรักษาคงค้างอยู่ได้นานต่อเนื่องถึง 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับการทำ TMS หรือ TST เพียงอย่างเดียว ที่พบผลคงค้างได้เพียง 2 ชั่วโมง

กภ.ภาพวิจิตร เสียงเสนาะ ได้เปิดเผยถึงการฝึกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลังการเข้ารับการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ว่าเป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างนักกายภาพบำบัดและผู้ป่วย ในการฝึกกิจกรรมที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา และแก้ปัญหานั้นร่วมกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่เสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดแรงใจพร้อมที่จะฝึกเพิ่มเติมให้ได้มากยิ่งขึ้นต่อไป หรือสามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน หรือเข้าสังคมได้เหมือน หรือใกล้เคียงปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


ในส่วนของการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มั่นใจได้ถึงขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นระบบคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ภายหลังจากการซักประวัติ ต้องเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน สัญญาณชีพคงที่ หรือควบคุมได้ และไม่เคยมีประวัติชัก หรือไม่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือใส่โลหะ หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่สมอง

โดยการกระตุ้นสมองที่ไม่สอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ไม่เกิดการเจ็บปวด เพียงแค่วางหัวกระตุ้นเบา ๆ ไว้ที่ศีรษะในบริเวณที่ต้องการกระตุ้น ใช้เวลากระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประมาณ 20 นาที และฝึกทางกายภาพบำบัดแบบเฉพาะเจาะจงต่อเนื่องอีก 90 นาที โดยแนะนำให้ทำต่อเนื่อง 3-5 ครั้งเพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลง และเห็นผลถึงการพัฒนาศักยภาพของการเคลื่อนไหวของตนเอง

การบำบัดด้วยวิธีการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS – Transcranial Magnetic Stimulation) ร่วมกับการฝึกกายภาพบำบัดแบบเฉพาะเจาะจง (TST – Task Specific Training) เป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เรามีความตั้งใจพัฒนาศักยภาพบุคลากร และนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]