ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนทำเรื่อง “ยื่นภาษี” ฉบับอัปเดต

ช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปี คือช่วงเวลาคนวัยทำงานคุ้นเคยดี ภาระหน้าที่ของ “การยื่นภาษี” วนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งการยื่นภาษีถือเป็นหน้าที่ของประชนชาวไทยผู้มีรายได้ทุกคน โดยผู้เสียภาษีกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. 90/91 ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ และลูกจ้างตามสัญญาจ้างทั้งหลาย ว่าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือนมกราคมจนเดือนมีนาคมของปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานและมีรายได้เป็นของตนเองเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ในเวลานี้ที่เป็นการยื่นภาษีของปี 2565 จึงเป็นการยื่นภาษีครั้งแรกในชีวิต หรือใครบางคนอาจจะทำงานมาสักพักแล้วแต่อาจไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน แม้กระทั่งคนที่เคยยื่นภาษีทุกปีแต่ก็มีบางอย่างที่ลืมเลือนหรือจำสับสนไปบ้าง Tonkit360 จึงจะมาอัปเดตข้อมูลและคำถามเกี่ยวกับภาษีที่ผู้เสียภาษีควรรู้ ก่อนที่จะทำเรื่องยื่นภาษี

ยื่นภาษี ≠ เสียภาษี

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “การยื่นภาษี” กับ “การเสียภาษี” ให้เข้าใจเสียก่อน เพราะผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ “ยื่นภาษี” แต่ไม่ได้หมายความว่าต้อง “เสียภาษี” กันทุกคน เพราะคนที่จะเสียภาษี คือคนที่ยื่นภาษีแล้วพบว่ามีเงินได้หรือมีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น โดยอัตราการเสียภาษีจะคำนวณจากเงินได้สุทธิที่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากหักลบทุกอย่างแล้ว เงินได้ของคุณอยู่ในขั้นได้รับการยกเว้นภาษี คุณก็ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือถ้าคุณจ่ายไปแล้ว คุณก็จะได้เงินคืน

นั่นหมายความว่าตามกฎหมาย แม้แต่บุคคลที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ก็ยังมีหน้าที่ “ยื่นแบบภาษี” เหมือนกับผู้ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามปกติทุกอย่าง เพื่อเป็นการแสดงตนถึงการเป็นผู้ที่มีรายได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้เป็นหลักฐานเวลายื่นทำธุรกรรมในอนาคต เพื่อที่จะแสดงถึงรายได้ของบุคคล

สูตรที่ง่ายที่สุดในการคำนวณรายได้สุทธิ คือ เงินได้ทั้งปี-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน=เงินได้สุทธิ

โดย ค่าใช้จ่ายในที่นี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เป็นต้นทุนสำหรับการทำงาน ทุกอาชีพที่สร้างรายได้ จะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างรายได้เสมอ

  • ค่าใช้จ่าย คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่คุณได้รับ เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ เช่น เงินได้จากค่าเช่า เงินได้จากเงินเดือน เงินได้จากค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ ซึ่งไม่เหมือนกับ ค่าลดหย่อน โดยคุณสามารถเช็กได้ว่าเงินได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
  • ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายมอบให้โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของผู้เสียภาษีแต่ละคน เช่น มีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น โดยคุณสามารถเช็กรายการลดหย่อนภาษีของคุณว่าในปีภาษี 2565 ที่กำลังจะทำเรื่องยื่นภาษีอยู่นี้ สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง

หลังจากคุณคำนวณรายได้สุทธิที่หักทุกอย่างออกแล้ว คุณสามารถนำมาเทียบกับบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เริ่มใช้ปีภาษี 2560 ว่าคุณต้องเสียภาษีเท่าไร ดังนี้

  • เงินสุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • เงินสุทธิ 150,001 – 300,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 5
  • เงินสุทธิ 300,001 – 500,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 10
  • เงินสุทธิ 500,001 – 750,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 15
  • เงินสุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 20
  • เงินสุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 25
  • เงินสุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 30
  • เงินสุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราเสียภาษีร้อยละ 35

ทำไมต้อง “ยื่น” ภาษีด้วย

ถ้าหากคุณเป็นบุคคลผู้มีรายได้ (หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีงานทำ) คุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแสดงรายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี เพราะ “การยื่นภาษี” เป็นข้อกำหนดในกฎหมายสรรพากร ว่าด้วยประชาชนคนไทยจำเป็นต้องมีการยื่นภาษีเพื่อแสดงรายได้ และให้รัฐมีฐานข้อมูลรายได้ของคุณ ในอนาคต หากคุณอาจต้องทำธุรกรรมทางการเงิน และต้องใช้เอกสารสำคัญจากทางราชการว่าเป็นผู้มีรายได้ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยยืนยันว่าคุณเป็นคนที่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงิน แต่ถ้าใครที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ภาษีเหล่านั้นจะถูกนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

ส่วนการเสียภาษีนั้น จะเป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนดว่าต้องจ่ายเท่านั้น โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คุณจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อคุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท/ปี เท่านั้น ดังนั้น หากคุณคำนวณหาเงินได้สุทธิแล้ว พบว่าเงินได้สุทธิของคุณไม่เกิน 150,000 บาท/ปี แปลว่า คุณมีหน้าที่ยื่นภาษีเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่เสียภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้าคำนวณเงินได้สุทธิแล้วพบว่า คุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท/ปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

มีงานทำ มีรายได้ แต่ไม่ยื่นภาษีได้หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะถ้าคุณเป็นผู้ที่มีงานทำ และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดว่า “ต้องยื่น” คุณก็ต้องยื่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าคุณอาจมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม ซึ่งมีเพียงกรณีเดียวที่คุณมีรายได้ แต่ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ คุณเป็นผู้มีรายได้ต่ำ คือ มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท/เดือน หรือมีรายได้รวมทั้งปีภาษีไม่เกิน 120,000 บาท ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คุณไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารายได้ของคุณจะเป็นรายได้ประเภทที่ต้องเสียภาษี หรือรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (มีรายได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี) คุณก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี ยกเว้นกรณีรายได้ต่ำไม่ถึง 10,000 บาท/เดือน หรือไม่ถึง 120,000 บาท/ปี เพียงกรณีเดียว

การไม่ยื่นภาษี มีความผิด!

เพราะกฏหมายกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ยื่น แปลว่าคุณทำผิดกฎหมายและมีโทษ ถ้าต้องการความสบายใจว่าเป็นพลเมืองที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนกรมสรรพากรเรียกไปตรวจสอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และไม่เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบว่าเลี่ยงภาษี ก็ยื่นให้ตรงเวลา แม้ว่ารายได้คุณจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม

  • ถ้ารายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยื่นภาษี หากพบ จะมีโทษปรับ 2,000 บาท (จ่ายจริง 200 บาท)
  • ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ แต่ไม่ยื่นภาษี หากพบ จะมีโทษปรับ 2,000 บาท (จ่ายจริง 200 บาทเช่นกัน) บวกกับดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์/เดือน หรือ 18 เปอร์เซ็นต์/ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่หมดเขตยื่นภาษีถึงวันที่เพิ่งมายื่นภาษี

ภ.ง.ด. 90 กับ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร

ภ.ง.ด.90 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 90 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนและมีรายได้ทางอื่นด้วย อาทิ เงินปันผลจากกองทุนรวม เงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงินรายได้จากธุรกิจส่วนตัว เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าเช่า สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 มีดังนี้

  1. บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  2. บุคคลที่เป็นสามี-ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
  3. ทรัพย์สินมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่งมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  5. บุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  6. วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ภ.ง.ด. 91 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 91 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมจากแหล่งงานหรือรายได้อื่น เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินค่าจ้างเพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 มีดังนี้

  1. บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส มีเงินได้เกิน 120,000 บาท
  2. บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท

เงินได้ที่ว่านั้น ได้แก่ เงินที่ได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ได้จากการที่นายจ้างให้อยู่บ้านเช่าโดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ได้จากการที่นายจ้างจ่ายหนี้สินให้ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ ก็ตามที่ได้จากการจ้างงาน เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวสาเหตุเพราะออกจากงานรวมทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่มีระยะเวลาการทํางานน้อยกว่า 5 ปี

เอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนทำเรื่องยื่นภาษีมีอะไรบ้าง

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากนายจ้าง หรือที่มักเรียกกันว่าใบ 50 ทวิ เป็นหลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะได้รับเพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้รับเงินจะได้รับใบ 50 ทวิ จำนวน 2 ใบ ซึ่งมีข้อความตรงกันไว้เป็นหลักฐานสำหรับการยื่นภาษีในปีภาษีที่ได้รับเงินได้ก่อนนั้น ๆ ผู้จ่ายเงินจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่ผู้รับเงิน นอกจากนี้ ใบ 50 ทวิยังเป็นเอกสารที่ระบุว่าในปีนั้น ๆ ผู้รับเงินมีรายได้รวมเท่าไร มีการหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่าง ๆ ไปเท่าไร
  • รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัวที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี
  • รายการค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน เงินบริจาค โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีเพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี

เอกสารที่ต้องใช้ยื่นภาษีเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่รับรายได้จากที่ทำงานทางเดียว ก็สามารถใช้ใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่นายจ้างออกให้มาใช้คำนวณและกรอกยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด. 91/90) อย่างไรก็ตาม หากคุณมีรายได้หลายช่องทาง ก็ต้องเตรียมใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ของนายจ้างอื่น ๆ ที่จ้างคุณทำงานไว้ให้ครบทุกใบด้วย

ต้องยื่นภาษีเงินเมื่อไร

ปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเปิดให้ยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป กล่าวคือ รายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2565 (ปีภาษี 2565) จะต้องทำเรื่องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคม 2566 แต่ถ้ายื่นออนไลน์ จะได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566

แต่หากเป็นเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นภาษีตอนกลางปี ภายในเดือนกันยายนของทุกปี

ยื่นภาษีได้ที่ไหนบ้าง

ปัจจุบันกรมสรรพากรได้เปิดช่องทางสำหรับยื่นภาษี 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
  • ไปรษณีย์ แบบลงทะเบียน เฉพาะผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ
  • ทางออนไลน์ เป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด โดยสามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ได้เลย