ปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักการรอคอยและอดทนให้เป็น

เราเคยเจอคนประเภทที่ “โตแต่ตัว” กันบ้างหรือไม่? ประเภทที่เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่าแต่กลับทำตัว “ไร้วุฒิภาวะ” ไม่มีความน่าเคารพนับถือ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำอะไรตามใจตนเองไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนหรือไม่ พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ “สูงวัย” แต่ “ไม่น่านับถือ” ทำให้สังคมมักจะเรียกคนประเภทนี้แรง ๆ ว่า “แก่กะโหลกกะลา” หรือ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” เลยก็มี หรือจริง ๆ แล้วก็คือ “มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง” ในสังคม ที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีอายุมากแล้วเท่านั้นเสมอไป

แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าในอนาคตที่ลูกของคุณเติบโตเข้าไปอยู่ในสังคม มีโอกาสที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ซึ้งวุฒิภาวะเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะการปลูกฝังและและการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่อย่างคุณนั่นเอง เพราะวุฒิภาวะของคนนั้นใช่ว่าจะสัมพันธ์กับอายุเสมอไป เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่แต่ทำตัวไม่มีวุฒิภาวะก็มีให้เห็นอยู่ถมเถ ส่วนเด็กที่วางตัวดี มีความคิดความอ่าน และควบคุมตัวเองได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ก็มีให้เห็นอยู่มากเช่นกัน ซึ่งวุฒิภาวะ หรือก็คือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองนั้น จะทำให้บุคคลมีคุณภาพในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม มีความเป็นผู้ใหญ่ในทางบุคลิกภาพ อารมณ์ และพฤติกรรม

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิภาวะก็ไม่มีวุฒิภาวะมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง แต่โตมาก็ยังคิดไม่ได้ ดังนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรปลูกฝังวุฒิภาวะให้บุตรหลานตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก ไม่ต้องถึงขั้นว่าต้องเป็นเด็กที่น่าชื่นชมนับถืออะไรแบบนั้น เพียงแต่ให้พวกเขารู้จักการวางตัวให้เหมาะสมกับวัย หากทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป พวกเขาจะมีความคิดที่เติบโตเองได้เรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ

ทำไมชีวิตต้องอดทนและรอคอยให้เป็น

“เลี้ยงลูกแบบไหน ได้ลูกแบบนั้น” คนเป็นพ่อแม่สามารถออกแบบนิสัยและพฤติกรรมของลูกได้ ด้วยการบ่มเพาะนิสัยที่อยากให้ลูกเป็นตั้งแต่ยังเด็ก อย่างไรก็ดี เด็กเล็ก ๆ นั้นค่อนข้างที่จะพูดยาก เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมความต้องการ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง อีกทั้งเด็กก็ไม่สามารถทำอะไรต่ออะไรเพื่อตอบสนองในสิ่งที่ต้องการได้เอง พ่อแม่จะต้องเป็นผู้ตอบสนอง เกิดเป็นระยะเวลาที่เด็ก ๆ จะต้องรอคอย และอดทนจนกว่าพ่อแม่จะสนองให้ได้ เด็กต้องอดทนรอให้เป็น ไม่ใช่กรีดร้องกรี๊ด ๆ ลงไปนอนชักดิ้นชักงอว่าต้องได้เดี๋ยวนั้น

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กมีความอดทนต่ำ รอคอยอะไรไม่เป็น นั่นอาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่เคยฝึกให้ลูกรู้จักที่จะรอคอยและอดทน กลัวลูกจะลำบากหรือพยายามตัดรำคาญเลยต้องรีบตอบสนองให้เดี๋ยวนั้น รวมถึงไม่จริงจังที่ปลูกฝังความมีวินัยในตนเองให้กับเด็ก ยิ่งเด็กสมัยนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับชีวิตที่ความสะดวกสบายมากขึ้น ได้อะไรมาอย่างง่าย ๆ แต่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเร่งรีบ เร่งด่วน พวกเขาเคยชินกับความรีบร้อน ใจร้อน หัวร้อน รอคอยไม่เป็น ไม่อดกลั้น อดทน ทุกอย่างต้องได้มาเดี๋ยวนั้นทันทีทันใด ซึ่งนี่อาจทำให้เกิดปัญหาได้ หากเด็กมีปัญหาเรื่องการอดทน รอคอย

เพราะการอดทนและรอคอยให้เป็น คือพื้นฐานสำคัญของอารมณ์ คนเป็นพ่อเป็นแม่ ผ่านโลกมาแล้วช่วงเวลาหนึ่ง ก็น่าจะทราบดีว่าเราไม่อาจเนรมิตให้ทุกสิ่งอย่างเป็นได้ดั่งใจนึก ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ โดยไม่ลงมือทำ บางสิ่งบางอย่างไม่อาจได้มาเดี๋ยวนั้นตามที่ใจปรารถนา เราต้องอดทน ต้องรอคอย ต้องควบคุมอารมณ์ไม่ให้ปรี๊ดแตกเวลาที่อะไรไม่ได้ดั่งใจ ส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์และวุฒิภาวะของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

ถ้าเด็ก ๆ ไม่อาจรอคอยได้ อดทนไม่เป็น มันจะกลายเป็นความยากลำบากเมื่อพวกเขาต้องเข้าสังคม กลายเป็นคนเอาแต่ใจ เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น ทำอะไรเร่งรีบไม่รอบคอบเพราะต้องตอบสนองความต้องการโดยเร็ว อีกทั้งการไม่ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการก็อาจทำให้รู้สึกผิดหวัง แล้วทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งกับผู้อื่นและกับตัวเอง ความสำเร็จบางทีต้องใช้เวลานาน การไม่อดทน รอไม่ได้ ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางจิตใจได้ง่ายกว่าคนที่รอได้ อดทนเป็น และรู้ว่าทุกอย่างมันจะมีจังหวะและเวลาของมัน พ่อแม่จึงต้องสอนพวกเขา

เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดู

เด็กจะซึมซับพฤติกรรมจากตัวอย่างที่เขาเห็นเป็นประจำ ฉะนั้น พฤติกรรมของคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็กจึงมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเด็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครอง คือคนที่เด็กใกล้ชิดที่สุด เด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบในสิ่งที่พ่อแม่ทำ เพราะคิดว่าเขาทำได้ ไม่ผิด (เพราะพ่อแม่ก็ทำ) เวลาที่พ่อแม่ต้องรอคิวนาน ๆ แสดงพฤติกรรมแบบไหนออกมา เด็กก็จะสังเกตเห็น เวลาโมโห พ่อแม่ตอบสนองอย่างไร มีท่าทีสงบใจเย็น หรือตะคอกโวยวายใส่ทันที เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของลูก เพราะลูกจะซึมซับและเลียนแบบมา อยากให้ลูกเป็นคนอย่างไร ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ให้ลูกได้พยายามด้วยตนเอง

พ่อแม่มักจนทนเห็นลูกลำบากไม่ได้ เมื่อเห็นว่าลูกต้องทำอะไรยาก ๆ ก็มักจะรีบพุ่งตัวเข้าไปช่วยเหลือลูกทุกครั้ง โดยที่บางครั้งเด็กไม่ได้ขอให้ช่วยด้วยซ้ำ แบบนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่พยายามทำอะไรด้วยตนเอง ทำอะไรหยิบหย่ง เพราะคุ้นเคยกับการที่มีคนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่ตลอด ถ้าไม่มีใครเสนอตัวช่วย อนาคตก็อาจจะใช้วิธีไหว้วานคนอื่น แม้กระทั่งออกคำสั่งให้คนอื่นทำ หากไม่ได้ดั่งใจก็จะแสดงออกด้วยอารมณ์และพฤติกรรมรุนแรง พ่อแม่จึงต้องฝึกให้ลูกรู้จักที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดก่อน ชื่นชมเมื่อทำได้ และขยับกิจกรรมให้ยากขึ้นตามวัย

ฝึกที่จะไม่ให้ในสิ่งที่ลูกต้องการบ้าง

ธรรมชาติของพ่อแม่มักจะหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกได้เสมอ แต่ในความเป็นจริงพ่อแม่ไม่อาจหาทุกสิ่งอย่างมาประเคนให้พวกเขาได้ตลอดชีวิต ซึ่งคนเป็นพ่อแม่ก็รู้ดีว่าในโลกของความเป็นจริง เราไม่อาจได้มาในทุกสิ่งที่ต้องการ ชีวิตมีทั้งสมหวังและผิดหวัง มันไม่ใช่ว่าอยากได้อะไรก็ต้องได้เสมอไป ต่อให้พยายามมากแค่ไหนบางสิ่งก็ไม่อาจได้มา ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนให้พวกเขาได้รู้จักกับความผิดหวังบ้าง และเรียนรู้ที่จะรับมือกับสิ่งที่มันไม่เป็นในแบบที่ต้องการ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นแล้วต้องออกไปเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเอง การรอคอยมีเวลาสิ้นสุด ถ้าไม่ได้ก็ต้องยอมรับความจริง

ฝึกด้วยสถานการณ์ที่ต้องรอให้ได้ อดทนให้เป็น 

พ่อแม่จะต้องไม่ตามใจ รีบตอบสนองต่อสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการแบบทันทีทันใด พยายามดึงเวลาให้พวกเขาได้รู้จักที่จะรอบ้าง อดทนที่จะรอ และพยายามให้มากกว่านี้ โดยต้องบอกจุดสิ้นสุดของการรอคอยให้ชัดเจนเพื่อให้การอดทนรอคอยมีจุดสิ้นสุด ไม่ใช่การรอแบบไม่มีจุดหมาย การบอกว่า “เดี๋ยวก่อน” หรือ “รอแป๊บนึง” อาจไม่ชัดเจนพอสำหรับเด็ก ซึ่งการที่ถูกเบรกให้ต้องรอคอยบ้าง จะปลูกฝังให้พวกเขาทำอะไรได้ช้าลง ไม่ต้องรีบทุกอย่าง และรู้ว่าไม่จำเป็นต้องได้อะไรในทันทีทุกครั้ง อาจพาเด็กไปยืนเข้าแถวซื้อของ รอคิวเข้าห้องน้ำ ให้รู้ว่าถ้าเรามาทีหลังก็ต้องรอ

ฝึกวินัยให้กับลูก

มนุษย์ทุกคนไม่ชอบการถูกบังคับ แต่ทุกสังคมมีข้อกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากอิสระมากเกินไปก็จะเดือดร้อนคนอื่น มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่มีตรรกะ คิดเป็นเหตุเป็นผลได้ มนุษย์จึงน่าจะเข้าใจดีว่ากฎมีไว้ทำไม และรู้ว่าระเบียบวินัยสำคัญต่อชีวิตของเรา พ่อแม่จึงต้องฝึกระเบียบวินัยให้กับลูก อย่าให้พวกเขาเคยชินกับการได้รับอภิสิทธิ์ที่มากกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้พวกเขาหาข้ออ้างมาทำผิดกฎ ผิดระเบียบได้ ต้องพูดคุยและสร้างข้อตกลงกับพวกเขาเสมอ การออกกฎกติกาขึ้นมาในครอบครัว จะช่วยฝึกการรอคอยและอดทนให้ลูกได้ ว่าพวกเขาต้องได้รับอนุญาตก่อน