คุยกับ “คุณไข่-รักษิต” แฟนตัวยง “อนิเมะจิบลิ” ผู้ยกสตูดิโอจิบลิมาเมืองไทย

เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับงาน THE WORLD OF STUDIO GHIBLI’S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 นิทรรศการแอนิเมชันจิบลิที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งตรงจากสตูดิโอจิบลิ (STUDIO GHIBLI) ประเทศญี่ปุ่น มาตั้งไว้ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ให้แฟน ๆ การ์ตูนแอนิเมชันของจิบลิได้มีโอกาสชื่นชมและเก็บภาพประทับใจกันอย่างเต็มอิ่ม ด้วยการเนรมิตพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ของเซ็นทรัลเวิลด์ ไลฟ์ ให้เป็นพื้นที่สำหรับซีนเด็ดจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดังของสตูดิโอจิบลิรวบ 10 เรื่อง ซึ่งอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ มาจัดแสดง

งาน THE WORLD OF STUDIO GHIBLI’S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 มีพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายในงานได้รับเกียรติจาก Mr. Shinsuke Nonaka, Vice President, Business & Legal Affairs แห่ง Studio Ghibli กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิด และเข้าชมนิทรรศการรอบ Soft Opening พร้อมด้วยแขกรับเชิญสุดพิเศษ “โทโทโร่” และ “คาโอนาชิ” ที่บินตรงจากญี่ปุ่นมาเซอร์ไพรส์สาวกจิบลิชาวไทย ซึ่งนิทรรศการจิบลินี้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม ไปจนถึงวันเสาร์ที่ 30 กันยายน ณ เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หากใครไม่มีบัตรเข้าชมที่ซื้อในรอบทั่วไป สามารถซื้อบัตรเข้าชมที่จำหน่ายหน้างาน ในราคา 650 บาท

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Tonkit360 ที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมชมนิทรรศการในรอบ Soft Opening ของวันที่ 30 มิถุนายน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณไข่ รักษิต รักการดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือก็คือบุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญในการยกสตูดิโอจิบลิมาไว้ที่เมืองไทยในเวลานี้นั่นเอง เนื่องจากตัวคุณไข่เองก็เรียกตัวเองว่าเป็นสาวกการ์ตูนแอนิเมชันของจิบลิเช่นเดียวกัน โดยทีมงาน Tonkit360 ได้พูดคุยกับ “คุณไข่” เกี่ยวกับการจัดนิทรรศการในครั้งนี้

ทำไมถึงนำนิทรรศการนี้มาจัดที่ประเทศไทย

ต้องเกริ่นถึงนโยบายของทาง Live Nation Tero ก่อนครับ Live Nation Tero เป็นบริษัทที่จัดการเกี่ยวกับงานเอนเทอร์เทนเมนต์ เรามีทำคอนเสิร์ต ทั้งคอนเสิร์ตเกาหลี คอนเสิร์ตฝรั่ง แล้วก็จะมีพวก family show อย่าง “Disney on Ice” ทำ musical แล้วเราก็ทำ exhibition ด้วย ที่ผ่านมา เราก็ทำตั้งแต่งาน “100 ปี ไททานิค นิทรรศการแห่งประวัติศาสตร์โลก” งาน “นาซ่า เอ ฮิวแมน แอดเวนเจอร์” งาน “นินจา เมซ เดอะ บิ๊ก แอดเวนเจอร์”

ส่วนงานนี้ THE WORLD OF STUDIO GHIBLI’S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 เราก็คิดว่าเป็นงานที่ดี เลยพยายามติดต่อแล้วก็นำมาจัด เพราะเราเชื่อว่าตลาดของนิทรรศการในเมืองไทยเนี่ยโตขึ้นจากเมื่อก่อน จึงเป็นการดีที่เราจะนำนิทรรศการนี้มาให้คนไทยได้ดู มากกว่าที่เขาจะต้องเดินทางไปถึงต่างประเทศเพื่อที่จะดูนิทรรศการนี้ นี่คือวัตถุประสงค์หลัก ๆ ของเรา ที่เราอยากจะให้คนไทยได้เข้าถึงงานคุณภาพดี ๆ เหมือนกับที่คนสิงคโปร์เขาได้ คนญี่ปุ่นเขาได้ คนเกาหลีเขาได้ คนไต้หวันเขาได้ อะไรอย่างนี้ครับ คือเป็นการยกระดับคุณภาพชมงานนิทรรศการ การได้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนต่างชาติ ในการเข้าถึงงานศิลปะดี ๆ ครับ

เสน่ห์และความน่าสนใจของผลงานจากสตูดิโอจิบลิคืออะไร

จิบลิเนี่ย ต้องบอกว่าตัวรากของเขาคือแอนิเมชัน ตัวแอนิเมชันของเขาเป็นอะไรที่อย่างแรกเลยคือ สวย เป็นแนวลายเส้นที่เขียนมือ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เขียน อย่างที่สองคือ สนุก เนื้อเรื่องแบบเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี แล้วก็อีกอย่างคือความหมายเชิงลึกของแอนิเมชันของเขา แอนิเมชันทุกเรื่องของจิบลิจะมีความหมายเชิงลึกที่เด็กดูก็ตีความอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ดูอาจตีความอีกอย่างหนึ่ง แล้วทีนี้การตีความของแต่ละคนเนี่ยก็จะแตกต่างกัน ผมเคยเห็นใน Reddit แล้วก็ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จะมีการพูดถึงการตีความในแง่มุมต่าง ๆ ของแอนิเมชันสตูดิโอจิบลิ ก็มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

อย่างเช่นเรื่อง Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) ที่น้องเขาได้เดินทางเข้าไปในโลกของวิญญาณ จากนั้นพ่อแม่กลายเป็นหมู ทิ้งให้เขาต้องผจญภัยเอาตัวรอดออกมาให้ได้ เด็ก ๆ ดูก็อาจจะสนุก แบบว่าได้ไปเที่ยวต่างแดนด้วยอะไรแบบนี้ แต่มุมของผู้ใหญ่เขาจะตีความว่า เป็น coming of age ก็คือเด็กที่ต้องโตเป็นวัยรุ่น แล้วก็ต้องออกห่างจากการปกป้องของพ่อแม่ ต้องผจญภัยเอาตัวรอด เจอทั้งเรื่องดีเรื่องไม่ดี แล้วก็ต้องมีจุดยืนของตัวเองให้ได้ ในการที่จะต้องเดินทางกลับมาหาครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง

อีกอย่าง ตัวผลงานของจิบลิเองเนี่ยล้นไปด้วยคุณภาพอยู่แล้ว แม้แต่ตัวพิกซาร์ของอเมริกา จิบลิก็เป็นระดับเดียวกันกับพิกซาร์ ที่ออฟฟิศสตูดิโอจิบลิ จะมีรูปตัวการ์ตูนของพิกซาร์และจิบลิอยู่คู่กัน ทำให้เราเห็นว่าตัวงานจิบลิเป็นของที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่น คนทั่วโลกก็ยอมรับว่าแอนิเมชันของจิบลิเป็นงานที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม

นิทรรศการที่จัดขึ้นที่ไทย แตกต่างกับพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นอย่างไร

ต้องบอกว่าจิบลิมีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายซีรีส์ พิพิธภัณฑ์จิบลิที่ชิบะ ตรงใกล้ ๆ โตเกียวเป็นที่แรก อันนั้นจะเป็นเหมือนกับการเล่าเรื่องว่าเขาสร้างแอนิเมชันยังไง พาไปชมห้องทำงานของอาจารย์มิยาซากิ พาไปดูผังความคิดเบื้องต้นในการทำแอนิเมชัน การคิดตัวคาแรกเตอร์ อันนั้นจะเล่าเรื่องของการผลิต ส่วนจิบลิพาร์กเนี่ย จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นการเดินกับธรรมชาติ แล้วก็ครีเอตโลกของจิบลิที่เป็นมุมมองของธรรมชาติ เป็นสวน แล้วก็จะมีพวกนิทรรศการจิบลิ ที่ญี่ปุ่นมีทุกปีนะครับ เป็นนิทรรศการสักประมาณ 1,000 ตารางเมตร ผมเคยไปดู 3-4 ครั้ง ก็จะมีของจัดแสดงแตกต่างกันไป และเน้นแค่บางเรื่อง

บางนิทรรศการก็เน้นเรื่อง Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) บางทีก็เน้นเรื่อง Castle in the Sky (ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา) บางทีก็เน้นเรื่อง My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) แต่ละครั้งมันจะเล่าเรื่องแตกต่างกัน ฉะนั้น ของที่ใช้ก็แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ก็จะมีตัวนิทรรศการสัญจร คือที่เรานำเข้ามา จากตอนก่อนโควิด-19 จะระบาด นิทรรศการจิบลิเคยจัดที่ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย แล้วก็ที่เซี่ยงไฮ้ แต่เป็นไซซ์ที่ไม่ได้ใหญ่เท่านี้ครับ แล้วก็หลังจากจบการแพร่ระบาดโควิด-19 เราเป็นที่แรกที่ได้กลับมาจัด ก็มีการ re-design หลายอย่าง เพิ่มตัวจัดแสดงเข้าไปหลายอย่าง เพราะฉะนั้น การกลับมาครั้งนี้ของจิบลิคือมาเต็มรูปแบบ มีการเก็บรายละเอียดมากขึ้น มีการเพิ่มโซน มีการขยายพื้นที่จากเดิมเป็น 2,000-3,000 ตารางเมตร

ทำไมแฟน ๆ ชาวไทยถึงต้องเข้ามาชมนิทรรศการนี้ให้ได้

ถ้าถามว่าทำไมแฟน ๆ ต้องมาดูนิทรรศการในครั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่ได้มาดูในครั้งนี้ที่นี่นะครับ ก็ต้องบินไปดูที่ญี่ปุ่นเลย แล้วถ้าบินไปดูที่ญี่ปุ่นก็อาจจะเจองานคนละรูปแบบ ถ้าจะให้เทียบง่าย ๆ ก็สมมติว่าผมเอาหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านที่เมืองไทย ถ้าไปที่อื่นก็คนละเล่มแล้ว ไม่เหมือนกัน แล้วผมก็มองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่มันสะดวก คือราคาบัตรก็ถูก ราคาบัตรวันเปิดก็คือ 650 บาท ถ้าดูที่อื่นจะราคาพันกว่าบาท ถ้าเทียบกับสิ่งเดียวกันเนี่ย ระดับนี้เราขายราคาถูกที่สุดแล้ว เทียบกับนิทรรศการที่อื่นก็ได้ หรือเทียบกับเวลาเราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็จะเป็นราคาประมาณนี้ แล้วก็ถ้าพลาด ถ้าไม่มา อาจจะต้องรออีกหลายปีกว่าจะกลับมาอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้ว่ากลับมาจะเป็นคอนเทนต์แบบไหน

อย่างที่เล่าเมื่อครู่นี้ ว่าการจัดของจิบลิแต่ละครั้งเนี่ย เขามีทีม creative 1 ทีม มีทีม desing 1 ทีม ทีม technical อีก 1 ทีม ทีมสร้าง 1 ทีม คือทีมสร้างญี่ปุ่นเขาทำงานแบบ 3-4 ทีมอยู่ด้วยกัน แล้วเวลาที่เขาคิด เขาจะไม่คิดเหมือนเดิม อันไหนที่ทำแล้ว เขาไม่ทำ เขาจะทำใหม่ เพราะฉะนั้น ถ้าพลาดครั้งนี้เนี่ย ต่อให้ครั้งหน้ามาหรือมีที่อื่นใกล้เคียงมันก็จะไม่เหมือนกับอันนี้ครับ ซึ่งก็ต้องบอกว่าถ้าสะดวก หรือเป็นแฟน ๆ ก็อยากจะให้มา

ในฐานะผู้จัดงาน อยากใช้นิทรรศการนี้สื่อสารอะไรกับผู้ชม

สิ่งที่อยากสื่อสาร หนึ่ง คืออยากให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสงานของจิบลิสตูดิโอ ถ้าเขาเป็นแฟน แล้วจะเข้ามาเดินชมนิทรรศการเนี่ย มันจะเหมือนเขาได้เข้าไปอยู่ในโลกของจิบลิ เขาก็น่าจะมีความสุข น่าจะมีความประทับใจนะครับ แต่ถ้าใครไม่ใช่แฟน ๆ ของจิบลิ พอได้มาดูก็อาจจะกลับไปดูภาพยนตร์ก็ได้ อย่างแรก ผมเองอยากจะให้คนที่เข้ามาชมงานรู้สึกประทับใจและได้ความทรงจำที่ดีกลับไปครับ แล้วก็หวังว่าเขาจะชื่นชอบการเข้าชมนิทรรศการมากขึ้น มีประสบการณ์ที่ดีกับนิทรรศการ ส่วนอย่างที่สอง คืออยากให้เขาได้มีโอกาสที่จะกลับไปดูภาพยนตร์ของจิบลิมากขึ้น

นิทรรศการนี้มีอะไรที่น่าชมบ้าง และไฮไลต์ที่สำคัญคืออะไร

มันดีทุกโซนเลยครับ มันไม่มีโซนไหนไม่ดีเลย เลยไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์สองได้ แต่จะบอกว่ามันมีอะไรที่อยากให้ผู้ชมคอยสังเกตเซอร์ไพรส์ในงาน มันจะมีความเป็นไทยซ่อนอยู่เล็ก ๆ ในหลาย ๆ จุด ก็อยากให้ลองสังเกตดูว่าทีมงานแอบซ่อนอะไรไว้บ้าง ซึ่งเรื่องแอบซ่อนเนี่ยทางญี่ปุ่นเป็นคนเสนอนะครับ แบบว่าเขามาเมืองไทยก็อยากจะใส่ความเป็นไทยลงไปด้วย ก็อยากให้ลองค้นหาดูครับ

คาดหวังผลลัพธ์อะไรในการจัดนิทรรศการครั้งนี้

เราก็คาดหวังว่าแฟน ๆ จะประทับใจ มีความสุข และกลับมาชมอีกครับ เพราะว่าเราคิดว่าเราทำงานมาตลอดปีกว่า ๆ เราประชุม เราทั้งผลัก ทั้งดัน ทั้งพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดงานนี้ขึ้นมาได้ เราทำงานอย่างหนักหน่วงมาตลอดปี ก็หวังว่าแฟน ๆ ที่มาดูแล้วเขาจะมีความสุขและกลับมาดู ที่คาดหวังก็อยากจะให้มันเต็มทุกวัน อยากจะให้มันคึกคักน่ะครับ เราก็มีเกณฑ์มาตรฐานของที่ไต้หวันทำสถิติไว้เป็นล้านคน แต่ช่วงเวลาจัดงานของเขายาวนานกว่า เขาจัด 7-8 เดือนครับ เราก็คิดว่าเราก็อยากได้สถิติที่ดีเหมือนกัน เพราะประเทศไทยก็ใหญ่กว่าไต้หวัน นักท่องเที่ยวเยอะกว่า ก็เลยคิดว่าเราก็น่าจะทำได้นะ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สตูดิโอจิบลิมาไทย แล้วครั้งนี้จะแตกต่างกับครั้งที่แล้วอย่างไร

ครั้งที่แล้วเป็น UNIQLO (ยูนิโคล่) นำเข้ามาครับ ซึ่ง UNIQLO เป็น product partner กับจิบลิ หลัก ๆ ของ UNIQLO คือทำเสื้อเวอร์ชันจิบลิขายทั่วโลก เพราะฉะนั้น การจัดนิทรรศการในตอนนั้นเนี่ยมันเป็นตัวโปรโมชัน ก็เหมือนกับว่าเขาไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ก็จะมีจุดถ่ายรูปอยู่ประมาณ 2 จุด จะเป็น cat bus จุดหนึ่ง แล้วก็จุดถ่ายรูป Totoro และผองเพื่อนอีกจุด งานจะเล็ก ๆ ไม่ได้มีอะไรใหญ่โต เข้าชมฟรี เข้าไป 10 นาทีก็เสร็จแล้ว ไม่ได้มีรายละเอียดอะไร แต่ก็เราจะเจอโปรโมชันในการส่งเสริมการขายร่วมกันของสตูดิโอจิบลิกับยูนิโคล่

ผมมองว่าหลัก ๆ ที่ทำให้ผมมั่นใจที่จะเอานิทรรศการนี้เข้ามา เพราะผมไปดูที่ยูนิโคล่มา ผมเห็นผู้ชมต่อแถวยาวเพื่อเข้าชม ซึ่งตัวงานที่จัดแสดงตอนนั้นมันมีแค่ 3-4 ส่วน มันไม่ได้เยอะมาก แต่คนยังอยากเข้าไปสัมผัสเลย แล้วทีนี้ของเรามาแบบ full-scale 3,000 ตารางเมตร มีทั้งส่วน indoor และ outdoor ซึ่งส่วน outdoor ข้างล่างจะมีตัว Ponyo ยืนอยู่ข้างหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีร้านขายของเต็มรูปแบบของฮิตจากญี่ปุ่น ดังนั้น เราจึงมองว่ายูนิโคล่เป็น ถนนในการเปิดโอกาสให้เราได้ทำนิทรรศการนี้ด้วยซ้ำไป อย่างที่บอกครับ เราไม่ได้มองว่ายูนิโคล่เป็นคู่แข่งอะไร แต่ยูนิโคล่เป็นใบเบิกทางให้เราในการตัดสินใจที่จะนำตัวนิทรรศการนี้เข้ามาในเมืองไทย

ชอบหรือประทับใจผลงานใดของจิบลิมากที่สุด

โห! ชอบหลายเรื่องเลยครับ เพราะเป็นแฟน ชอบ Totoro นะครับ น่ารัก แล้วก็เรื่องราวก็ลึกซึ้ง ในแง่ของมุมมองของเด็กกับของผู้ใหญ่ ชอบ Spirited Away ในเรื่องของการเล่าเรื่อง การที่สามารถตีความได้หลากหลาย ชอบ Ponyo เพราะเป็นการ์ตูนที่หักเรื่องราวการเล่าเรื่องไปมา ถ้าเกิดใครดูเรื่องนี้อาจจะงงว่าทำไมจากปลากลายเป็นเด็กผู้หญิง แล้วกลับไปเป็นปลา มุมมองการเล่าเรื่องของ Ponyo เนี่ยสดใสตลอด ทั้ง ๆ ที่มีอุทกภัย มีคนเดือดร้อน แต่ก็ยังเล่าเรื่องว่าเด็กก็ยังพายเรือเล่นสนุกสนาน การตีความของเรื่อง My Neighbors the Yamadas (ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา) ก็ชอบ ชอบหลายเรื่องเลยครับ

แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิจะโดดเด่นในเรื่องของการสอดแทรกข้อคิด ปรัชญาชีวิต ความลึกซึ้งของสัญญะต่าง ๆ ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นบริบทของญี่ปุ่น คนไทยจะสามารถ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าคนไทยเนี่ยแทบจะเป็นสัญชาติญี่ปุ่นกันหมดแล้วครับ เพราะเด็กไทยแทบทุกคนโตมากับมังงะ โตมากับดราก้อนบอล โดราเอมอน โคนัน เด็กสมัยนี้ก็ดาบพิฆาตอสูร คนไทยบางคนกินอาหารญี่ปุ่นบ่อยกว่าอาหารไทยด้วยซ้ำไป ร้านซูชิ ร้านราเมนมีเยอะพอ ๆ กับร้านอาหารไทย คือวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมันแทบจะกลืนไปกับไทยแล้ว ส่วนคนญี่ปุ่นก็ชอบมะม่วง ชอบส้มตำ ชอบต้มยำ ชอบวัฒนธรรมของไทยเหมือนกัน ตัววัฒนธรรมที่มันผสานเข้ากันมาก ๆ เนี่ย ทำให้ผมคิดว่าคนไทยแทบจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการดูดซับวัฒนธรรมหรือการคิดของญี่ปุ่นเลย เรามีการแลกเปลี่ยนกันจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้วครับ

ดังนั้น เรื่องของการตีความเลยไม่คิดว่ามันจะยากมากขนาดนั้น อะไรหลาย ๆ อย่างอาจจะไม่เหมือนกันก็จริง แต่เราก็รู้ว่ามันคืออะไร เรายังคงเข้าใจความหมายได้อยู่ แต่ว่าเรื่องที่แต่ละคนตีความไม่เหมือนกัน นี่คือความงามของมันนะครับ ผมอาจจะมองแบบนี้ คนอื่นอาจจะมองอีกแบบ แต่ว่าไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก เพราะมันคือการตีความจากสิ่งที่ฉันได้รับ มันก็เหมือนกับเรากินอาหารจานเด็ด ที่เราก็อาจจะอร่อยคนละแบบก็ได้ครับ