หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 วันเวลาผ่านมาถึงปีที่สี่ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะครบวาระในอีก 3 วัน หากแต่ได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการเลือกตั้งออกมาก่อน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับนักการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง อันได้แก่การนับวันในการสังกัดพรรคที่จะกำหนดไว้ที่ 30 วัน ซึ่งทำให้นักการเมืองที่ย้ายพรรคกันเป็นว่าเล่นในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ต้องติดปัญหา เพราะถ้าเป็นรัฐบาลครบวาระ การย้ายพรรคของนักการเมืองต้องอยู่กับสังกัดพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย 90 วัน แต่ถ้าหากเป็นการยุบสภาฯ ไม่ใช่รัฐบาลครบวาระ ข้อกำหนดระบุไว้ว่าต้องป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อยสุดไม่เกิน 30 วันนับจนถึงวันเลือกตั้ง
อีกประการที่ต้องยุบสภาฯ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการใช้งบประมาณหาเสียงไม่เกินไปจากที่ กกต. กำหนด ซึ่งการยุบสภาฯ ทำให้การนับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและ ส.ส. จะถูกนับจากวันที่ประกาศยุบสภาฯ โดยก่อนหน้านี้ที่มีการใช้เงินในการโฆษณาหาเสียงจะไม่ถูกนำมานับว่าเป็นค่าใช้จ่าย
วันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และมีผลทันที ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดการเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45-60 วัน โดยภายใน 5 วันหลังจากยุบสภาฯ ทาง กกต. จะออกประกาศวันเลือกตั้งและวันเปิดรับสมัคร ส.ส. ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ ครม. รักษาการ โดยมีข้อจำกัดดังนี้
- ไม่สามารถอนุมัติโครงการที่มีความผูกพันต่อ ครม. ชุดใหม่
- ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้
- ไม่สามารถอนุมัติงบฯ
- ไม่สามารถใช้ทรัพยากรหรือบุคคลของรัฐเพื่อการเลือกตั้ง
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าการประกาศรับสมัคร ส.ส. จะมีขึ้นในวันที่ 3-7 เมษายน และการเลือกตั้งทั่วไป มีการคาดการณ์ว่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม 2566 สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ของประเทศไทยจะเป็นครั้งที่ 27 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีจำนวน 52,322,824 คนโดยแบ่งเป็น
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18-25 ปี มีจำนวน 6,689,453 คน คิดเป็น 12.78 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 26-41 ปี มีจำนวน 15,103,892 คน คิดเป็น 28.87 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 42-57 ปี มีจำนวน 16,151,442 คน คิดเป็น 30.87 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 58-76 ปี มีจำนวน 11,844,939 คน คิดเป็น 22.64 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 77 ปีขึ้นไป มีจำนวน 2,533,098 คิดเป็น 4.84 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด