
เด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่ออย่าง “เด็กม.6” ทุกรุ่นจะต้องวางแผนชีวิตของตนเองเพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นอย่าง “การเข้ามหาวิทยาลัย” ใบปริญญาที่พวกเขาจะได้รับจากสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ถือเป็นใบเบิกทางที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่านี่คือบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกมา ดังนั้น จึงเป็นคนที่พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ข้อเท็จจริงก็คือ บัณฑิตจะมีหน้าที่การงานดี ๆ ได้ ส่วนใหญ่แล้วต้องมีใบปริญญาแนบไปพร้อมกับใบสมัครงาน เพื่อยืนยันว่าเราจบการศึกษาแล้ว และมีทักษะ มีความสามารถที่จะทำงาน
ทว่ามีเด็กม.6 ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นที่ต้องมาสะดุดกับการตามหาใบปริญญาตั้งแต่จุดเริ่มต้น “ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย” ที่เกิดปัญหาทุกปี เด็กจำนวนมากต้องแบรับความวุ่นวายของระบบที่ไม่แน่ไม่นอน ระบบที่ไม่เอื้อให้เด็กวางแผนชีวิตของตัวเองในมหาวิทยาลัยได้ล่วงหน้า เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทุกปี และก็มักจะเกิดปัญหายิบย่อยดังที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าข่าวการศึกษาทุกปี คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ไม่ใช่ใคร คือตัวเด็กเอง บางคนถึงกับหลุดออกนอกระบบการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือต้องเสียเวลาเป็นปี เพราะปรับตัวตามระบบดังกล่าวไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยที่ไม่สามารถปรึกษาผู้ปกครองเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และการเข้าเรียนคาบแนะแนวก็มิได้แนะแนวอะไรที่มีประโยชน์มาใช้จริงเท่าที่ควร ทำให้เด็กไทยได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่สามารถให้ความช่วยเหลือพวกเขาได้ดีกว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดสอบ ให้คำแนะนำที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ ให้ข้อมูลการเรียนต่อที่น่าสนใจมากกว่าการเข้าเรียนคาบแนะแนว เขาคือคนที่เด็กวัยเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยในช่วง 13 ปีที่ผ่านนี้เกือบทุกคนรู้จัก มนัส อ่อนสังข์ ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าเป็น “พี่ลาเต้ เว็บ Dek-D” เชื่อว่าเด็กไทยครึ่งค่อนประเทศรู้จักในฐานะ ฮีโร่ที่คอยแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาให้เด็กไทย
ซึ่งวันนี้ Tonkit360 ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ “พี่ลาเต้ Dek-D” ฮีโร่ที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาอย่างน้อย ๆ ก็ประมาณ 13 รุ่น มาติดตามกันว่าการศึกษาไทยในมุมของพี่ลาเต้กับสิ่งที่น้อง ๆ คิด เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
กว่าจะมาเป็น “พี่ลาเต้ Dek-D” ฮีโร่ของเด็ กไทยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
พี่ทำที่เว็บ Dek-D มา 13 ปีแล้วครับ เป็นงานที่ 2 ในชีวิต แล้วก็ทำยาวมาจนถึงปัจจุบันเลย ตอนที่เข้ามาทำตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ยาวขนาดนี้ แต่พอมานั่งย้อนดู เราทำงานอยู่เว็บ Dek-D แล้ว ตลอดเวลาที่เราทำงานเนี่ยมันเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกครั้งเลย เช่น ช่วงที่เปลี่ยนจาก A-NET มาเป็น O-NET ตอนนั้นพี่ก็อยู่ แล้วก็เปลี่ยนจาก A-NET มาเป็น Admission เปลี่ยนจาก Admission มาเป็น TCAS คือทุกการเปลี่ยนแปลงสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คืออยู่ครบเลย ก็เลยรู้สึกว่าเราอยู่นานมาจริง ๆ
ทุกวันนี้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าวการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครับ ก็จะดูแลเกี่ยวกับเรื่องของคอนเทนต์แล้วก็ประเด็นต่าง ๆ อันนี้คือตามหน้าที่นะครับ เป็น Content Creator เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นทำไมถึงมาทำตรงนี้ ต้องเท้าความว่าจริง ๆ แล้วพี่เองเรียนจบนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มันเป็นสาขาที่เกี่ยวกับการทำข่าว แล้วตอนเด็ก ๆ เราก็มีความฝันว่าเราอยากเป็น “นักข่าว” แต่ลึก ๆ เราก็อยากเป็น “ครู” ด้วย เพราะตอนเราเรียนมัธยม วิชาที่เราชอบที่สุดคือวิชาแนะแนว แล้วตอนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็เลือกครู แต่ปรากฏว่าสาขาที่มันจะทำให้เราไปเป็นครูแนะแนวได้เนี่ยมันไม่เปิด ซึ่งก็คือครุศาสตร์ เอกจิตวิทยาและการแนะแนว ปีนั้นมันแจ็กพ็อตพอดี เป็นปีที่พี่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เขาไม่เปิดรับ เหวอไปเลยครับ ก็เลยกลายเป็นว่ามาเรียนนิเทศศาสตร์แทน ก็เป็นคณะที่ก็ชอบเหมือนกัน

หลังจากติดนิเทศศาสตร์ เราก็เรียนไปเรื่อย ๆ และห่างหายจากความฝันที่อยากเป็นครูแนะแนว จนกระทั่งทำงาน เว็บ Dek-D ก็ประกาศรับสมัครนักข่าวสายการศึกษา ซึ่งเป็นสายที่เราก็ชอบ เพราะเป็นคนชอบอ่านข่าวการศึกษา แต่เราก็ไม่คิดว่าจะได้เข้ามาทำอะไรที่มันคล้าย ๆ ครูแนะแนว งานที่เว็บ Dek-D นะครับ ตามหน้าที่ก็เป็นนักข่าว แรก ๆ เข้ามาก็เป็น Content Creator นี่แหละครับ
แต่ด้วยความที่เราทำคอนเทนต์เยอะ เรื่องคอนเทนต์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันจำเป็นต้องรู้ลึก ต้องรู้ศัพท์ว่า A-NET คืออะไร O-NET คืออะไร เราก็ไปหาข้อมูล อันไหนไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์ ถามแหล่งข่าว ปรากฏว่าถามไปถามมาเริ่มมีข้อมูล แล้วเวลาเขียนคอนเทนต์ให้น้อง ๆ อ่าน น้อง ๆ ถาม เราก็ตอบได้ กลายเป็นว่าหลัง ๆ มาเริ่มตอบแทนแหล่งข่าวจริง ๆ เลย ตอบคำถามแทนหน่วยงาน ตอบคำถามแทนมหาวิทยาลัย ก็เลยกลายเป็นว่าทุกวันนี้เหมือนทำ 2 หน้าที่ครับ หน้าที่แรกก็เป็น Content Creator อีกหน้าที่ก็เป็นพี่ ๆ ที่มาตอบคำถาม ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ถามว่าทำไมถึงอยากมาทำตรงนี้ พี่ถือว่ามันเป็นจังหวะชีวิตมากกว่าครับ เพราะว่าลึก ๆ เราก็อยากเป็นครูแนะแนว ครั้งหนึ่งมันเคยห่างหายไปนานแล้วกับอาชีพนี้ แต่ ณ วันหนึ่ง กลายเป็นว่าเราได้ทำใน 2 อาชีพที่เราชอบ เราอยากเป็นนักข่าว ก็ได้เป็นนักข่าว เราอยากเป็นครูแนะแนว เราก็ไม่ได้เป็นครูแนะแนวนะครับ แต่เราก็ได้ทำหน้าที่ที่ใกล้เคียงกับครูแนะแนวครับ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อะไรคือความยุ่ งยากของระบบการศึกษาไทยที่เด็ กไทยต้องแบกรับ
พี่ขอแบ่งเป็น 3 เรื่องนะครับ เรื่องแรก สิ่งที่เด็กไทยต้องแบกรับ พี่มองว่าตัวระบบเนี่ยค่อนข้างเปลี่ยนบ่อย เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเนี่ย คนที่เขาเตรียมตัวจริง ๆ เขาไม่ใช่แบบจะสอบเดือนมีนาคมแล้วมาเริ่มเตรียมตอนมกราคม กุมภาพันธ์ มันไม่ใช่ครับ บางคนเขาเริ่มเตรียมตัวล่วงหน้าปีสองปี เพราะเขามองไว้แล้วว่าปลายทางของเขาคือคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้ แต่ปรากฏว่าเขาเตรียมตัวไม่ได้เลย เพราะว่าพอเตรียมตัวไว้แล้ว อ้าว! เปลี่ยนระบบ เราเข้าใจว่าเราจะต้องใช้วิชานี้ อ้าว! เปลี่ยนอีก ยกตัวอย่างวิชา GAT เด็กรุ่นนี้หลายคนจะเตรียมทำ GAT มา แต่ปรากฏว่าปีนี้มันเปลี่ยนเป็น TGAT น้องเขาก็จะเริ่มเหนื่อยกับตัวระบบ
การเปลี่ยนระบบบ่อย ๆ นอกจากมันจะส่งผลเสียต่อการเตรียมตัวของเด็ก เรื่องของความรู้ความเข้าใจก็ส่งผลนะครับ เพราะว่าทุกวันนี้น้อง ๆ ปรึกษาใครไม่ได้เลย ไปถามคนไหน เขาก็ตอบว่าฉันก็รู้เท่าเธอนี่แหละ อย่างครูแนะแนวบางท่าน ด้วยความที่ระบบเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก คุณครูท่านก็จะมีภาระในโรงเรียนอยู่แล้ว ต้องดูนักเรียน ต้องทำเรื่องทุน ก็จะไม่ค่อยมีเวลาศึกษาตัวระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบกับมันเปลี่ยนบ่อยด้วย ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่เลย อันนี้อย่างแรกนะครับ ก็คือระบบมันเปลี่ยนบ่อยจนทำให้เกิดผลกระทบหลาย ๆ อย่างตามมา
อย่างที่สองคือ ตัวระบบที่เปลี่ยน เป็น “ระบบที่อุดรอยรั่ว” อย่างเช่นระบบนี้ทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหนึ่งสองสาม พอหนึ่งสองสามแก้ได้ ก็มาเจอสี่ห้าหก แล้วเขาก็เอาระบบใหม่ขึ้นมาแก้สี่ห้าหก มันก็เจอเจ็ดแปดเก้า ประมาณนี้ครับ เป็นแบบนี้ทุกปีครับ พอหมด Entrance มา Admission ตอนที่เป็น Admission เราเห็นคอนเซปต์ของระบบ เราก็รู้ว่า อ๋อ! Admission มาเพื่อแก้ปัญหาอะไร ใช้ Admission ไปไม่กี่ปี อะ! เปลี่ยนอีกแล้ว

ล่าสุดก็เปลี่ยนมาเป็น TCAS ตอนที่ TCAS ออกมาเนี่ยเราก็เห็นคอนเซปต์แล้วว่ามาแก้ปัญหาอะไร ก็กลายเป็นว่า TCAS ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2566 ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนทุกปี! เปลี่ยนนิดเปลี่ยนหน่อย ยุบรวมรอบก็มี เปลี่ยนวิชา แนวเนื้อหาเปลี่ยน เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือก อะไรอย่างนี้ มีเปลี่ยนยิบเปลี่ยนย่อยทุกปี
ตรงนี้โชคดีตรงที่พวกพี่ได้มีโอกาสอ่านระเบียบการทุกวัน หน้าที่ตามสายงานเราครับ มีน้อง ๆ มาถามก็จะได้ลับสมองทุกวัน เราก็นึกถึงน้องหรือใครก็ตามที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ได้มีเวลาเพียงพอ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริง ๆ นะ เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นยังไง จะให้เล่าให้ฟัง มันเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้แค่คอนเซปต์ แต่ถ้าลงลึกไป มันมีรายละเอียดดอกจัน 1 ดอก ดอกจัน 2 ดอกจัน 3 ดอก เยอะมาก ซึ่งแต่ละคณะก็หลากหลาย ดังนั้น ก็เลยมองว่าตัวระบบเนี่ยมาอุดรอยรั่ว แล้วก็เกิดรอยรั่วใหม่ตามมา
ซึ่งการที่เกิดรอยรั่วใหม่ตามมา ก็เลยอยากสะท้อนว่าการที่ออกระบบมาเนี่ย คือ ออกมาเพราะคิดว่ามันดี แต่ไม่ได้เอาไปทดลองหรือเปล่า น้อง ๆ เขาเลยเอาไปสะท้อนตลอดว่า “รุ่นกูอีกแล้ว” อะไรประมาณนี้ “ทำไมต้องเป็นรุ่นเราด้วย รุ่นแรกที่ต้องใช้ระบบ” เพราะว่าเอามาใช้เนี่ยไม่ได้ทดลองเลย เอามาใช้เลย เด็กรุ่นที่เขาใช้เป็นรุ่นแรกก็เลยเป็น “รุ่นหนูทดลอง” ที่เขาจะเรียกตัวเอง อันนี้ก็เป็นข้อสองนะครับ
ส่วนอีกอันหนึ่ง อันนี้ก็มองว่าปัญหาที่เด็กไทยแบกรับมาทุก ๆ ปีเลยก็คือ การศึกษาเนี่ยจะเป็นเรื่องที่เด็กไทยมักจะได้รับการพูดถึงเป็นลำดับท้าย ๆ ยกตัวอย่างเรื่องของการศึกษากับการเมือง มีหลายปีนะครับที่การสอบไปตรงกับอีเวนต์การเมือง เช่น ตรงกับวันเลือกตั้ง เขาก็จะเอาวันเลือกตั้งก่อน ทั้ง ๆ ที่วันสอบถูกลงล็อกไว้ก่อนแล้ว อย่างเช่นปีที่ผ่านมาก็เป็นโควิด เด็กก็ได้เรียนที่บ้าน ซึ่งลำพังประสิทธิภาพก็ได้ไม่เต็มที่อยู่แล้ว วันสอบก็ไม่ได้ซัปพอร์ตอะไรเด็กเลย วัคซีนเด็กก็หาฉีดกันเอง
ถ้าเราเปรียบเทียบกับต่างประเทศนะครับ เขาจะรู้ว่าอีก 3 เดือนจะมีการสอบ เขาไล่ฉีดวัคซีนให้เด็กก่อนเลย เพื่อให้เด็กพร้อมลงสนามสอบ แล้วพอถามไปว่ามีมาตรการเกี่ยวกับโควิดยังไงสำหรับเด็กที่จะเข้าสอบ เขาก็บอกว่าตรงนี้ต้องไปถามกระทรวงสาธารณสุขเอา พี่ก็เลยคิดว่าทุกคนให้ความสำคัญกับเด็กและการศึกษาเป็นลำดับท้าย ๆ เลย โดยเฉพาะเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ถามว่าให้ความสำคัญไหม ก็ให้แหละครับ แต่มันก็จะผ่านเรื่องอื่น ๆ มาก่อน เรื่องนี้ก็จะเป็นลำดับท้าย ๆ แล้วทุกอย่างที่มันถูกแก้ปัญหาเนี่ย เกิดจากการที่เด็กออกมาร้องขอหมดเลย เช่น วันสอบถ้าเกิดติดโควิดขึ้นมาทำยังไง ปรากฏว่าหน่วยงานที่จัดสอบบอกว่าก็ต้องรอปีหน้า เป็นเราก็ช็อกนะจะรอปีหน้าได้ยังไง จนกระทั่งเด็กต้องออกมาร้องขอ ออกมาวิงวอน ถึงจะเกิดสนามสอบพิเศษมา นี่ก็เป็น 3 ข้อที่รู้สึกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเด็กจะวนเวียนแล้วก็เจอกับปัญหานี้อยู่ตลอดเลยครับ
ถ้าเทียบกับต่างประเทศ พี่ก็ยอมรับนะ เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องของการศึกษา ประเทศอื่นดีกว่าในเรื่องของการซัปพอร์ตเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศอื่นจะดีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะพี่ก็เห็นว่าการศึกษาเขาดีนะแต่เด็กเขาเครียดมากอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้ พี่มองว่าแต่ละประเทศเขาก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น ของไทยเราเนี่ย ถ้าถามเรื่องของการเซอร์วิส พี่ให้ติดลบด้วยซ้ำ ด้วยความที่การบริการเด็กอาจจะเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยแหละ การศึกษาไทยทุกวันนี้ไม่ได้ซัปพอร์ตน้อง ๆ เท่าที่ควร รูปแบบการสื่อสารของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยมันเป็นรูปแบบที่ฉันเป็นผู้ออกคำสั่ง เด็กต้องทำตามประมาณนี้ มันไม่เหมือนผู้บริการกับผู้รับบริการอะครับ
รู้สึกอย่างไรที่เด็กไทยหลายต่ อหลายรุ่นสามารถพึ่งพาพี่ลาเต้ Dek-D และทีมงานได้มากกว่าการเข้าเรี ยนคาบแนะแนว
พี่ได้คำถามนี้บ่อยนะครับที่รู้สึกยังไงว่าเป็นที่พึ่งของน้อง ๆ แล้วก็รู้สึกยังไงพอไปเทียบกับครูแนะแนว เรื่องของการเปรียบเทียบพี่ไม่ได้อยากให้เปรียบเทียบเลย เพราะว่าพี่เองเวลาไปแนะแนวตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็จะได้เจอกับครูแนะแนว ก็จะได้เห็นเลยว่าท่านมีภาระค่อนข้างเยอะ ตอนเราเป็นนักเรียนเราอาจจะเห็นว่าครูเขาก็แค่สอน พอหมดคาบเขาก็มีคาบว่างด้วย เราเป็นนักเรียนไม่เห็นมีคาบว่างด้วยซ้ำ พอโตขึ้นมาเราได้ไปสัมผัสชีวิตของการเป็นครูแล้วมันไม่ใช่แค่นั้นอะครับ มันไม่ใช่แค่สอนแล้วจบ แล้วครูแนะแนวหลายโรงเรียนเป็นวิชาที่ลูกเมียน้อยเหมือนกันนะครับ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน ตำแหน่งขาดก็ไม่มีคนมาเติม
พี่เคยเห็นบางโรงเรียนไม่มีครูแนะแนว พี่ก็เลยถามน้อง ๆ ว่าแล้วใครสอน ก็เอาคุณครูเลขที่ว่างมาสอน เอาคุณครูที่ปรึกษามาสอนในคาบแนะแนว แล้วเวลาเอาครูเลขมาสอน ครูที่ปรึกษามาสอนเขาให้ทำอะไร ครูที่ปรึกษาเขาก็ปล่อยให้หนูนั่งที่ม้าหินแล้วก็ให้หนูทำแบบทดสอบอะไรไป ส่วนครูเลขก็สอนเลขในคาบแนะแนว เพราะว่าเรียนเลขไม่ทัน ครูก็สอนในคาบนี้เลยแล้วกัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่ได้อะไรที่มันแนะแนวมาเลย
อีกอย่างพี่มองว่าภาระของครูแนะแนวค่อนข้างเยอะ ทำให้เขาไม่ได้เต็มที่กับการแนะแนวเด็กเท่าที่ควร แล้วก็เรื่องของระบบที่มันค่อนข้างซับซ้อน เรื่องระบบเนี่ยพี่เคยคุยกับน้อง ๆ ในทีมนะว่าถ้าเราเป็นครูแนะแนว เราจะเข้าใจเหมือนเราเป็นพี่ Dek-D ไหม ทุกคนก็ตอบเหมือนกันว่าถ้าเราเป็นครูแนะแนวเราก็คงไม่เข้าใจ เพราะว่าครูแนะแนวคงไม่ได้มีเวลามานั่งเปิดระเบียบการอ่านทุกวันเหมือนเรา ที่เว็บ Dek-D เวลาเราทำคอนเทนต์เราก็ต้องเปิดระเบียบการอ่าน เวลาทำงาน 8 ชั่วโมง อยู่ที่เว็บ Dek-D พี่สามารถเอาเวลา 8 ชั่วโมงนั้นเปิดระเบียบการแล้วก็ทำความเข้าใจได้เลย แต่ครูแนะแนวไม่ใช่ เวลาหมดไปกับเข้าแถว สอน ทำหนังสือ ทำประเมิน ดังนั้น บริบทมันก็แตกต่างกันนะครับ เลยรู้สึกว่าเห็นใจครูแนะแนวมากกว่าด้วยซ้ำ
คำถามที่ว่ารู้สึกยังไงที่ว่าน้อง ๆ สามารถพึ่งพาได้ อันนี้ดีใจนะครับ เพราะว่าทุกครั้งที่น้อง ๆ พึ่งพาได้ เราก็จะรู้สึกว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่น้องนึกถึง เราก็ช่วยเท่าที่เราช่วยได้ เรานึกถึงภาพตอนที่เราไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แล้วมีพี่คนหนึ่งที่เขาสามารถประสานงานได้ สามารถไปถามให้ได้ว่าระบบมันเกิดอะไร พี่ก็จะไปถามให้ ก็รู้สึกภูมิใจและก็ดีใจครับ

แต่อีกส่วนมีหลายคนบอกนะว่าจริง ๆ หน้าที่ที่พี่ลาเต้ทำอยู่ มันควรเป็นหน้าที่ของทปอ. หรือควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำหรือเปล่า พอพี่มาคิดแบบนี้ เออมันก็ใช่นะ เราไม่ได้มีหน้าที่ในการมาอธิบายว่าระบบ TCAS นะว่า TCAS มันมีกี่รอบอะไรยังไง หน้าที่หลักของเราคือ Content Creator เราทำคอนเทนต์ แต่ก็อย่างที่บอกก็คือ เหมือนเราเข้าใจเยอะ พอน้องถามเราก็อธิบายได้ ก็เลยกลายเป็นว่าช่วย ๆ กันไปครับ
ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะครับ เพราะว่าทุกครั้งที่มีการสอบเข้า ทุกครั้งที่มีปัญหาสมัครเว็บล่มหรือระบบอะไรต่าง ๆ พวกพี่ก็หลังแข็งเหมือนกัน เวลานั่งทำอยู่บ้านเราก็ปวดหลัง ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่ามันผ่านมาได้ ที่มันรู้สึกอยากทำ เพราะเวลาเราทำแล้วเรารู้ว่ามันได้ช่วยคนก็เยียวยาจิตใจคนทำงานเหมือนกัน อย่างบางทีเวลาเราได้ช่วยน้องคนนี้ “หนูขอบคุณพี่มาก ๆ เลย หนูเข้าใจแล้ว” แค่ประโยคนี้ก็หายปวดหลังแล้วครับ
เรื่องโปรแกรมคำนวณคะแนน ที่เว็บเด็กดีเขาจะวางคอนเซปต์แบบนี้ครับ “เราทำยังไงก็ได้ให้ช่วยน้อง” อย่างโปรแกรมคำนวณคะแนนเนี่ย ตอนแรกก็เกิดจากการที่น้อง ๆ มาถามกันในเว็บ Dek-D ว่าคณะนี้ ๆ มันคำนวณคะแนนยังไง เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราเป็นคนไม่เก่งเลข ให้เรามานั่งเอาทศนิยม 4 ตำแหน่งมาคูณแล้วก็มาหาร สอบ 7 วิชาก็ต้องมาทำแบบนี้ 7 วิชาเนี่ย มันงง! ก็เลยคุยกันว่ามาทำโปรแกรมคำนวณคะแนนกัน เว็บ Dek-D เราคือสายไอทีอยู่แล้ว แล้วเราก็รู้สูตร งั้นเราก็ทำโปรแกรมคำนวณคะแนนมาเลยแล้วกัน
แล้วเราก็เห็นอีกเวลาที่น้องเขาคุยกัน เขาจะชอบถามว่าคะแนนเรามันสมัครคณะไหนได้บ้าง เราก็เลยพยายามหาฟังก์ชันต่าง ๆ ที่มันช่วยน้อง ๆ เช่น น้องกรอกคะแนนมาเลย แล้วก็เลือกมาเลยว่าอยากเข้าคณะไหน โปรแกรมก็จะบอกเลยว่าคะแนนของน้องน่าจะมีโอกาสติดคณะไหนได้บ้าง ก็น่าจะเป็นตัวช่วยมากกว่า ยิ่งสมัยก่อนทุกอย่างจะอธิบายผ่านหนังสือ ผ่านระเบียบการเล่มหนา ๆ ทั้งหมดแลย แล้วก็ไม่รู้ว่ามันอธิบายยากหรือยังไง เพราะยิ่งอ่านยิ่งงงอะครับ บางทีเราเหมือนจะเข้าใจแล้ว แต่ก็เอ๊ะ! มันใช่เหมือนที่เราเข้าใจหรือเปล่าอะไรประมาณนี้
ตอนทำตัวโปรแกรมคำนวณคะแนนเนี่ยเหนื่อยมากนะครับ แล้วเวลาทำเนี่ยทำในเอกสาร Excel 20 มหาวิทยาลัยก็ต้องมี 20 ฟอร์ม จากนั้นก็ต้องมานั่งไล่ตรวจ บางทีตรวจกัน 2 คนก็มีนะครับป้องกันความผิดพลาด เหนื่อยมากแต่เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ภูมิใจมาก น้อง ๆ หลายคนเวลาสอบติดก็จะมาขอบคุณตัวโปรแกรมนี้ คือมันไม่ได้ช่วยให้เขาสอบติดหรอก แต่มันช่วยให้เขามีข้อมูลในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย มันช่วยให้เขารู้ว่าคะแนนอย่างเขาเนี่ยมันก็ยื่นได้นะ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการเลย บางคนเห็นคะแนนตัวเองแล้วก็คิดไปก่อนว่าฉันไปไหนไม่ได้แล้วแหละ แต่ตัวโปรแกรมคำนวณคะแนนมันทำให้น้องเห็นทางเลือกมากขึ้น
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุ ดในการทำหน้าที่ตรงนี้ และมีวิธีก้าวข้ามความยากนั้ นมาอย่างไร
แรก ๆ พี่ทำอะ รู้สึกว่าไม่ยากเลยนะ แล้วก็สนุก แต่หลัง ๆ เนี่ยเริ่มรู้สึกว่าข้อมูลมันซับซ้อนมากขึ้น แล้วก็ตัวน้อง ๆ เองมีปัญหามากขึ้น อย่างเช่นปี 65 ปี 66 ที่ผ่านมา พี่จะสังเกตว่าตัวน้อง ๆ เริ่มมีปัญหา แบบที่เราไม่คาดคิดว่าเราจะเจอเคสอะไรประมาณนี้ เช่น มีความกดดันมาก จะบอกเลยว่าทุกวันนี้เด็กเครียดกว่าเดิมมาก ๆ นะครับ ไม่รู้ว่าสมัยก่อนเด็กไม่มีโซเชียลมีเดียหรือเปล่าเด็กเลยไม่ได้ระบาย แต่ทุกวันนี้พี่รู้สึกว่าเด็กที่มาปรึกษาทุกคนมาด้วยแบบสภาพเครียด มาแบบกดดันมากครับ
ทำให้สิ่งที่ยากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือรู้สึกว่า หนึ่งเราเป็น Content Creator สองเราต้องเป็นพี่แนะแนว สามเราต้องเข้าใจในตัวเด็กด้วยอะ บางคำถามถามมาไม่ใช่ว่าเราจะตอบได้แบบแพตเทิร์น เขามาด้วยอารมณ์อ่อนไหวมาก ๆ เราจะตอบยังไงไม่ให้เขาเสียกำลังใจ

เรื่องเศรษฐกิจก็เห็นบ่อยนะครับในช่วงโควิด แต่ก่อนพี่ไม่ค่อยเจอคำถามที่แบบ “พี่คะถ้าหนูจบม.6 แล้ว หนูหยุดไป 1 ปีแล้วค่อยมาเรียนต่อมันทำได้ไหม” ก็เลยบอกทำได้ครับ แต่น้องติดปัญหาตรงไหน ก็ได้คำตอบว่าต้องออกไปทำงาน นี่คือปัญหาที่พี่ไม่เคยเจอในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ตามหน้าที่ที่เป็นพี่แนะแนว เป็นที่ปรึกษา จุดที่ยากคือเราจะทำยังไงให้น้องเห็นอนาคต ให้น้องไม่ทิ้งการเรียน ให้น้องสู้ต่อ สำหรับพี่ พี่ไม่ใช่สายพี่อ้อยพี่ฉอดที่ให้กำลังใจ เป็นสายคอนเทนต์สายข้อมูล ถ้ามาถาม GAT-PAT คืออะไร TGAT-TPAT คืออะไรอันนี้พี่ตอบได้ แต่หลัง ๆ เริ่มมาแนวให้คำปรึกษาขอกำลังใจ พี่เองก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน เวลามีน้องมาด้วยอารมณ์แบบนี้เราควรจะต้องพูดยังไง จนเราคิดว่าต้องไปเรียนศาสตร์ด้านจิตวิทยาเพิ่มหรือเปล่าเนี่ย นี่คือจุดที่พี่รู้สึกยากครับ
จนหลัง ๆ เริ่มแบบว่าเอาล่ะ เราก็ตอบเป็นตัวของตัวเอง แต่เราต้องไม่ไปตัดสินใคร อย่างน้อง ๆ หลายคนเจอปัญหาปิดรับสมัครแล้วแต่สมัครไม่ทัน เวลาเขาไปถามคนอื่นก็จะโดนด่านะ ว่ารับสมัครเป็นเดือนทำไมสมัครไม่ทันเธอนี่แย่มาก อะไรประมาณนี้ แต่พี่จะไม่ทำแบบนั้น ก็อาจจะบอกว่าตอนนี้คือมันปิดรับสมัครแล้ว อาจจะต้องรอปีหน้า หรือน้องก็ยังมีทางเลือกคือไปหามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ใช้คะแนนแทน เราก็โยนตัวโปรแกรมของเราให้น้องไปใช้เลย ก็กลายเป็นว่าเราพยายามสร้างทางเลือกให้เขา จุดที่ก้าวข้ามความยากนั้นอะ เราก็หาเทคโนโลยีที่ Dek-D เราถนัดแล้วก็คอนเทนต์ที่เรารู้เนี่ยช่วยน้อง ๆ ไป
เวลาคุยกับน้องในเคสแบบนี้ เราก็จะคุยผ่านอินบ็อกซ์ในเฟซบุ๊กใช่ไหมครับ เพราะน้องเขาจะทักมาในเพจ บางทีเราก็แบบอยากคุยตัวต่อตัวจังเลย เพราะเรื่องแบบนี้คุยผ่านตัวหนังสือในข้อความกลัวน้องเข้าใจผิด ก็จะบอกน้องบอกว่า เราไม่ได้บอกว่าเราเข้าใจนะ แต่เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา น้องไม่ต้องไปเครียดว่าเราไม่ได้เรียนต่อ แต่เราก็จะบอกน้องตลอดว่าจริง ๆ เรื่องของการสอบเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเนี่ย ถ้าน้องอยากเรียน มันมีทางเลือกนะ คือบางคนเข้าใจว่าเข้าเรียนมหาวิทยาลัยค่าเทอมจะต้อง 2-3 หมื่น แต่มันก็มีมหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมหลักพันเหมือนกัน
มีน้องคนหนึ่งที่พี่เคยแนะนำว่าไปเรียน มสธ. (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) ไหม เพราะว่าจังหวัดของเขามีมสธ. อยู่ด้วย ก็อธิบายไปว่ามสธ. มันไม่ต้องไปเรียนนะ ไปสอบอย่างเดียว เขาก็จะส่งหนังสือมาที่บ้านแล้วเราก็อ่านไปสอบ ก็ดีใจมากที่ในที่สุดน้องเขาเรียนมสธ.
มันเลยสะท้อนว่าจริง ๆ แล้วน้องเขาก็ขาดข้อมูล ถ้าเขารู้ว่ามันมีช่องทางนี้เขาก็ได้เรียน แต่ก็ไม่รู้ว่ายังมีเด็กอีกหลายคนหรือเปล่าที่จำเป็นที่จะต้องไปทำงานก่อน แล้วไม่รู้ว่ามีมหาวิทยาลัยที่เป็นแบบนี้ ก็เลยอาจจะหลุดจากการเรียนไปเลย ซึ่งลึก ๆ พี่ก็ห่วงน้องกลุ่มนี้ตรงที่ว่าบางคนได้ไปทำงานแล้ว พอได้ทำงานเหมือนพี่นี่แหละ การที่เราจบป.ตรีแล้วได้มาทำงาน การจะเรียนต่อป.โทเนี่ยพี่คิดแล้วคิดอีกนะ มันห่าง มันก็จะลุยไปสายงานเลย พี่ก็กลัวน้อง ๆ จะทิ้งเรื่องการเรียนต่อไปเลย

แล้วในมุมของเด็กบางคน เขาก็จะถามว่า “พี่ลาเต้คะ พี่ว่าใบปริญญาสำคัญไหม” คำตอบเราก็ไม่รู้นะว่าใบปริญญาสำคัญหรือไม่สำคัญ อันนี้เราก็พูดในมุมของเรา พี่ก็บอกว่า พี่ว่าความสามารถสำคัญกว่าใบปริญญานะในมุมของพี่ แต่ทุกวันนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าการที่เราจะเข้าไปทำงานได้เนี่ย ทุกหน่วยงานเขาก็อยากได้ใบที่การันตีว่าเราจบการศึกษา สังคมทุกวันนี้ยังต้องการใบปริญญาอยู่ การที่เราเอาความสามารถนำไปก่อนโดยที่ไม่มีใบปริญญา ประสบความสำเร็จไหมก็ประสบความสำเร็จได้ แต่มันอาจจะต้องชาเลนจ์ อาจจะต้องเหนื่อย อาจจะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่า
ฉะนั้น ทำยังไงก็ได้ให้น้องเรียน ให้มีใบปริญญามาเป็นพื้นฐาน เราจะได้ไปต่อยอดความสำเร็จของเรา ก็จะพยายามพูดให้น้องเห็นภาพ เหมือนนึกภาพตอนเราอยู่ม.ปลาย เราก็ยังไม่เก็ตเหมือนกันเรื่องใบปริญญา เราจะเรียนต่อไม่เรียนต่อ หรือเราไปทำงานดีกว่าได้เงิน เราก็จะเอามุมที่เราเข้าใจไปอธิบายน้องครับผม
บทบาทการทำงานในออฟฟิศ Dek-D กับการเป็นคนดังของเด็ก ๆ แตกต่างกันอย่างไร
จริง ๆ ไม่อยากให้เรียกคนดังเลยครับ พี่ก็นิยามตัวเองไม่ถูกนะ แต่มีคนหนึ่งเคยบอกว่าพี่ลาเต้เป็นเหมือน “ภาพจำ” ซึ่งพี่ก็รู้สึกว่าพี่เข้าใกล้คำว่าภาพจำมากกว่าคนดังนะ เพราะว่าพี่ก็รู้สึกว่าเราไม่โด่งดังถึงขนาดที่เป็นคนดังได้ แต่ว่าถ้าพูดถึงเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักข่าวจะนึกถึงพี่ มันก็กลายเป็นภาพจำ พูดถึงเรื่องเวลาเราจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราต้องไปปรึกษาใคร อ้อ! ปรึกษาพี่ลาเต้ หรือมีนะภาพยนตร์บางเรื่อง เขาทำเกี่ยวกับเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีกิมมิก มีบริบท มีปัจจัยที่เกี่ยวกับสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็จะเอาพี่เข้าไปใส่ในภาพยนตร์นั้น พี่ก็เลยคิดว่าพี่น่าจะเป็นภาพจำมากกว่าครับ

ถ้าถามว่าบทบาทการเป็นพนักงานออฟฟิศกับการเป็นพี่ลาเต้แตกต่างกันยังไง คือไม่แตกต่างกันมากนะครับ พี่ที่ออฟฟิศเนี่ยก็เหมือนเราก็เป็นพนักงานคนหนึ่ง แล้วก็ทำ Content Creator ส่วนเป็นพี่ลาเต้ก็เหมือนเป็นพี่แนะแนวคนหนึ่ง นิสัยเหมือนกัน ลักษณะการพูดอะไรก็เหมือนกัน พี่ทำงานออฟฟิศ เวลามีกิจกรรมอะไรพี่ก็จะได้รับหน้าที่อะไรคล้าย ๆ กับที่เป็นพี่แนะแนว
ถ้าถามว่ามีตรงไหนที่ต่างกันบ้าง พี่ก็มองว่าเวลาเราอยู่ออฟฟิศทุกคนคือเพื่อน แต่พอเราไปเป็นพี่ Dek-D ทุกคนเป็นน้อง ดังนั้น เรื่องของการวางตัว บางทีเราไม่เคยคิดว่าจะมีน้องที่ปลื้มเรามาก ๆ เวลาเราจะพูด เราจะคิด หรือเราจะทำอะไรคือน้องเขามองเราอยู่ หรือบางทีเราติดตลกเกินไปหรือเปล่า เวลาเราไปแนะแนวตามโรงเรียนต่าง ๆ จะมีน้องเข้ามาแบบหนูตามทวิตพี่ตลอด แล้วก็ตามไอจีด้วย เพราะหนูอยากรู้ว่าไลฟ์สไตล์พี่ในไอจีกับในทวิตเตอร์เหมือนกันไหม หรือผมเห็นในไบโอพี่เขียนว่าพี่ชอบวิ่งมาราธอน ผมก็ชอบวิ่งมาราธอน ผมก็ไปตามพี่ต่อ นี่ก็เลยว่าที่แตกต่างกันน่าจะแตกต่างกันที่เรื่องของการวางตัว ในออฟฟิศเราวางตัวเป็นเพื่อน แต่ในบทบาทพี่ลาเต้เราวางตัวเป็นพี่ครับ
ปัญหาที่สะท้อนมาจากเด็ก ๆ ปัญหาไหนที่น่าเศร้ามากที่ สุด
เอา 2 เรื่องแล้วกันครับ อันนี้ไม่รู้ว่าเศร้าหรือเปล่าแต่พี่ก็มองว่าเศร้านะ คือ 13 ปีที่แล้วเป็นยังไง 13 ปีผ่านมาก็ยังเป็นแบบนั้นครับ! ที่เหมือนกัน มีทุกปี คือเรื่องของการที่เด็กค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่อันนี้เราเข้าใจนะ เพราะว่าเราก็เป็นคนที่ผ่านการเรียนม.6 เราก็รู้สึกว่าชีวิตม.6 มันไปแบบตามมีตามเกิดอะของพี่นะ เลือกแผนการเรียนม.ปลาย ตอนที่พี่อยู่ม.3 ขึ้นม.4 จะเลือกแผนการเรียนไหน เอาจริง ๆ คือเป็นคนชอบวิชาสังคมมาก แต่แบบเพื่อนเรามันไปวิทย์-คณิตหมดเลย ถ้าเราไปเอาสายศิลป์-สังคมมันก็จะเป็นเพื่อนใหม่ เราไม่เอาเราอยากอยู่กับเพื่อน ก็ไปเรียนวิทย์-คณิตกับเพื่อน แล้วก็เหมือนเรียนแก้บนไปอย่างนั้นเลยครับ คือเรียนเพื่อให้มันจบ ๆ ไป เพราะเราก็ไม่ได้ชอบอะไรเลย
จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทุกวันนี้พี่รู้สึกว่าพี่โชคดีด้วยซ้ำนะที่พี่รู้ตัวเองว่าพี่เรียนคณะอะไร แต่เพื่อนพี่หลายคนพอเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วก็ตัดสินใจซิ่วออกมา พี่ก็ยังคุยกับเพื่อนเลยว่าซิ่วออกมามันก็ยังมีข้อดีนะที่แกรู้ตัวว่าแกไม่เหมาะกับคณะนี้ แล้วแกก็ซิ่วออกมา ดีกว่าแกฝืนไปอีก 4 ปี แล้วจบออกมาแกไม่รู้เลยว่าแกจะไปอยู่ไหน แล้วการที่เราเรียนในคณะที่มันไม่ใช่ ทำอะไรที่มันไม่ชอบ 4 ปีเต็มเนี่ย มันไม่ใช่แค่ว่าฝืนใจนะ สุขภาพจิตแกก็เสีย และแกอาจจะเปลี่ยนไปโดยที่แกไม่รู้ก็ได้ การที่ต้องทำอะไรที่ไม่ชอบ จิตใจห่อเหี่ยวอยู่ตลอดเนี่ย แน่นอนมันทำให้เราเปลี่ยนไปอยู่แล้วแต่เราอาจจะไม่รู้ตัว

พี่ก็เลยมองว่าเด็กไทยไม่ค่อยมีปัจจัยหรือไม่ค่อยมีอะไรที่เอื้อให้เด็กค้นหาตัวเอง จนกระทั่งหลัง ๆ เนี่ย เว็บไซต์ก็มี กูเกิลก็มี ก็เสิร์ชไปสิ แต่เสิร์ชไปมันก็เป็นข้อมูลดิบ ๆ ที่ไม่สามารถเอามาประยุกต์ได้ ทุกวันนี้เวลาพี่ไปบางโรงเรียน เขาก็ให้เด็กทำแบบทดสอบ พี่ก็ลองไปนั่งทำ นิสัยแบบนี้ถ้าเหตุการณ์แบบนี้จะทำแบบนี้ เฉลยเหมาะจะทำอาชีพอะไร คำตอบก็คือ เหมาะจะเป็นชาวนา เหมาะจะเป็นทหาร คืออาชีพมันยังเป็นอาชีพเมื่อ 13 ปีที่แล้วอะครับ คือทุกวันนี้มันต้องยูทูบเบอร์ เทรดหุ้น คือมันต้องเป็นแบบนี้ไปแล้ว แต่คือสื่อการสอนยังเป็นแบบ 13 ปีที่แล้วอยู่เลย มันก็เลยไม่เอื้อให้เด็กค้นหาตัวเอง
เราก็กลับมาคิดว่าเราถามเด็กเร็วเกินไปไหมว่าเด็กอยากเรียนคณะอะไร มันก็ไม่เร็วไปนะ เด็กเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมา 12 ปี เราเรียนตั้งแต่ป.1 ยันม.6 อะ คือ 12 ปีเนี่ยหลักสูตรไม่ได้สอนให้เรารู้ตัวเองเลยเหรอว่าเราเหมาะกับคณะอะไรหรือควรจะไปคณะไหน นี่ก็แบบใช่ ตอนม.3 คือหลักสูตรสอนแค่ว่าต้องทำการบ้านต้องส่ง ต้องเรียนให้ได้เกรดเยอะ ๆ แต่ไม่ได้ประยุกต์ ไม่ได้สอนอะไรเลย นี่ก็เลยเป็นอีกปัญหาที่พี่สะท้อนว่าน่าเศร้า แล้วก็คิดว่าในอีกหลายปีข้างหน้ามันก็ยังเป็นแบบนี้
คือทุกวันนี้ถามว่าเด็กอยากเป็นอะไร ถ้าเด็กตอบว่าอยากเป็นหมอ อันนี้ก็คือดูทุกคนจะชื่นชม แต่ถ้าถามใจของเขาจริง ๆ เนี่ย เขาอยากเป็นหมอเพราะว่าเขาอยากเป็นจริง ๆ หรือว่ารู้แค่ว่ามันมีอาชีพหมอ ก็เลยคิดว่าหมอมันท้าทายสุด เคยมีนะที่ไปแนะแนวแล้วมีแบบพี่ครับผมเตะฟุตบอลครับผมควรไปเข้าคณะไหนดี ผมชอบเตะฟุตบอล นี่ก็เลยแนะนำว่าที่มหิดลเนี่ยมันมีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มีเอกฟุตบอลเลยนะ ลองไหม เขาก็แบบมันมีแบบนี้ด้วยเหรอครับพี่
บางคนก็พี่ครับผมเป็นคนชอบฟังเพลงชอบเล่นดนตรีควรไปเรียนคณะไหนดี นี่ก็แนะนำว่าที่มหิดลก็มีดุริยางคศิลป์ แต่ดุริยางค์มันจะเป็นอีกแนวหนึ่ง ก็ต้องหาข้อมูลพวกคณะมนุษยศาสตร์ เอกสากล ดนตรีไทย ดนตรีตะวันตกอะไรให้เขา จนเขาแบบมันมีคณะแบบนี้ด้วยเหรออะไรประมาณนี้ครับ ก็เลยกลายเป็นว่าเด็กไม่ได้รู้ตัวเองว่าอยากทำอะไร บางคนก็ทุกอย่างเก่งหมดไม่มีอะไรโดดมาเลย หรือบางคนก็แบบว่าได้หมดค่ะได้หมด แต่พอเข้าไปจริง ๆ มันไม่ได้ไง อันนี้คือเรื่องแรกนะครับที่พี่รู้สึกว่าน่าเศร้า
อีกเรื่องหนึ่งพี่ก็รู้สึกว่าเด็กมีความกดดันมากขึ้น คือ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในเว็บ Dek-D ไม่ใช่แค่พี่คนเดียวนะ พี่ ๆ ทีมงานที่ทำงานด้วยกันเนี่ย เวลาเราได้รับการขอคำปรึกษาจากน้อง ๆ 2 ปีติดแล้วนะครับที่เราเจอน้องปลอมข้อมูลว่าตัวเองติดแต่จริง ๆ แล้วตัวเองไม่ติด ปีแรกจำได้ว่ามีผู้ปกครองทักมาในเพจเด็กดีว่าช่วยดูให้หน่อย ว่าทำไมระบบของทปอ. ถึงแย่แบบนี้ ลูกเลือกคณะนี้ไปแล้วไม่ติด เราก็เลยขอข้อมูลเขามาเพื่อที่จะประสานทปอ. ให้ ไม่ได้คุยกับน้องโดยตรงนะครับ คุยกับคุณแม่แล้วให้คุณแม่ขอข้อมูลน้องมา แล้วสตอรี่ก็ประมาณว่าทปอ. โทรไปขอโทษลูกว่าประกาศผลผิดก็เลยให้ติดคณะนี้แทน
ซึ่งก่อนที่จะไปถึงทปอ. เราก็ต้องนั่งสกรีนก่อน ปรากฎว่าพบว่าเขาปลอมแปลง เหมือนไปแคปเอาภาพจากเพื่อนที่ติดแล้วก็ไปเอาชื่อคณะมาแปะ นี่ก็เลยแจ้งคุณแม่ไป แต่ไม่ได้แจ้งว่าน้องปลอมแปลงนะครับ แล้วก็เอาไปบอกทปอ. ว่าอาจารย์ครับมันมีข้อมูลแบบนี้มา มันเป็นไปได้ไหมครับ อาจารย์เขาก็เอาเลขบัตรประชาชนไปค้น ปรากฎว่าน้องคนนี้เขาไม่ได้เลือกคณะตามที่เขาบอกแม่นะ แล้วอีเมลที่เขาบอกว่ามีอีเมลส่งไป เราก็เอาอีเมลมาดู คือมันไม่ใช่อีเมลของหน่วยงานราชการอะ เป็นอีเมลที่เมกขึ้นมา ก็เลยต้องบอกคุณแม่เขาไปว่าตรวจสอบกับทปอ. แล้ว ข้อมูลที่ได้มาไม่เป็นความจริง อยากให้คุณแม่ลองตรวจสอบจากน้องอีกที เราก็คุยกันในทีมว่าบอกคุณแม่แค่นี้ เราไม่ควรจะไปบอกว่าลูกเขาโกหกแม่
เคสนี้เจอ 2 ปีติดเลยนะครับ แล้ว 2 ปีเป็นผู้ปกครองกับเด็กทั้งคู่เลย ผู้ปกครองปีแรกเป็นพยาบาลด้วย แล้วลูกก็เมกว่าตัวเองติดแพทย์ แล้วปีที่ 2 เป็นน้องผู้ชาย เมกว่าระบบผิด ทำให้ตัวเองไปติดเภสัชไม่ติดแพทย์ แต่เท่าที่สังเกตได้นะทั้ง 2 เคสที่มาเรื่องนี้ จุดที่เหมือนกันเลยก็คือ พ่อแม่จะค่อนข้างดุ เวลาคุยกับพ่อแม่คือจะเข้าใจเลย เวลาท่านถามแต่ละคำถามก็คือจะดูดุ นี่ก็เลยคิดว่าแล้วถ้าพ่อแม่รู้ความจริงมันจะเกิดอะไรขึ้นเนี่ย เคสนี้ไม่เคยเจอ เพิ่งมาเจอ 2 ปีล่าสุด แบบ 2 ปีติดเลย ในมุมเด็กก็คือไม่ควรทำ แต่อะไรที่ทำให้เขาจำเป็นที่จะต้องทำ นี่ก็คุยกันในทีมงานอยู่เลยครับว่าบทสรุปน้องเขาจะเป็นยังไง ถ้าพ่อแม่เขารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่เฟกขึ้นมาเขาจะยังไงต่อ

นี่ก็ว่าแบบเศร้าใจเนอะ คุยกันทีม 3-4 วันเลยนะ ใจหนึ่งเราก็โกรธนะ เราเสียเวลากับน้องเขามากเลย น้องคนหนึ่งกว่าเราจะตรวจสอบข้อมูลได้ เพราะว่าเรากลัวว่าระบบมันจะผิดจริงมันทำให้น้องไม่ได้ในคณะที่น้องเลือกไว้ หมดไป 3-4 วันมัวแต่รวบรวมข้อมูลให้น้อง แล้วก็มารู้ว่าน้องปลอมข้อมูลเนี่ย เวลาเราเอาไปช่วยน้องคนอื่นได้เยอะมาก แต่อีกใจมันก็เป็นเรื่องที่ก็น่าสงสารเขานะว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจทำแบบนั้น เขาคงไม่มีความสุขหรอก คิดในมุมน้อง อะไรที่ทำให้น้องทำแบบนี้ได้ คือมันต้องใช้ความกล้าพอสมควรเลยนะ แล้วการที่พ่อแม่เขาทักมาในเว็บ Dek-D แล้วเราบอกเขาไปว่าให้ไปตรวจสอบกับลูก แน่นอนว่าเขาก็ต้องรู้ความจริง แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
แล้วก็มีเคสหนึ่งอันนี้ก็หวือหวาเหมือนกันครับ คือในระบบ myTCAS เนี่ยเขาจะให้เข้าไปยืนยันสิทธิ์ มันไม่เหมือนรุ่นเราครับ รุ่นเราคือสอบผ่านการสัมภาษณ์ก็ถือว่าผ่านไปเลยใช่ไหมครับ แต่รุ่นหลัง ๆ เนี่ยสอบสัมภาษณ์แล้วยังไม่ติดนะจะต้องไปกดยืนยันสิทธิ์อีก แล้วปรากฏว่ากดยืนยันสิทธิ์เนี่ย ใครกดก็ได้ขอแค่มีรหัส ปรากฏว่าคุณแม่ไปกดให้ คุณแม่ก็ไปกดในคณะที่คุณแม่อยากให้เรียน น้องก็เลยทักมาถาม พอดีมันกดได้ 3 ครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายดันเป็นคุณแม่กดให้มันก็เลยไม่มีครั้งที่ 4 หนูสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่าคะ
“หนูสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่าคะ” ประโยคนี้พี่น้ำตาตกในเลย ก็ไปปรึกษาทปอ. ทปอ. บอกว่าในระบบมันไม่สามารถบอกได้เลยว่าคนที่เข้ามากดเป็นคุณแม่หรือเป็นคุณลูก ดังนั้น ก็ให้คุณลูกผิดเองแหละที่ให้รหัสกับคุณแม่ไป ถ้าลูกยืนยันว่าแม่มากดให้อะนะ ก็เลยไม่รู้ว่าเคสนี้จบยังไง คือมันเป็นรอบท้าย ๆ แล้วด้วย ไม่รู้ว่าน้องเขาได้เรียนในคณะนั้นหรือว่ารอซิ่ว แล้วแม่เขาก็กะให้ลูกเรียนในคณะที่ตัวเองกดเลย เหมือนมัดมือชกแบบนั้นเลย
ความในใจที่อยากจะฝาก ในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างน้ อง ๆ หนู ๆ กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้ องกับหลักสูตรการศึกษา
ก็ฝาก 2 กลุ่มแล้วกันครับ กลุ่มแรกฝากผู้ใหญ่ก่อนนะครับ พี่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนเข้าใจเด็กนะ เข้าใจในมุมที่ว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเด็กแล้วเราผ่านอะไรมา เข้าใจดีว่าตอนเราเรียนม.6 เรามีความรู้สึกยังไง แล้วเรารู้สึกว่าอะไรมันคือสิ่งที่ขาดตอนเราเรียนอยู่ม.6 อยากให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเนี่ยทบทวนตรงนี้ ทบทวนกับตัวเองว่าตอนเราอยู่ม.6 เราเจออะไรมา เพื่อนเราเจออะไรมา แล้วก็ทบทวนกับโครงสร้างที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ว่าโครงสร้างมันติดตรงไหน มันเกิดอะไรที่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันวนอยู่แบบนี้ ทำไมถึงเปลี่ยนบ่อยทำไมถึงเปลี่ยนถี่ อยากให้ทบทวน เชื่อว่าถ้าผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านเป็นเด็กม.6 แล้วระบบเปลี่ยนบ่อย ๆ ทุกท่านก็ต้องนอยด์ ทุกท่านก็ต้องเครียด
ฉะนั้น อยากให้นึกถึงตรงนี้ ส่วนตัวมองว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านที่เขาไปสัมผัส ทุกคนมีเจตนที่ดีในการทำให้ระบบดีขึ้นนะครับ แต่ด้วยระบบราชการอะครับ อย่าง TCAS ที่ประชุมทปอ. มันไม่ได้อยู่กันที 10-20 ปี มันอยู่ตามวาระครับ พอคนนี้หมดวาระ คนใหม่มาเป็นอีกแบบหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเป็นแบบนี้
แล้วอีกอย่างคำว่าการศึกษาเนี่ย ตอนนี้มีหลายคนพูดว่าการศึกษาต้องแก้ก็แบบต้องแก้ที่เด็ก จริง ๆ แล้วคำว่าการศึกษามันรวมหมดนะ คุณครู โรงเรียน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้ที่มีอำนาจในเชิงนโยบาย ทุกวันนี้ครูก็เหมือนนักเรียน นโยบายวางมายังไงครูก็ต้องทำตามแบบนั้น ครูก็มีการบ้านเหมือนที่นักเรียนมีนี่แหละ ดังนั้น คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเนี่ย ตัวพี่ว่าเขาเข้าใจดีนะครับ แต่เขาอาจจะมีบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลย หรือยังไงก็อาจจะเริ่ม อย่างน้อยคือเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละนิดทีละน้อย ปลายทางมันก็อาจจะดีขึ้นครับ อันนี้ก็ฝากถึงผู้ใหญ่ครับ

แล้วก็อันสุดท้ายฝากถึงน้อง ๆ ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะปีไหนก็ตาม พี่อยากจะบอกว่า “ตราบใดที่ผลยังไม่ออก เรายังมีความหวัง” เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนอาจจะไม่อินนะ หนูได้กำลังใจแล้วยังไง กำลังใจแล้วมันช่วยอะไรหนูได้ ไม่ว่าจะมีพันคนหมื่นคนมาให้กำลังใจน้องก็ไม่สู้น้องให้กำลังใจตัวเอง อย่าลืมว่าอยากได้กำลังใจจากคนอื่น คนอื่นให้กำลังใจเรา แต่เราต้องให้กำลังใจตัวเอง และทุกคนต้องเชื่อมั่น!
ตอนนี้ทุกคนแบบระบบการศึกษามันนาน มันเหนื่อย เด็กไม่ได้อยู่แค่เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กต้องทำการบ้าน เด็กต้องเกรด ม.5 ม.6 ต้องคุมกีฬาสี เข้าค่ายพักแรม ไปคุมน้องอะไรแบบนี้ มันเยอะไปหมด บางคนแบบพี่หนูเหนื่อย หนูไม่ไหวแล้ว หนูติดคณะไหนหนูก็เอาคณะนั้นแหละ พี่จะบอกเลยว่า “ไม่ได้นะครับ!” คือถ้าเราสอบติดเราดีใจแค่ 3-4 วันเท่านั้นแหละ แต่ถ้าติดในคณะที่มันไม่ใช่เนี่ย อีก 4 ปีที่เหลือคือนรกเลยนะน้อง คือน้องจะไม่มีความสุขเลย
ดังนั้น ให้กำลังใจตัวเอง แล้วก็วางแผนให้ดี สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคิดเสมอก็คือ ถ้าเราคิดว่าเราไม่ติดก็ต้องเผื่อใจให้คิดด้วยว่าเราก็มีโอกาสติด หลายคนจะเข้าใจว่าเราคะแนนเท่านี้ไม่ติดหรอก พี่อยากจะบอกว่าทุกคนมีที่เรียน แต่แค่วันนี้น้องอาจจะมองไม่เห็นทางเลือกของตัวเองว่าจริง ๆ แล้วมันไปอีกทางได้แต่ปลายทางมันเหมือนกัน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ใช่ มันเป็นความสุขของเราอยู่แล้ว แต่ปลายทางของเราก็คือเราได้เข้าไปเรียนในคณะที่มันมีความสุข มันต่อยอดกับอาชีพเราหรือเปล่า
ในฐานะที่พี่เรียนจบแล้วก็ทำงาน พี่จะบอกว่า การเรียนมหาวิทยาลัยคือสิ่งที่จะต่อยอดอาชีพของน้อง ๆ ฉะนั้น พี่ไม่สนับสนุนให้น้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยหรือคณะที่รู้สึกว่าเรียนไปก่อน หนูเรียนได้ แต่นึกไม่ออกเลยว่าเรียนจบไปแล้วทำอะไร คือจบแน่นอนแหละแต่นึกภาพตัวเองไม่ออก น้องตัดไปดูที่เพื่อนอีกคนหนึ่งที่เขาแบบสนุกกับการเรียนมาก อาจารย์ให้งานมาทำ 5 เราทำ 10 เลย เรารู้สึกว่าเราสนุก เราอยากครีเอต นั่นแหละคือการปั้นเด็กในมหาวิทยาลัย มันจะช่วยพัฒนาความสามารถของน้องได้สุดความสามารถเลย เรื่องของความเครียดความเหนื่อยทุกคนก็มีเหมือนกัน เดี๋ยวมันก็จะผ่านไปนะครับ ตราบใดที่ผลยังไม่ออกก็ต้องมีความหวังนะครับ
ฝากงาน Dek-D’s TCAS Fair สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย
สำหรับงาน Dek-D’s TCAS Fair คอนเซปต์ของเว็บ Dek-D พี่ ๆ หัวหน้าเขาก็จะพูดกรอกหูอยู่แล้วว่า “เราคือตัวช่วยของเด็ก” ช่วยทำโปรแกรมคำนวณคะแนนให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น มีข้อมูลได้มากขึ้น เราช่วยตอบคำถามน้อง ๆ ช่วยประสานให้น้อง ๆ อำนวยความสะดวกมากขึ้น งาน Dek-D’s TCAS Fair เป็นอีกหนึ่งงานที่เราก็ค่อนข้างภูมิใจ เพราะว่าเวลาน้อง ๆ ไปแล้ว น้อง ๆ ได้เจอรุ่นพี่โดยตรง ก็จะช่วยน้องตัดสินใจเรื่องเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น
แล้วที่สำคัญงานนี้ก็คือเป็นงานที่รวมเอารุ่นพี่คณะต่าง ๆ มาอยู่ในงานเดียวกัน แล้วก็บูธมหาวิทยาลัยหลาย ๆ บูธอยู่ในงานเดียวกัน แล้วก็แต่ละมหาวิทยาลัยก็มาเปิดบูธต้อนรับลูกค้าเต็มที่ สมัครที่งานก็จะได้ทุนอะไรแบบนี้ บางทีเราเดินผ่านบูธเรายังรู้สึกว่าน่าสนใจ น่าสมัครเนอะ โปรโมชันเย้ายวนมากเลย ซึ่งมันเหมือนงาน open house แหละ แต่แค่แต่ละมหาวิทยาลัยมารวมกัน พี่ชอบตรงที่ว่าเราได้คุยกับรุ่นพี่ ซึ่งการได้คุยกับรุ่นพี่มันได้อรรถรสแล้วก็ช่วยให้น้อง ๆ มีข้อมูลในการตัดสินใจ
อย่างพี่เขียนบทความแนะนำคณะนิเทศศาสตร์ คงไม่แนะนำในสิ่งที่ไม่ดีหรอกเนอะ แต่เวลาน้อง ๆ ไปคุยกับรุ่นพี่ เวลารุ่นพี่เขาแนะนำ ประมาณว่าถ้าน้องมาเรียนนิเทศฯ ไม่เก่งเลขคือน้องเหมาะ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่แอคทีฟไม่เหมาะ อย่างเอกโฆษณาน้องก็จะต้องครีเอตมาก ๆ มันทำให้เราได้เห็นด้านมืด มันไม่ใช่ด้านมืดของคณะนะ มันคือจุดที่มันไม่ได้อยู่ในตำรา พี่ก็เลยอยากให้น้อง ๆ มา แล้วก็ดีใจตรงที่ว่าน้อง ๆ หลายคนมามันช่วยให้น้อง ๆ มีข้อมูลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยเอาฟีดแบ็กจากรุ่นพี่ปีก่อน ๆ มาโฆษณาแล้วกันครับ
ก็เชิญชวนน้อง ๆ มากันนะครับ ใน 1 ปีมันจะมี 2 ครั้ง ก็คือทุก ๆ ปิดเทอม เมษายนกับตุลาคม ก็รอติดตามครับ งาน Dek-D’s TCAS Fair มากันเยอะ ๆ เข้าฟรีนะครับ ที่ไบเทค บางนาครับ