ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ได้รับความสนใจเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จิมมี คาร์เตอร์ ขอใช้สิทธิการรักษาแบบ Hospice Care (การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต) โดยก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวัย 98 ปี ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลบ่อยครั้ง หลังจากที่เคยเข้ารับการรักษามะเร็งในสมองในปี 2558 การตัดสินใจดังกล่าวของจิมมี คาร์เตอร์ นับเป็นการใช้สิทธิของผู้ป่วยที่จะเลือกการจากไปด้วยตนเองอย่างสงบ
การดูแลแบบประคับประคองในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือที่เรียกว่า Hospice Care นั้น ในเมืองไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ในเมืองไทยจะมีการดูแลในลักษณะที่คล้ายกันเรียกว่า Palliative Care อันเป็นการดูแลแบบประคับประคองเช่นกัน
การดูแลที่เรียกว่า Palliative Care คือการดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และปรับปรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการดูแลรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคเอง และ/หรืออาการข้างเคียงอื่น ๆ จากการรักษาโรคก็ได้ ดังนั้น การดูแลรักษาแบบประคับประคอง จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การดูแลตามอาการ (Supportive care) การดูแลแบบประคับประคองสามารถกระทำได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกระยะ
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยที่โรคมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย ทำให้มีข้อจำกัดในการรักษาเพื่อที่จะหายขาด การดูแลแบบประคับประคองจัดเป็นแนวทางสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว เช่น การบรรเทาความเจ็บปวด เป็นต้น
ทั้งนี้การดูแลแบบ Palliative Care ในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง แพทย์หญิงชุติมา สิมะสาธิตกุล หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เคยเปิดเผยผ่านทาง www.thaihealth.or.th ว่า
“สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง มีการพัฒนาระบบบริการด้านการดูแลแบบประคับประคองและเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ให้ผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมถึงประชาชนที่มารับบริการ ได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งยังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง และผู้คนส่วนใหญ่มักเห็นว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคองเข้าถึงการรักษาไม่ถึงร้อยละ 10 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้พบว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการพูดคุยสื่อสารกันแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างที่ผู้ป่วยต้องการจริง ๆ”
ในปัจจุบันยังมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care อยู่มาก การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ให้ผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้ป่วยได้เข้าใจว่า การดูแลแบบประคับประคองนั้น เป็นการรักษาที่สามารถให้ควบคู่ไปกับการรักษาหลักได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยค้นหาความต้องการสุดท้าย และสามารถวางแผนการดูแลตัวเองล่วงหน้าเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างที่ผู้ป่วยต้องการ
หากผู้ป่วยต้องการการรักษาแบบประคับประคอง สามารถแสดงความจำนงกับแพทย์หรือพยาบาลของท่านได้ โดยสามารถใช้ได้ในทุกคน ทุกสิทธิ์การรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อมูลจาก : สสส., www.thaihealth.or.th