“เด็กติดในรถ” ต้องคร่าอีกกี่ชีวิต เหตุสลดซ้ำซากไม่จบสิ้น

จากเหตุการณ์สุดสลดที่นักเรียนชั้น ป.2 อายุ 7 ขวบ ถูกลืมทิ้งไว้บนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน กระทั่งเสียชีวิตภายในรถตู้ ดังที่เป็นข่าวดังเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทว่าก็ไม่เคยเป็นบทเรียนใด ๆ ให้กับผู้ใหญ่เลย เห็นได้จากจำนวนครั้งและความถี่ที่เกิดเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

จากสถิติข้อมูลของ กรมควบคุมโรคล่าสุด ปี 2557-2563 พบเด็กถูกลืมในรถสูงถึง 129 ครั้ง เสียชีวิต 6 ราย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถูกลืมไว้ในรถมากถึง 129 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิต 6 ราย โดยเป็นรถตู้รับ-ส่งนักเรียน 5 ราย เป็นรถส่วนบุคคลของครู 1 ราย

เมื่อเด็กติดอยู่ในรถ และรถจอดตากแดดเป็นเวลานาน อุณหภูมิในรถจะสูงเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส จนค่อย ๆ เพิ่มขึ้นได้ถึง 40-50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว อากาศที่ร้อนขนาดนั้นส่งผลให้เกิดอาการ “ฮีทสโตรก” เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ทั้งระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด และไต จนทำให้เสียชีวิต จึงต้องขอเน้นย้ำการดูแลเช็กเด็กก่อนขึ้นลงรถทุกครั้ง เพื่อให้เคสน้องจีฮุนเป็นเหตุการณ์สุดท้ายในการลืมเด็กบนรถจนเสียชีวิตในที่สุด

ส่วนใหญ่แล้วเหตุการณ์ลืมเด็กมักจะเกิดขึ้นเนื่องจากเด็กนอนหลับ และจอดรถทิ้งไว้หลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จ ซึ่งข้อมูลการทดสอบกรณีเด็กติดในรถ (จอดรถกลางแดด) ของศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 5 นาที อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้ 10 นาทีร่างกายจะยิ่งแย่ และ 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวมตามมา จากนั้นอาจหยุดหายใจ อวัยวะทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน และเสียชีวิตลง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง พนักงานขับรถรับส่งนักเรียน และครูอาจารย์

  • นับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง
  • ตรวจตรา ก่อนล็อกประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ
  • อย่าประมาท อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพัง แม้ว่าจะลงไปทำธุระเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
  • ควรสอนให้เด็กรู้จักการขอความช่วยเหลือ ในกรณีที่พ่อแม่ไม่สามารถติดตามดูแลลูกได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะหากเด็กนั่งรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งผู้ที่ขับรถอาจไม่ได้ดูแลบุตรหลานของท่านดีเท่าที่ควร เช่น การกดแตรรถ เคาะกระจก ลดกระจก ปลดล็อกประตู เป็นต้น

มาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนของไทย

  • ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา
  • ต้องได้มาตรฐานที่กรมขนส่งทางบกกำหนด
  • นำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาต ครั้งละ 1 ภาคการศึกษา
  • รถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล เกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน รถสองแถวหรือรถตู้ พร้อมติดสัญญาณไฟสีเหลืองและป้ายรถโรงเรียน
  • ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่น และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับยืน พร้อมเครื่องมือกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก
  • รถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น
  • ผู้ขับต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
  • ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

รถรับส่งนักเรียนในต่างประเทศ

จากสถิติข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปแสดงให้เห็นว่า เด็กที่เดินทางด้วยรถยนต์เพื่อไป-กลับโรงเรียน เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุมากกว่า เด็กที่เดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน และรถโดยสารสาธารณะถึง 7 เท่า The American School Bus Council ระบุว่า การที่เด็กนักเรียนขี่จักรยาน หรือโดยสารพาหนะของตนเองไป-กลับโรงเรียน อันตรายกว่าเด็กนักเรียนที่โดยสารรถรับ-ส่งนักเรียนถึง 50 เท่า

ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้จัดตั้งระบบขนส่งนักเรียนไปโรงเรียน เพื่อมุ่งหมายเพิ่มความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง ไปจนถึงโครงการบำรุงรักษาที่เป็นระบบ ระบบกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงคุณสมบัติผู้ขับขี่

พูดง่าย ๆ ก็คือปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ที่จะมีข่าวลืมเด็กไว้ในรถรับส่งจนเกิดการสูญเสียตามมานั้น สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ ผู้ขับขี่และผู้ควบคุมดูแลเด็กนักเรียน ซึ่งต้องมีความไม่ประมาทไม่ละเลยต่อหน้าที่ในการนับจำนวนเด็ก รวมถึงการตรวจเช็กรถทุกครั้งเมื่อเดินทางถึงที่หมาย เพราะมันเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ กับการเปิดประตูรถแล้วเดินขึ้นไปเช็กในทุกตำแหน่งที่นั่งว่ามีใครหลงเหลืออยู่หรือไม่ รถตู้คันเล็กแค่นั้น 1-2 นาทีก็เช็กเสร็จแล้ว

ถัดมาก็คือประเภทของรถที่ควรยกเลิก จากการใช้รถตู้-รองสองแถวไปเป็นรถบัสแทน จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศอย่างรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้รถรับส่งนักเรียนเป็นแบบรถบัส ซึ่งนอกจากโครงสร้างจะมีความปลอดภัยมากกว่าแล้ว รถบัสรับส่งนักเรียนของบ้านเขายังมีหน้าต่างและประตูฉุกเฉิน ที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าอีกด้วย (ในกรณีที่ลืมเด็กไว้ในรถ)