ยังมีบรรณาธิการดี ๆ เหลืออยู่ไหมในบรรณพิภพ

จำได้ว่าตอนที่ผู้เขียนได้ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการครั้งแรก ซึ่งต้องย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน (ฮา) เพื่อนที่สนิทสนมกันหากแต่อยู่คนละสายงาน ถามด้วยความสนใจว่าตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไร เวลานั้นแจ้งเพื่อนไปว่า “บรรณาธิการมีหน้าที่คอยตรวจข้อมูล คัดเลือก และควบคุมคุณภาพเนื้อหาและภาพในการตีพิมพ์ หรือ Publish ลงเว็บไซต์”

ซึ่งในเนื้องานนั้นมีขอบเขตมากกว่านั้นมาก เพราะไม่เพียงควบคุมเนื้อหา แต่ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าเนื้อหานั้นมีความถูกต้องมากเพียงใด และคอยดูแลนักเขียน นักข่าวให้อยู่ในร่องรอยของการทำหน้าที่สื่อ ไม่ลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ครั้งหนึ่ง บรรณาธิการอาวุโสที่ผู้เขียนเคารพเป็นอาจารย์ในวิชาชีพ เคยเปรยขึ้นมาให้ได้ยินว่า “บรรณาธิการมีทัศนคติแบบไหน งานของกองบรรณาธิการก็จะสะท้อนออกมาแบบนั้น” ซึ่งเป็นเรื่องจริง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่เป็นกระแสในสังคม ชนิดที่ทำกลุ่มไลน์ผู้ปกครองแทบจะทั่วประเทศต้องแชร์ข่าวกัน เพราะเป็นเรื่องใช้ความรุนแรงของเยาวชนในโรงเรียนที่มาพร้อมกับอาวุธปืน การโกหก และกล่าวร้ายผู้ที่เป็นผู้ปกครอง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการทำหน้าที่ของสื่อ หรือคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อ ที่รายงานเรื่องนี้ด้วยความรีบร้อน ไม่ตรวจสอบ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปทั่วสังคม

ความเข้าใจผิดที่ว่าคือ “คีย์บอร์ดระเบิดได้” เป็นข่าวที่ทำให้ผู้เขียนซึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ถึงกับชะงัก เพราะความรู้เท่าที่มีอยู่นั้นยังสงสัยว่า “คีย์บอร์ดระเบิดได้อย่างไร เพราะไม่มีอะไรในแป้นที่แยกมาจากตัวเครื่องจะสามารถจุดระเบิดได้ หรือถ้าเป็นคีย์บอร์ดที่แบบรีโมตใส่ถ่าน ก็ไม่สามารถระเบิดได้เช่นกัน” แต่สื่อเล็กใหญ่ เร่งรายงานข่าวออกไปแล้ว ในทุกแพลตฟอร์ม โดยอ้างตามปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ (ที่ยังไม่มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ)

เรื่องดังกล่าวสื่อส่วนใหญ่ใช้คำแก้เกี้ยวว่า “คดีพลิก” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีอะไรพลิก แต่ความพยายามที่จะเป็นเจ้าที่เร็วที่สุด วิเคราะห์เก่งสุด ถึงขนาดมีคลิปสัมภาษณ์นักวิชาการ หรือแม้แต่พูดคุยกับบริษัทเจ้าของเครื่อง ยิ่งทำให้เรื่องเลยเถิดไปกันใหญ่ เหมือนลิงแก้แห พอเห็นความวุ่นวายของเนื้อหาข่าวแบบนี้ ก็ต้องตามหาคนทำหน้าที่บรรณาธิการข่าว กันล่ะค่ะ ที่ปล่อยให้ข่าวออกมาแบบไม่ตรวจสอบได้อย่างไร

จากประสบการณ์ผู้เขียนที่เคยทำข่าวตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ออนไลน์ การนำเสนอเนื้อหาในฐานะสื่อนั้นต้องถูกถามกลับจากบรรณาธิการข่าวว่า มีแหล่งข่าวเชื่อถือได้ไหม และมีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการแล้วหรือยัง ถ้ายัง การนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวจะต้องชะลอเอาไว้ก่อนแม้ว่าคนอื่นจะเล่นไปแล้ว “เพราะข่าวคือการขายความน่าเชื่อถือ” ถ้าผิดครั้งแรกถือว่าพลาดให้อภัยได้ ผิดครั้งที่สองเรียกว่าไม่ใส่ใจ และถ้าผิดครั้งที่สามจะถูกตีตราว่าต่ำกว่ามาตรฐาน

แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนคนทำหน้าที่สื่อ หรือคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อ จะไม่ได้ใส่ใจเรื่องความน่าเชื่อถือกันแล้ว สนใจแต่เรตติ้ง และ Engagement จนละเลยที่จะตรวจสอบความถูกต้องและความจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราเห็นผู้ประกาศ หรือคนที่เรียกตัวเองว่านักเล่าข่าว สามารถอ่านข่าว หรือเล่าคลิปจากโซเชียลมีเดียโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องกันได้อย่างหน้าตาเฉย

ถ้าจะให้โทษ ก็ต้องบอกว่าความผิดส่วนหนึ่งมาจากคนทำหน้าที่บรรณาธิการ ที่ตั้งธงเอาไว้ว่าความสำเร็จคือการนำเสนอเนื้อหาได้รวดเร็ว และได้รับความนิยม มากกว่าจะตั้งธงไว้ที่ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ และด้วยทัศนคติดังกล่าวเราจึงได้เห็นข่าวหรือข้อมูลที่ผิดพลาดออกมาอย่างมากมายตามหน้าสื่อ โดยที่ผู้ผลิตเนื้อหานั้นไม่ได้คิดทบทวนก่อนว่าเนื้อหาที่ส่งออกไปสู่สังคมนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

มีภาษิตจีนประโยคหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จะดูสังคมนั้นว่ามีคุณธรรมแค่ไหน ให้ดูที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็ก จะดูสังคมนั้นว่ามีความรู้แค่ไหน ให้ดูข่าวสารที่พวกเขาสนใจ” เราเป็นสังคมแบบไหน ลองพิจารณากันดูค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า