เมื่อพูดถึง “ตุ๊กตา” ภาพจำแรกของคนแทบจะทุกคนเลยล่ะที่จะนึกถึง “ของเล่นเด็กชนิดหนึ่ง” ที่มักจะทำออกมาเลียนแบบรูปคนหรือสัตว์น่ารัก ๆ แต่เมื่อพยายามลงรายละเอียดเกี่ยวกับตุ๊กตาให้ลึกลงไป คนจำนวนหนึ่งไม่เล่นตุ๊กตา คนจำนวนไม่น้อยบอกว่าตัวเองเลิกเล่นตุ๊กตาแล้วเพราะโตเป็นผู้ใหญ่ คนบางคนยังชอบตุ๊กตามากจนถึงขั้นที่เก็บสะสมเป็น collection ส่วนตัว บ้างก็สะสมตุ๊กตาธรรมดา บ้างสะสมตุ๊กตาลิขสิทธิ์ บ้างก็สะสมตุ๊กตาราคาแพง ซึ่งการได้มองตุ๊กตานับร้อยนับพันในตู้โดยไม่แตะต้องเป็นความรู้สึกที่มีความสุขมาก ก็ไม่ว่ากัน ความชอบของใครของมัน
แต่สำหรับใครอีกหลาย ๆ คน ตุ๊กตามีความหมายมากกว่านั้น มันเป็นความรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้กอดก่อนนอน มันมีความทรงจำหลาย ๆ อย่างที่ถูกผูกติดกับตัวตุ๊กตา มันเป็นของที่มีเพียงแค่ชิ้นเดียวในโลก เพราะคนที่รักให้มา หรือคนที่ให้มาอาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ฉะนั้น ต่อให้ไปหาซื้อตัวใหม่ที่เหมือนกันเป๊ะมา แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี หรือมันเป็นของรักของหวงที่มีคุณค่าทางจิตใจ หาซื้อที่ไหนก็ไม่มีอีกแล้ว ดังนั้น ต่อให้สภาพพังยับเยินแบบที่ใครต่อใครก็เรียกว่า “ตุ๊กตาเน่า” ก็ไม่คิดที่จะโยนทิ้ง ต่อให้เหลือแค่เศษผ้าเปื่อย ๆ ก็ตัดใจทิ้งไม่ได้จริง ๆ และสิ่งที่คนเหล่านี้จะพยายามทำในขั้นต่อไปก็คือ การหาใครสักคนมาชุบชีวิตเศษผ้าเน่า ๆ นี้ให้กลับสู่อ้อมกอดอีกครั้ง ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงแค่ไหนก็ตาม
เชื่อว่าเจ้าของตุ๊กตาเน่าหลาย ๆ คน ในใจคงทราบดีหลังจากประเมินสภาพตุ๊กตาของตัวเองว่าจริง ๆ มันควรทิ้ง และไม่ค่อยคุ้มที่จะส่งซ่อม รวมถึงมีความสิ้นหวังกลาย ๆ ว่ามันคงไม่มีใครที่จะกู้ชีพตุ๊กตาแสนรักให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่อีกครั้ง แต่เพราะไม่สามารถทิ้งได้ลง จึงขอมีคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันยังซ่อมได้ และตามหาช่างซ่อมตุ๊กตาด้วยความหวัง ต่อให้ค่าซ่อมแพงแค่ไหนก็ยินดีจ่าย เพราะมันคือของรักของหวงที่ไม่อาจตัดใจทิ้งได้
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาร้านที่รับซ่อมตุ๊กตาน้องเน่าสภาพเปื่อยยุ่ยแทบจะสลายคามือ หรือเคยมีแผนที่อยากจะซ่อมตุ๊กตาเก่า ๆ ของตัวเองแต่ทำเองไม่เป็น แล้วบังเอิญได้มาอ่านบทสัมภาษณ์คนต้นคิดในวันนี้แล้วล่ะก็ บอกเลยว่าคุณมีความหวังแล้ว สำหรับร้าน Anothai Art&Craft เป็นร้านรับซ่อมตุ๊กตาที่ไม่ใช่แค่ซ่อมแบบพอให้ตุ๊กตายังใช้ได้แบบที่คุณแม่ คุณย่า คุณยายซ่อมให้บุตรหลาน แต่เป็นการชุบชีวิตตุ๊กตาให้กลับมาเป็นตัวใหม่จากเศษเปื่อยเดิม ๆ ไม่ว่าจะสภาพหนักเกินเยียวยาแค่ไหน “พี่จิ๊บ อโณทัย สุขประเสริฐ” ก็รับซ่อมให้
มีคำหนึ่งที่พี่จิ๊บบอกมา ซึ่งสร้างความประทับใจและทำให้เราได้ทราบว่าเธอจริงใจต่อการซ่อมตุ๊กตาเน่าทุกตัวของลูกค้าจริง ๆ “การที่ตุ๊กตามาในสภาพนั้น มันต้องเป็นของที่เขารักมากจริง ๆ นั่นแหละค่ะ ถ้างั้นเขาคงไม่กอดไม่หอมจนดำหรือเปื่อยยุ่ยขนาดนั้นหรอก ถ้าเขาไม่รักจริง ๆ หรือถ้าไม่ได้รู้สึกอะไร เขาก็คงจะวางมันไว้เฉย ๆ มากกว่า”
จุดเริ่มต้นของการรับซ่อมตุ๊กตา ชุบชีวิต “น้องเน่า” ของใครสักคนขึ้นมา
มันค่อย ๆ เป็นไปตามสถานการณ์มากกว่าค่ะ เริ่มแรกพี่ขายของอยู่ถนนคนเดิน แล้วพี่ก็ชอบ พี่ใฝ่ฝันว่าอยากจะมีร้านขายตุ๊กตาแฮนด์เมดเป็นของตัวเอง คือตุ๊กตาผ้าค่ะที่เป็นสไตล์ฝรั่งที่เขาเรียก country doll ผมยาว ผมทำมาจากไหมพรม ถักเปียบ้าง เป็นลอน ๆ ขด ๆ บ้าง แล้วก็แต่งตัว มีกระโปรง มีผ้ากันเปื้อน ตาก็จะใช้วิธีเพนต์เอา เป็นตากลม ๆ จมูกก็จะเป็นสามเหลี่ยม ก็คือเป็นตุ๊กตาที่แม่บ้านทำมาให้ลูกเล่นทั่วไป แล้วทีนี้พี่ไปเจอหนังสือญี่ปุ่น พี่ก็อยากจะทำอย่างนี้ขายบ้าง เลยทำเอาไปขายที่ถนนคนเดิน ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้วค่ะที่พี่ทำตุ๊กตาขายที่ถนนคนเดิน
ทีนี้มันก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พี่ได้ออเดอร์ เกี่ยวกับเสื้อผ้าตุ๊กตาค่ะ พอมันมีโอกาสพี่ก็เลยรับทำ ทีนี้พอเรามัวแต่ทำออเดอร์ชุดตุ๊กตา ของหน้าร้านเราก็ไม่มีขาย ตอนนั้นพี่ก็เลยต้องหยุดขายของที่ถนนคนเดิน เพราะเราไม่ได้ทำตุ๊กตาออกมาเลย เราเร่งทำแต่ชุดตุ๊กตาเพื่อส่งลูกค้า จำนวนมันเยอะมากแล้วพี่ทำคนเดียว พี่เลยต้องหยุดเรื่องการทำตุ๊กตาไปก่อน
ทีนี้พอเราหยุดทำตุ๊กตา แต่พี่ทำเพจควบคู่กับขายของถนนคนเดินไปด้วย พอหน้าเพจเราเงียบ เราไม่มีตุ๊กตาใหม่ ๆ ออกมา ไม่ได้อัปเดตว่าเราไปขายของที่ถนนคนเดิน พี่ก็มีความคิดว่าเราจะไปหาตุ๊กตาสไตล์ที่เราทำขายเนี่ยได้ที่ไหน ก็เลยลองดูในเฟซบุ๊กนี่แหละค่ะ เห็นเขาไลฟ์ขายตุ๊กตา แต่ว่ามันจะเป็นตุ๊กตาญี่ปุ่น ตุ๊กตาขน ตุ๊กตาอนิเมะอะไรพวกนี้ ที่เขาเอาเป็นงานกระสอบมาจากญี่ปุ่นหรือว่าอเมริกา ก็ดูไปเรื่อย ๆ จนเจอกลุ่มที่เขาไลฟ์ขายตุ๊กตาวินเทจ แต่ว่าในกองวินเทจมันก็จะมีพวกตุ๊กตาผ้า พวก country doll หรือว่าที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าแอนนาเบลล์อะค่ะ แล้วเขาขายถูกมาก ตัวละไม่กี่บาท เพราะมันเป็นงานกระสอบ งานโรงเกลือ
ตอนนั้นเข้าไลฟ์ขายร้อยกว่าบาท งานของอเมริกาเอามาขายร้อยกว่าบาท พวกมือหนึ่งใหม่ ๆ เขาขายกันเป็นพัน พี่เลยไปไล่เอฟในไลฟ์ของแม่ค้า แล้วก็เอามาไว้ก่อนเพื่อที่จะเอาไว้ขายในเพจของเรา ทีนี้พอพี่ได้มาปุ๊บ ของมันก็จะมีเปื้อนบ้าง เปื่อยบ้าง พังบ้าง เพราะว่ามันถูกอัดกันมาในกระสอบ พี่มามองดูแล้วถ้าเราขายทั้งอย่างนี้ มันก็ได้แค่ร้อยกว่าบาทเหมือนที่แม่ค้าเขาไลฟ์ขายนั่นแหละ พี่ก็เลยเอาจัดการทำความสะอาด ด้วยความที่เราทำตุ๊กตามาก่อน เราก็เลยกล้าที่จะรื้อเพื่อที่จะเอามาทำความสะอาด บางส่วนมันก็ลงน้ำปนกันไม่ได้เพราะว่าสีมันตก เราก็เลยเอามาแยกก่อน ทำกลับให้มันเหมือนของใหม่
แต่ตอนเราขายเราก็บอกว่าเป็นของมือสองนะ เราทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันก็จะแตกต่างจากงานที่แม่ค้าไลฟ์ขายตัวละร้อย พี่ขายตัวละห้าร้อยได้ ลูกค้าก็เริ่มเข้ามา พี่ทำความสะอาดเสร็จพี่ก็โพสต์ขาย ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มวินเทจเขาก็เริ่มเห็นแล้วว่าถ้าซื้อกับแม่ค้าคนนี้มันได้ของดี ทีนี้เราก็ไม่เอาในไลฟ์แล้ว แต่ไปเหมางานกระสอบมา กระสอบละ 3,000 บาท มีตุ๊กตาประมาณ 100 ตัว ตกตัวละ 30-40 บาทเอง ก็เลยสั่งเอาในไลน์ของแม่ค้าตลาดโรงเกลือนี่แหละค่ะ
พอได้มา พี่ก็มาทำอย่างนี้แหละค่ะ มันก็ได้ดีบ้าง ได้แบบที่เราต้องเอาทำใหม่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ก็มี พี่ก็จะใส่ขั้นตอนที่เราซ่อมไว้ แล้วเราก็เอามารีวิวในเพจของเราว่าตัวนี้สภาพมันแย่มากเลย แต่ว่าเราก็มีขั้นตอนในการซ่อมอย่างนี้ ๆ ซ่อมเสร็จพี่ก็เอาไปลงในเพจ เราก็โพสต์ขายตุ๊กตาไปด้วย ลูกค้าในกลุ่มเขาก็เข้ามา พวกนี้เขาเป็นกลุ่มที่สะสมตุ๊กตาวินเทจอยู่แล้ว บางคนมีเป็นสองพันสามพันตัว พอเขาเห็นเขาก็มาเป็นลูกค้าพี่ ซื้อตุ๊กตาพี่ด้วย แล้วเขาก็ถามว่าเขามีตุ๊กตาอยู่ เขาจะส่งมาให้พี่ทำความสะอาดให้เขาได้ไหม พี่ก็ให้เขาส่งมาเลย พี่จะคิดเป็นราคาทำความสะอาดให้ มันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้น ลูกค้าก็ส่งเข้ามากันเรื่อย ๆ พี่ทำเสร็จก็โพสต์ ทีนี้มันก็เกิดการแชร์ การบอกต่อไปเรื่อย ๆ
ก็มีลูกค้าคนหนึ่งเขาเอาตุ๊กตาเก่ามาก เป็นผ้าร่ม คือมันเสื่อมสภาพแล้วแหละ แล้วก็คุณย่าเขาก็เอาผ้ามาปะให้ไม่ให้ไส้ตุ๊กตาไหล ลูกค้าส่งรูปมาให้พี่ดู คือตอนนั้นมันก็มีความคิดว่าถ้าเราสามารถทำตุ๊กตาตัวนี้กลับมาให้เหมือนเดิมได้มันก็คงจะดี เราก็จะได้เอาไปลงเพจเรา มันก็จะได้เป็นผลงานอีกอย่างหนึ่งของเพจเราไปด้วย แต่ตอนนั้นพี่ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าเราจะซ่อมให้เขายังไง ก็ให้เขาส่งมา มันเหมือนกับว่าเราต้องช่วยลูกค้าแก้ปัญหา ก็ต้องหาวิธีซ่อมให้ลูกค้าให้ได้ ก็พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป
แต่ด้วยความที่มันเป็นผ้าร่มอะค่ะ เวลาที่มันเปื่อยมันเสื่อมสภาพแล้ว มันค่อนข้างที่จะซ่อมยาก เพราะมันเป็นผง จะมาเย็บให้มันประสานต่อกันมันค่อนข้างจะยาก พี่ก็เลยต้องหาวัสดุมาช่วยพยุง เพื่อให้ตัวผ้าเป็นแผ่นเดียวกัน ก็คิดตอนนั้นเลยแก้ปัญหาตอนนั้นเลย ก็ไปได้ผ้ากาวมา แต่มันก็เป็นผ้ากาวที่ใช้ทำเสื้อผ้า เนื้อผ้ามันก็ยังแข็งกระด้างอยู่ค่ะยังไม่นิ่ม เราก็ใช้ผ้าตัวนี้ซ่อมให้ลูกค้าไปก่อน แล้วก็ทำสีให้ด้วย เพราะว่าสีของผ้าซีดมาก เสร็จสุดท้ายก็คือน้องก็กลับมาได้ คือมันเป็นงานแรกด้วยและเป็นงานยากด้วย พอเราทำเสร็จเราก็แบบเราก็ทำได้นี่ เราก็คืนชีพเขาได้นี่ พอส่งให้ลูกค้าดู ลูกค้าก็เอาไปแชร์ต่อค่ะ แบบว่าดีใจมากเลยที่ต่อไปนี้จะไม่มีใครเรียกตุ๊กตาของเขาว่าน้องเน่าอีกแล้ว ไม่อาย ไม่โดนล้อแล้ว หลังจากนั้นมันก็เกิดการแชร์ไปเรื่อย ๆ ลูกค้าก็เข้ามาเรื่อย ๆ
เคยมีลูกค้าคนหนึ่งส่งมาถามว่าพี่ซ่อมให้หนูได้ไหม พี่ก็ดูแล้วแบบมันคือตัวอะไรเนี่ย เพราะว่ามันดำจนดูไม่ออกว่าตัวอะไร ด้วยความที่พี่เป็นคนที่แบบเราต้องทำให้ได้อะ ลูกค้ามาหาเราแล้ว เราก็ต้องช่วยเขาแก้ปัญหา ก็เลยบอกไปว่าได้ค่ะ เดี๋ยวพี่รับ พี่จะช่วย น้องเขาก็แบบพี่หนูดีใจมาก หนูไปถามมาเป็นสิบร้านก็ไม่มีร้านไหนช่วย แค่นี้เลยค่ะ มันเหมือนกับว่าเราก็ต้องช่วยเขาไหม ถ้าเกิดลูกค้าไปที่ไหนก็ไม่มีใครช่วย เขามาแบบหมดความหวัง คือถ้าเขาเก็บมาได้ขนาดนี้ แสดงว่าเขาต้องรักมันมาก ๆ เลย แล้วบางคนก็ไม่เชื่อใจตัวเองด้วยซ้ำที่จะเอาไปซัก เพราะว่ากลัวจะพังไปมากกว่านี้ แต่เขาไว้ใจเอามาให้พี่ซัก
ตอนหลังก็เลยแบบจะเน่าจะเปื่อยขนาดไหน พี่ก็เลยต้องรับไว้ มันก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมหลัง ๆ มีแต่งานสภาพเน่า งานสภาพดี ธรรมดายัดใยไม่ค่อยมาแล้ว ด้วยการที่มีการบอกต่อ แชร์ต่อ ว่าร้านนี้รับนะ สภาพแบบนี้ก็รับนะ แล้วยิ่งพี่เอาไปลงใน TikTok อะค่ะ ซึ่งเพิ่งเปิดมาได้ 2-3 อาทิตย์นี้เอง คราวนี้ยิ่งมามากกว่าเดิม จากเดิมที่คิวของพี่ก็กันยายน ตุลาคมแล้ว มากันเพียบเลย ก็จะเป็นอาการหนัก ๆ แบบเปื่อยยุ่ยมาเลย มันเลยกลายเป็นว่าเราต้องรับนะ สภาพแย่แค่ไหนก็รับ เราก็อยากชาเลนจ์ตัวเองว่าเราก็ทำได้ ถ้าปฏิเสธงาน เราจะไม่ได้เรียนรู้และพัฒนางานของเราเลย เหมือนปฏิเสธโอกาสทิ้งไป แล้วก็นั่นแหละค่ะ เพราะมันเป็นของรักของหวงเขา มันถึงมีสภาพแบบนี้
ช่วงโควิด งานคืนชีพให้ตุ๊กตาถึงจุดพีค
งานซ่อม เริ่มทำจริงจังน่าจะประมาณปี 60 ก่อนโควิดมา 2-3 ปี พี่จำได้ว่าช่วงประมาณปี 63 ที่โควิดระบาดหนัก ๆ ช่วงนั้นพีคมากเลยที่งานลูกค้าเข้ามาก สวนทางกับคนอื่นที่เขาไปขายของ โควิดเขาต้องปิด แต่ว่าช่วงโควิดมาพี่งานเข้าเต็มเลย คือไม่ต้องไปไหน อยู่บ้านพอดี มันเป็นงานที่ทำที่บ้านอยู่แล้ว แล้วพอดีกับว่าที่เทคโนโลยีต่าง ๆ มันเข้ามา คือขายออนไลน์ มีบริการรับส่ง ระบบโลจิสติกส์ มีบริษัทหลายบริษัทที่บริการรับส่งให้เราถึงบ้านเลย เพราะว่าอุปกรณ์ในการซ่อม พวกใย พวกผ้าพี่ก็สั่งมาจากออนไลน์ พี่ไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปซื้อเลย แล้วพอพี่ซ่อมเสร็จพี่ก็เรียกรถมารับ ลูกค้าก็ใช้วิธีโอนเงิน คือแทบไม่ต้องออกไปไหนเลย ก็ทำงานอยู่ที่บ้านได้สบาย ๆ
อะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดมาในช่วงโควิด มันทำให้พี่ไม่ได้รับผลกระทบแบบคนอื่นเขา มันกลับทำให้เราได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งตอนนี้ไปรษณีย์ก็ยังมีระบบ booking เรียกเข้ามารับได้ ทั้งที่เมื่อก่อนเนี่ยต้องร้อยชิ้นขึ้นไปเขาถึงจะเข้ามารับ แต่เดี๋ยวนี้แค่ชิ้นเดียวก็สามารถ booking ได้เลย คือตัดปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่างออกไปได้เยอะ สามารถทำให้เราทำงานอยู่ที่บ้านได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาออกไปส่งของ ไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาวัสดุอุปกรณ์
ฝีมือดี ซ่อมคล่องแคล่ว ได้ทักษะมาจากกาเรียนรู้ด้วยตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว!
เริ่มเรียนรู้มาจากหนังสือญี่ปุ่นค่ะ เปิดหนังสือแล้วทำตาม คือพี่ชอบประดิดประดอยมาตั้งแต่เล็ก ๆ ได้จากสิ่งแวดล้อม จากคุณย่า จากคุณแม่ เพราะว่าพี่เกิดมาพี่ก็จะเห็นเขานั่งถักโครเชต์เป็นตุ๊กตา แล้วก็อาสะใภ้ก็รับจ้างเย็บผ้า เราโตมาเราก็เห็นงานฝีมือมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วอุปกรณ์เรามี เศษผ้าพี่ก็ไปขอของเขามา ลองมาเย็บมานั่งทำดู จนไปได้หนังสือ country doll เลย ของญี่ปุ่นที่เขาจะออกเป็นรายเดือนจากร้านหนังสือญี่ปุ่นน่ะค่ะ ก็แพงเหมือนกันนะ เล่มละ 500-600 บาท ก็เก็บเงินค่าขนมแล้วก็ไปซื้อหนังสือมา
แล้วภาษาญี่ปุ่นพี่ก็อ่านไม่ออกหรอก แต่ว่าเราอาศัยดูแพตเทิร์น ในนั้นเขาก็จะสอนด้วยรูป ก็เปิดดูไปทำไป ก็รู้จากหนังสือญี่ปุ่นเนี่ยค่ะ พอตอนหลัง ๆ มาเนี่ย คือพี่เคยไปทำงานที่สวนสัตว์เชียงใหม่ พี่ทำอยู่กับแพนด้า ก็จะมีแฟนคลับเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะชอบมาเยี่ยมมาดูแพนด้าจนสนิทกันค่ะ ในระยะเวลาที่เขามาชมแพนด้า คุณลุงคนญี่ปุ่นเขาก็ถามพี่ว่าเดี๋ยวเขากลับไปญี่ปุ่นแล้ว อยากได้อะไรไหม ขนมพี่ก็เบื่อแล้ว มาทีไรเขาก็ขนขนมมาให้ พี่เลยบอกว่าพี่อยากได้หนังสือ พี่ก็หยิบของที่พี่มีออกมาให้คุณลุงดู คุณลุงบอกว่ามีเยอะแยะเลยที่ญี่ปุ่น ของมือสอง พี่ก็บอกว่าได้ ของมือสองก็ได้
พอถึงคราวคุณลุงกลับมาเยี่ยมแพนด้า คุณลุงก็ขนหนังสือมา คราวนี้ขนมาเต็มกระเป๋าเลย ขนมาให้พี่ แกก็บอกว่าบางทีแกก็ไปประมูลมาจาก ebay บ้าง ร้านหนังสือมือสองบ้าง อะไรอย่างนี้ ตอนหลังก็ได้สปอนเซอร์จากคุณลุงนี่แหละค่ะที่ส่งหนังสือมาให้ พี่ก็เอามาใช้ทำตุ๊กตาขายถนนคนเดิน แล้วลูกค้าส่วนมากนะเป็นคนจีน คนฝรั่ง คนไทยไม่มี
ในแพตเทิร์นที่ให้มาแผ่นใหญ่ มันก็จะถูกซ้อนไปด้วยตุ๊กตาแบบอื่นอีกหลายแบบ เราก็ต้องมานั่งดู ภาษาญี่ปุ่นก็อ่านไม่ออก เอายังไงดี มันจะมีรหัสว่าอันนี้ต้องไปดูหน้านี้นะแผ่นที่เท่านี้นะ แต่พอตอนหลังมามีแอปฯ แปลภาษาใช่ไหมคะ เราก็แค่เอากล้องไปส่องมันก็จะแปลให้เรียบร้อย แต่พอทำเป็นแล้วมันก็ไม่จำเป็นแล้วค่ะ มันเหมือนกับหนังสือเฉพาะทาง ถ้าคนดูไม่เป็นทำไม่เป็นมาเปิดดูก็ไม่รู้เรื่อง แต่เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว ดูแป๊บเดียวก็แกะออก เหมือนนักดนตรีที่เขามองโน้ตเดี๋ยวเดียวก็เล่นได้แล้ว มันก็เป็นความสนใจเฉพาะบุคคล ถ้าคนมันสนใจน่ะ ยังไงก็ต้องหาความรู้อยู่แล้ว ก็พยายามไปเสาะหาอยู่แล้ว ต่อให้เราอ่านภาษาเขาไม่ออก แต่ถ้าเราอยากรู้ เราสนใจจริง ๆ เราก็เรียนรู้ได้
มั่นใจในคุณภาพ เพราะลงมือเองทุกขั้นตอน งานละเอียดไม่ไว้ใจให้คนอื่นทำ!
งานซ่อมพี่ทำคนเดียวหมดเลยค่ะ ถ้าเป็นงานซัก เปลี่ยนใยทั่วไป พี่มีน้องสาวกับน้องเขยช่วย ซึ่งสองคนนี้เขาเป็นฟรีแลนซ์ เขามีงานของเขาอยู่แล้ว เขาก็จะขึ้นลงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 3 เดือนขึ้นมาทีอะไรอย่างนี้ ถ้าในช่วงที่เขาขึ้นมา พี่ก็จะมีคนช่วยยัดใย ในกรณีที่เป็นงานแค่ซักแล้วก็เปลี่ยนใย พี่ก็จะมีคนช่วย
แต่ทีนี้งานซ่อม มันเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียด แล้วต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพราะว่าถ้าเกิดเราพลาดไปเนี่ย ของรักของหวงของลูกค้าก็อาจจะเสียหายได้ มันต้องระมัดระวังอะค่ะ เราก็ไม่สามารถที่จะไปจ้างให้คนอื่นมาช่วยได้ เพราะว่าถ้าเกิดเขาทำเสียหาย มันทดแทนกันไม่ได้จริง ๆ พี่ก็เลยไม่ไว้ใจให้คนอื่นมาทำ
แล้วในกระบวนการทำ พี่เรียกว่าวิธีซ่อมผ้า อย่างตุ๊กตาที่เปื่อยมาก ๆ แล้วเนื้อผ้าหายไปบางส่วน มันมีส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่กับส่วนที่หาย ตรงนี้มันต้องใช้ความละเอียดในการจัดเรียง ตุ๊กตาที่พี่จะต้องเอามาแกะ คือเอามาชำแหละก่อน แยกออกเป็นชิ้นส่วน ตุ๊กตามันจะมีแพตเทิร์นของมัน ในกรณีที่ตุ๊กตามันเปื่อยมันขาดมาก ๆ พี่ก็ต้องแกะแต่ละชิ้นส่วนออกมาอัดผ้ากาว เพื่อที่จะทดแทนส่วนผ้าที่มันหายไป ก็ประสานตัวผ้าที่มันเหลือด้วย เพื่อให้พยุงผสานกันไว้ ไม่ให้เปื่อยไปมากกว่านี้ เป็นการยืดอายุของผ้า
เพราะฉะนั้น ในขั้นตอนนี้พี่ต้องทำด้วยตัวเอง เพราะว่าพี่จะต้องดูแนวของเศษผ้าที่มันเหลืออยู่ มันจะคล้าย ๆ กับการซ่อมหนังสือเก่า หนังสือโบราณ เศษกระดาษหนังสือที่มันผุ เขาก็ต้องแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วก็มานั่งเรียงแบบนี้แหละค่ะ แล้วก็จะมีกระดาษสาในการซ่อม เขาใช้กระดาษสาเป็นตัวประสาน ของพี่ก็ใช้ตัวผ้ากาว ผ้ากาวเยลซี่เนี่ย พี่ใช้ในการทำชุดที่เป็นผ้าไหม เป็นชุดที่เขาต้องการคงสภาพตัวผ้า พี่ก็เลยเอามาปรับใช้ในการซ่อมผ้าที่เปื่อย มันก็เลยต้องใช้ความละเอียด
ทีนี้อัดผ้ากาวเสร็จมันก็ยังไม่พอ ก็ต้องมาเก็บรายละเอียด ก็คือค่อย ๆ สอยอะค่ะ เพื่อที่ให้ตัวผ้ากาวกับตัวผ้าเดิมมันติดกัน ไม่ให้เกิดการแยกกัน ขั้นตอนนี้จะไม่มีใครเอา เพราะมันต้องใช้ความละเอียดและประณีตด้วย พอพี่ซ่อมผ้าแต่ละชิ้นเสร็จก็ต้องเอามาประกอบ ขั้นตอนประกอบ ถ้าลืมหรือจำไม่ได้ว่าชิ้นส่วนมันอยู่ตรงไหน อันนี้ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าพี่รื้อออกมาแล้วพี่ก็ต้องถ่ายรูปไว้ว่าชิ้นนี้อยู่ตรงนี้ เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์
เสร็จอีกปัญหามันก็จะมีตรงที่ตุ๊กตาที่เอามาซ่อม มันจะเป็นตุ๊กตาเด็กอ่อนของอองฟอง ตุ๊กตาหมอนข้าง หมอนหลุม อันนี้จะส่งกันเข้ามามาก แล้วตุ๊กตาพวกนี้มันจะมีขนสั้น ๆ มันก็จะใช้วิธีทอแบบผ้าขนหนู ผ้าขนทั่วไป แล้วพออายุมันผ่านไปนาน ๆ เนี่ย ขนพวกนี้มันหลุด มันก็เปื่อยไปตามกาลเวลา ทิ้งไว้แต่ผ้าที่เป็นพื้นอะค่ะ ที่มันเป็นบาง ๆ ผ้าพื้นมันก็จะมีความยืดความย้วย พอเราอัดผ้ากาวเนี่ย แพตเทิร์นเราก็จะมีการย้วย มันก็จะไม่เข้าล็อกเดิม พี่ก็ต้องมานั่งแก้ มาประกอบเพื่อที่จะให้มันเข้าไปอยู่ที่จุดเดิมของมัน ไม่งั้นตุ๊กตาลูกค้าก็จะบิดเบี้ยว แล้วก็จะไม่เหมือนเดิม มันก็เป็นงานที่เราต้องระวังตรงนี้ด้วย แล้วแพตเทิร์นบางตัวจะเป็นแบบตุ๊กตาแก้มยุ้ย ๆ แก้มป่อง ๆ เราก็ต้องมาเย็บรูดให้แก้มป่องเหมือนของเดิม แล้วก็ต้องเย็บกลับไปตำแหน่งเดิม ซึ่งถ้าเราไม่ได้ถ่ายรูปชิ้นส่วนส่วนประกอบไว้เราก็จะเสียเวลา
เพราะว่าตุ๊กตา แค่เฉพาะหน้าเนี่ยค่ะ มันก็หลายชิ้นแล้วนะ โดยเฉพาะพวกตุ๊กตาเด็กอ่อนอะค่ะ แต่ส่วนลำตัวไม่มีปัญหา เพราะว่าอาจจะเป็นหมอนข้างธรรมดา ที่ยากสุดคือส่วนของใบหน้านี่แหละค่ะ มันเป็นงานที่ควรจะต้องจบด้วยตัวคนเดียว เพื่อให้มันทำงานได้ต่อเนื่อง พี่จะรู้รายละเอียดทั้งหมดเพราะเป็นคนชำแหละออกมาเอง มันไม่เหมือนงานเย็บผ้าโหลที่เย็บส่วนไหนก็เย็บไป เข้าปกก็เข้าปกไป มันไม่เหมือนกัน
ก็มีคนถามพี่เยอะเหมือนกันว่าทำไมไม่จ้างคนช่วย คืองานแต่ละชิ้นมันค่อนข้างใช้เวลาอะค่ะ เราก็ไม่สามารถไปควบคุมคุณภาพของเขาได้ด้วย แล้วเราก็ไม่สะดวกจะให้เขามาทำที่บ้านเราด้วย เพราะมันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย หรือจะแบ่งงานให้เขาไปทำที่บ้านก็ไม่ได้อีก เพราะว่าเราต้องควบคุมเขาทุกขั้นตอนเหมือนกัน ตัดปัญหาที่เราควบคุมคุณภาพที่เราคนเดียวเลยดีกว่า
ขั้นตอนการซ่อมตุ๊กตาแต่ละตัวตั้งแรกจนจบ กว่าจะจบเสร็จทุกขั้นตอน ไม่ง่าย!
เอาเป็นตุ๊กตาแบบเปื่อยมาเนอะ ตอนแรก พี่ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ก่อน ก่อนที่จะลงมือทำ จากนั้นพี่ก็ต้องมานั่งรื้อส่วนที่ลูกค้าเขาซ่อมเอาไว้ก่อน ส่วนมากตุ๊กตาที่สภาพเน่ามาเนี่ยลูกค้าจะมีการซ่อมไว้ขั้นหนึ่งแล้วเพื่อไม่ให้ไส้ตุ๊กตาไหล บางคนก็คุณย่าคุณยายซ่อมไว้ให้ คือเอาผ้ามาปะไว้ให้ก่อนชั่วคราว เป็นการซ่อมระยะแรก อาจจะซ่อมไปแล้ว 1-3 ชั้น พี่ก็ต้องมารื้อออกก่อน พวกด้าย พวกรอยเย็บ ตะเข็บต่าง ๆ ออก เพื่อที่เราจะได้เห็นเนื้อในจริง ๆ
จากนั้นเราก็จะเอาส่วนเนื้อในไปซักค่ะ เพื่อที่เราจะได้เห็นสีผ้าจริง ๆ ของตุ๊กตาว่าเป็นสีอะไร คือขั้นนี้เราต้องเอาไส้ที่เป็นใยเดิมออกก่อนนะคะ เราก็ซักทำความสะอาดให้เรียบร้อยเลย เอาเศษผงเศษฝุ่นที่มันอยู่ตามตะเข็บเอาออกให้หมด แล้วพอได้มาเสร็จแล้ว พี่ก็ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ด้วย จากนั้นก็ต้องมานั่งรื้อชิ้นส่วน แพตเทิร์นแต่ละชิ้น ๆ ออกมา เพราะว่าผ้ามันจะบาง พี่ก็ต้องมาเสริมมาอัดผ้ากาวให้ผ้าหนาขึ้น แล้วก็เป็นการยืดอายุของผ้าออกไปอีกไม่ให้เปื่อย
พอถึงขั้นตอนนี้ อัดผ้ากาวเสร็จ เราก็มาซ่อมผ้า เย็บส่วนที่ผ้าขาด เป็นรู ซ่อมให้ผ้าออกมาเป็นชิ้น เป็นแพตเทิร์นที่สมบูรณ์ จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการเย็บประกอบเข้าไปให้เหมือนเดิม ก็เย็บส่วนหัว ส่วนหู ส่วนลำตัว แขนขา เข้าที่ให้เรียบร้อย ขั้นตอนประกอบ ส่วนมากก็จะเป็นตุ๊กตารูปสัตว์ พอประกอบเสร็จก็ยัดใย ทีนี้หน้าตาเขาบางตัวตาจะเป็นตาพลาสติก บางตัวตาก็จะแตก ล่อน สีถลอก พี่ก็ต้องมาซ่อมสีโดยการใช้สีสเปรย์พ่น ส่วนมากมันก็จะตาสีดำอยู่แล้ว ก็จะเอาสีสเปรย์พ่นทับซ่อนสีอะไรไป ปากส่วนมากก็จะเป็นด้าย ก็ใช้ด้ายเย็บปักเข้าไปให้เหมือนเดิมเป็นปาก ก็อิงจากรูปเดิมนั่นแหละที่เราถ่ายไว้แต่ทีแรก ของเดิมเป็นแบบไหน เราก็ทำให้เป็นแบบนั้น ให้เหมือนของเดิม
มันก็จะใช้ศิลปะในการทำก็คือการวาด การเพนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางตัวเราก็ต้องเพนต์สี เพราะว่าบางชิ้นเขาก็ใช้วิธีสกรีนรูปร่างหน้าตา ปาก คิ้ว อะไรพวกนี้ เราก็ต้องใช้การเติมสีลงไป ก็คือการซ่อมสี บางส่วนอย่างจมูก มันไม่มีอะไร เราก็ต้องปั้นขึ้นมาทดแทนของเดิม จมูกบางอันมันเป็นผ้ากลม ๆ ของเดิมเขาหายไป เราก็ต้องทำจมูกผ้ากลม ๆ ขึ้นมา คือของเดิมเป็นแบบไหนเราก็ทำทดแทนขึ้นมาแบบนั้น จากนั้นก็เช็กรายละเอียด คือว่ามันกลับไปเหมือนของเดิมไหม ส่นประกอบ องค์ประกอบอะไรต่าง ๆ พวกตา จมูก ทุกอย่างอะค่ะ ต้องทำให้เหมือนเดิมก่อนซ่อม แต่ว่าได้ของใหม่ ก็เสร็จเรียบร้อยของขั้นตอนการซ่อม
คือดูแล้วมันไม่น่าใช้เวลานาน แต่ว่ามันจะมีขั้นตอนที่มันต้องใช้เวลา ก็คือขั้นตอนของการซ่อมผ้าเนี่ยค่ะที่เสียเวลา เพราะว่าบางอย่างผ้ามันรันค่ะ คือมันแยกออกจากกัน เพราะว่ามันใช้วิธีถักแบบนิตติ้งกับผ้าพื้นนะคะ ทีนี้พอมันรันมันก็จะแยกออกเป็นชิ้น ๆ พี่ก็ต้องมาเย็บให้มันติดกันก่อนที่เราจะไปอัดผ้ากาว ก็ต้องใช้เวลา ใช้สายตา ใช้ความละเอียดเยอะเลย
สำหรับเคสที่ไม่หนักก็ต้องทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันค่ะ อย่างซักเปลี่ยนใย ก็อาจมีซ่อมรอยขาดนิดหน่อย เพราะว่าซักก็วันนึงแล้ว ต้องตากให้แห้งสนิท จากนั้นก็มาซ่อมตะเข็บที่ขาด จุดไหนที่ขาด ต้องเช็กข้างในนะคะ เพราะว่าตุ๊กตาขนเนี่ยส่วนขาดเรามักจะไม่ค่อยเห็นเพราะขนมันคลุม เราเลยต้องกลับดูด้านในในส่วนที่ผ้ามันรัน พอผ้ามันรันปุ๊บขนมันก็หลุด ต้องรีบเย็บซ่อมตรงนี้เพื่อหยุดไม่ให้มันรัน แล้วก็ซ่อมตะเข็บ แล้วก็ยัดใย ก็ 2-3 วันก็เสร็จเรียบร้อย งานง่าย ๆ บางตัวก็วันเดียว แบบขาดนิดเดียว คือเราก็เขาใจนะว่าบางคนเรื่องงานฝีมือเขาไม่เป็นเลย ที่บ้านไม่มีเข็มไม่มีด้ายอะไรเลย เขาก็ทำไม่ได้ พี่ก็ซ่อมให้ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ซ่อมให้ ก็คิดไม่แพง 50-60 บาทแล้วแต่ วันเดียวก็เสร็จแล้ว
20-40 ปี คือช่วงอายุของคนที่ยังมีความหวังจะชุบชีวิตตุ๊กตา
ที่เอามาซ่อม ถ้าดูจากสภาพตุ๊กตาแล้วก็ที่ลูกค้าเขาบอก อายุจะอยู่ประมาณช่วง 20-40 ปีประมาณนี้ ถ้าเป็นตุ๊กตาของตัวเองนะคะ ก็จะเป็นตุ๊กตาเด็กอ่อนหมอนหลุมนั่นแหละค่ะ ตุ๊กตาอองฟอง พวกมามี่โพโคอะไรพวกนี้ เป็นรุ่นที่ไม่ผลิตแล้ว หาซื้อไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นเด็กน้อยก็มี แต่ว่าคุณแม่ส่งมาซ่อม แบบว่าน้องติดมาก เป็นลูกค้ากลุ่มที่พี่ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะว่าน้องจะงอแงมากถ้าไม่มีตุ๊กตากอด คุณแม่ก็ต้องไปตกลงกับน้องให้ดีก่อน แต่พี่ก็ยังไม่เคยเจอแบบที่แก่กว่าพี่นะ ตอนนี้พี่ก็ 48 แล้ว
ล่าสุดมีตุ๊กตาของผู้ประกาศข่าวช่อง One คุณศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ ส่งตุ๊กตาของเธอมาซ่อม ก็จองคิวข้ามปีเหมือนกัน ได้คิวเมื่อมกราคมที่ผ่านมา อันนั้นก็ค่อนข้างหนักเหมือนกัน แต่พี่ก็ยังไม่มีเวลาเอาลงเพจเลย ตอนนี้ค่อย ๆ ทยอยเอางานเก่า ๆ ที่ยังไม่ได้ลงลงก่อน คุณศรีสุภางค์ก็ยังเก็บตุ๊กตาเอาไว้อยู่ พวกหมอนเน่าอะไรอย่างนี้ ก็คนในช่วงวัยที่ไม่เกินพี่ก็ยังจะเก็บของพวกนี้ไว้อยู่ แต่ถ้าเกินไปแล้ว 50-60 ปี ยังไม่มีลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามา ก็เลยไม่รู้ว่าคนกลุ่มนั้นจะเก็บไว้อยู่ไหม หรือว่าถ้าเก็บไว้ก็คงจะไม่เหลือแล้ว หรือก็อาจจะปล่อยวาง ปลงไปแล้วเรื่องของนอกกาย
ตุ๊กตาสภาพเยินเกินเยียวยา ดูแล้วไม่น่าซ่อมได้ แต่ซ่อมเสร็จทำลูกค้าร้องไห้!
พวกผ้าบาง ผ้าขาดเป็นริ้ว ผ้าห่มที่ขาดเป็นริ้ว ๆ ดำ เปื่อย เหลือแต่โครง แบบนี้จะมาเยอะมาก ก็คือเป็นสภาพที่ไม่พร้อมที่จะกอดแล้วล่ะแต่ก็ตัดใจทิ้งไม่ลง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเนื้อสัมผัส ที่เขาจะต้องสัมผัส ต้องถูก่อนนอน อย่างตุ๊กตาของเด็กที่ส่งมาซ่อมนะคะ ถ้าตุ๊กตาที่มีหู หูเนี่ยจะไปก่อน มีหู มีจมูก ช่วงใบหน้า จมูกที่เป็นจมูกผ้ากลม ๆ อันนั้นไปก่อนเลย หรือไม่ก็เป็นส่วนติ่งของตุ๊กตา อาจจะเป็นปลายเท้า นิ้วมือ พวกนี้จะไปก่อนเพราะว่าเขานอนถู ถูเพลินก็หลับ เป็นลักษณะที่เจอมากที่สุดแล้วเราต้องซ่อมมากที่สุด ที่มันเยินขนาดนั้นเพราะมันรู้สึกอบอุ่นไง มันปลอดภัย ถ้าเรามีอะไรแบบนี้กอดอยู่ข้าง ๆ ตัวก่อนนอน
คือสภาพตุ๊กตาแต่ละตัวที่มาถึงมือพี่มันค่อนข้างหนักมากก็จริง แต่ถ้ามาแล้วถึงขั้นพี่ต้องตั้งสติเนี่ยไม่ค่อยมีนะคะ เพราะพี่ดูแล้วผ้ามันยังเหลือ โครงมันยังเหลือ เดี๋ยวพอเรามาแยกแพตเทิร์น มันก็ไม่มีปัญหาแล้ว มันซ่อมได้อยู่แล้ว
ที่รับ เพราะพี่ก็อยากพิสูจน์ความสามารถของตัวเองว่าทำได้ไหม ฉันจะแก้ปัญหาได้ไหม ฉันจะทำสำเร็จไหม จะบอกว่ามันเป็นนิสัยส่วนตัว ไม่ว่าพี่จะทำงานส่วนตัวหรือว่าทำงานประจำนะคะ เวลานายส่งงานมาเนี่ย มันต้องทำให้ได้อะ ถึงเราทำไม่ได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาโดยการขอความร่วมมือจากคนอื่นได้ไหม แต่ก่อนอื่น เราต้องแก้ปัญหาของเราให้ได้ก่อน คือไม่ว่างานจะยากอะไรยังไงเราก็ต้องทำให้ได้ ต้องแก้ให้ได้ แต่ถ้ามันสุดจริง ๆ ทำไม่ได้จริง ๆ เราถึงค่อยหยุดมัน ค่อยบอกลูกค้าว่ามันไม่ได้แล้วนะ แต่ตอนนี้เรายังทำได้อยู่ มันน้อยที่พี่จะปฏิเสธ อย่างที่บอก ถ้าปฏิเสธงาน เราจะไม่ได้เรียนรู้และพัฒนางานของเราได้เลย จะปฏิเสธโอกาสทิ้งไปทำไม
นอกซะจากว่างานที่โดนความร้อน ลูกค้าเอาไปอบ ไดร์เป่าจนขนผ้าช็อตอะค่ะ คือมันละลายแล้ว อันนั้นถ้าจะซ่อมให้สภาพขนคืนมา คือลูกค้าก็คาดหวังว่าซ่อมให้ขนกลับมาเหมือนเดิม อันนั้นคือไม่ได้แล้ว คือเป็นงานเดียวที่พี่ปฏิเสธก็คือขนมันละลาย มันซ่อมไม่ได้ มันก็เลยเป็นจุดที่ว่าทำไมพี่ถึงไม่ปฏิเสธ ถึงต่อจะให้เน่ามาแค่ไหนพี่ก็ไม่ปฏิเสธ ยังไงมันต้องมีวิธีแหละน่ะวิธีซ่อมอะ พูดในฐานะช่างนะคะ แล้วยิ่งลูกค้าบอกว่าไปร้านไหนเขาก็ไม่เอา มันเหมือนกับว่าเราคือความหวังสุดท้ายของเขาแล้ว เราก็ต้องช่วยเขาให้ได้ แล้วร้านพี่ก็จะเป็นร้านสุดท้าย ทำร้านเราให้เป็นร้านสุดท้าย
แต่ถ้าเคสหนัก ๆ ล่าสุดจะเป็นลุงซานต้าค่ะ อันนี้มาแบบแทบจะไม่เหลืออะไรเลย เพราะว่ามันเป็นก้อน ๆ แบบที่ไม่รู้เป็นอะไร แล้วลูกค้าก็ถึงขั้นวาดเค้าโครงมาเลยค่ะว่าลักษณะเป็นแบบนี้นะ ก็จะเป็นลุงซานต้าที่ตัวกลม ๆ หัวแหลม ๆ ก็มาอยู่บ้านพี่อยู่หลายเดือน ประมาณ 4-5 เดือนได้มั้งตัวนั้น เพราะว่าพี่เอามานั่งดูแล้วก็แบบเดี๋ยวเอาไว้ก่อนแล้วกัน ลูกค้าเขาก็ไม่ได้เร่ง คือพี่ก็ขอเวลาลูกค้าหน่อย จนกระทั่งลูกค้าเขาไปเจอรูปเก่า ๆ ของลุงซานต้ามา ก็เลยมีแบบดู
มันต้องใช้เวลาค่ะ บางอย่างพอแกะแล้วเราก็ต้องระมัดระวัง ไม่งั้นเดี๋ยวแพตเทิร์นจะเคลื่อนไม่ตรงตำแหน่งเดิม แล้วบางทีเราก็ต้องช่วยลูกค้าเดาด้วยว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้นะ บางคนเขาก็ไม่ได้มีรูปเดิม เราก็ต้องช่วยเดา อาศัยประสบการณ์จากที่เราซ่อมตุ๊กตามานาน ๆ แหละว่าตุ๊กตาแบบนี้ หน้าตาจมูกของเดิมน่าจะเป็นแบบไหน
สำหรับเคสยาก ๆ ก็ใช้เวลาประมาณนี้แหละค่ะ 4-5 เดือน บางทีนานจนข้ามปีก็มี แต่ลูกค้าก็เข้าใจว่ามันต้องใช้เวลา พอพี่ถ่ายงานที่ซ่อมแล้วให้ดู บางคนคือร้องไห้เลย เพราะเขาก็ไม่คิดว่ามันจะกลับมาเป็นตัวได้ จากสภาพเขาก็ประเมินมาแล้วล่ะว่ามันซ่อมเสร็จไม่ได้ในวันสองวัน บางอย่างเราก็ต้องตั้งสติ ต้องมีสมาธิ บางทีมันก็หลุด ถ้าพี่ทำตอนกลางวันเนี่ยมันมักจะไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะว่าก็จะมีขนส่งเข้ามาเอาของมาส่ง แล้วก็พี่ดูแลคุณแม่ด้วย คุณแม่อายุเยอะแล้ว ต้องหาข้าวให้ท่าน บางทีก็เรียกหยิบนู่นหยิบนี่ พอพี่จะทำแล้วหลุดไป มันก็ใช้เวลานานกว่าจะกลับมาต่อกับมันได้ เพราะฉะนั้น เวลาทำงานหลัก ๆ ของพี่ที่พี่ทำได้ยาว ๆ ก็คือกลางคืน พอค่ำไปแล้วที่จะไม่ค่อยมีอะไรมากวน
สุขภาพร่างกาย คืออุปสรรคใหญ่ในการทำงานซ่อมตุ๊กตา
สิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อในการซ่อมก็คือการซ่อมผ้านี่แหละค่ะ เพราะว่ามันต้องใช้ความละเอียด ใช้สายตา บางทีเราอยู่กับมันมาก ๆ เราก็จะปวดคอ บ่า ไหล่ คือตอนนี้พี่เป็นออฟฟิศซินโดรม เป็นหมอนรองกระดูกต้นคอทรุด มันก็เกิดมาจากการที่เราทำงานแล้วต้องนั่งเพ่งกับอะไรมาก ๆ คือเมื่อก่อนพี่ก็เคยทำอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เราก็เพ่งโดยไม่รู้ตัว ก็เลยมีผลต่อสุขภาพเราตอนนี้
แล้วตอนนี้เราก็มาทำงานที่มันต้องใช้ความละเอียด ใช้การเพ่ง แล้วท่าทางการทำงานของเรา ถ้าเรานั่งทำไปนาน ๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกมึนหัว ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ มันก็จะเป็นขั้นตอนของการซ่อมผ้านี่แหละค่ะ ซึ่งบางทีมันก็เปื่อยมากจนต้องสอยหลายจุดเลยในการที่จะทำให้ผ้ามันกลับมาเป็นรูปเป็นร่างเดิม พอเราสามารถซ่อมปะติดปะต่อผ้าอะไรได้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนประกอบผ้าก็ไม่ยากแล้วค่ะถ้าเลยจุดนี้ไปได้แล้ว
เรื่องราวการซ่อมตุ๊กตาของพี่จิ๊บยังไม่จบ ในสัปดาห์หน้า คนต้นคิดยังมีเรื่องราวต่อเนื่องที่ใครหลายคนอาจจะคาดไม่ถึงเกี่ยวกับการซ่อมตุ๊กตา ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเรื่องซึ้ง ๆ ที่มีช่างฝีมือดีคืนชีพตุ๊กตาเน่าของใครสักคนคืนสู่อ้อมกอดใช่ไหมล่ะ แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องราว “หลอน ๆ” ของตุ๊กตามันก็มีเหมือนกัน และในส่วนของการทำธุรกิจ มีเรื่องอะไรบ้างที่ช่างซ่อมตุ๊กตาต้องให้ความสนใจ โปรดติดตามคนต้นคิดในสัปดาห์หน้า!