ทุกครั้งที่ต้องออกเดินทาง สิ่งที่พึงระลึกไว้ในใจเสมอก็คือ “เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” ทั้งอุบัติเหตุ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการก่ออาชญากรรม มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา เอาเข้าจริงขนาดอยู่ในบ้านดี ๆ บางทีภัยยังมาหาถึงตัวเลยด้วยซ้ำ ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่คุณควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
พูดแบบนี้อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกกังวลขึ้นมาเมื่อต้องออกเดินทาง บ่อยครั้งที่ความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นเพราะคนอื่น ทั้งที่เราดูแลตนเองดีแล้ว นั่นเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ถึงอย่างนั้นก็พอจะบรรเทาให้เบาลงได้หากเรามีสติและเตรียมความพร้อมด้วยการหาทางหนีทีไล่ไว้บ้างแล้ว มาดูกันว่าความปลอดภัยในการเดินทางในแบบฉบับที่เราต้องดูแลตนเองนั้น มีอะไรบ้างที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเที่ยวและทำให้แต่ละทริปสนุกมากขึ้น
1. เริ่มต้นจากการปฏิบัติตามกฎ (หมาย)
กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับระดับชาติ ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้บังคับ ควบคุม กำหนดความประพฤติให้บุคคลปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับผลร้าย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าถ้าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะมีความผิดและต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ ในอีกด้านหนึ่งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็นำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การไม่เคารพกฎจราจร หากคนอื่น ๆ ปฏิบัติตามหมดแต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ละเมิด ก็มีโอกาสที่คนผู้นี้จะทำให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นไม่ปลอดภัยได้ และถ้าคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีมากกว่าหนึ่งคน เท่ากับว่าอีกหลาย ๆ ชีวิตบนท้องถนนก็ต้องเสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น หลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางแบบฉบับดูแลตนเอง เริ่มต้นง่าย ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย (หรือกฎข้อบังคับตามการเดินทางด้วยพาหนะอื่น ๆ) เช่น การเดินทางบนท้องถนน ก็ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ดื่มไม่ขับ การเดินทางด้วยพาหนะอื่น ก็ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการโดยสารเรือหรือเครื่องบิน อะไรที่เขาออกกฎห้าม แปลว่าเขามีเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ทำ เมื่อไปใช้บริการเขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎของเขา เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทาง
2. ตรวจเช็กความพร้อม
ความพร้อมทั้งยานพาหนะที่จะใช้สำหรับการเดินทางและความพร้อมทางร่างกายของตนเอง อย่างการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เราสามารถตรวจเช็กความพร้อมของรถยนต์ได้อย่างเต็มที่ด้วยตนเองก่อนการเดินทาง แต่ถ้าเป็นการโดยสารด้วยยานพาหนะสาธารณะ การตรวจเช็กความพร้อมอย่างละเอียดจะไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ แต่ละที่ก็จะมีมาตรฐานแตกต่างกันไป ตรงนี้เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีที่สุดให้กับตนเอง อาจจะหลีกเลี่ยงการโดยสารไปกับยานพาหนะที่แม้แต่เรายังเห็นชัด ๆ ว่ามันไม่พร้อม หรืออาจจะช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อเห็นว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่ว่าจะเป็นรถสาธารณะ เรือ หรือเครื่องบินก็ตาม
ส่วนความพร้อมทางร่างกาย หากเป็นการเดินทางด้วยตนเองจะสำคัญมากที่เราต้องใส่ใจเช็กความพร้อม เช่น เมื่อต้องขับรถทางไกล ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือหากมีอาการป่วย ร่างกายไม่พร้อม มึนเมา ก็หลีกเลี่ยงการขับรถเอง ให้คนอื่นขับให้หรือโดยสารรถสาธารณะ ส่วนหากเดินทางด้วยยานพาหนะอื่น ร่างกายอาจไม่จำเป็นต้องพร้อมขนาดนั้นก็ได้ แต่ก็ควรประเมินตัวเองว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น สภาพร่างกายสามารถเคลื่อนไหวเพื่ออพยพได้เร็วแค่ไหน รวมถึงการแต่งกาย เมื่อเดินทางควรแต่งกายรัดกุม เน้นที่เคลื่อนไหวสะดวกหากมีเหตุให้ต้องหนีเอาตัวรอด
3. เป็นคนช่างสังเกต
แม้ว่าจะเป็นการเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ตลอดเวลา พยายามทำตัวเป็นคนหูไวตาไวเสมอเวลาที่ต้องเดินทาง เมื่อออกนอกบ้าน อยู่ในที่สาธารณะ หรือการเดินทางไปในสถานที่ที่ตัวเองก็ไม่คุ้นเคย แน่นอนว่ามันเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่เราสามารถทำได้ตามใจชอบเวลาเดินไปตามถนนแล้วใส่จะหูฟังเปิดเพลงเสียงดัง แต่ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน การที่เราไม่ได้ยินเสียงภัยรอบข้างอาจทำให้เราตายโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จึงต้องหัดสังเกตความผิดปกติ ผู้คนรอบข้าง สถานการณ์ สถานที่ มองหาทางหนีทีไล่ ทางออกอยู่ตรงไหน เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ รู้สึกว่าไว้ใจไม่ได้ ให้ออกจากที่นั่นทันที
4. บอกคนรู้จักไว้บ้างว่าจะไปที่ไหน
มันอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวนั่นแหละ การที่เราจะไปไหนมาไหนไม่จำเป็นต้องบอกให้ใครรู้ แต่ถ้าคำนึงเรื่องความปลอดภัยของตนเองจริง ๆ ก็ควรบอกคนที่บ้านหรือคนรู้จักที่สนิทสนมเสมอว่าตนเองจะไปที่ไหน และหมั่นแจ้งให้คนเหล่านั้นทราบเป็นระยะ ๆ ว่ายังปลอดภัยดีและสถานที่ล่าสุดอยู่ที่ตรงไหน กรณีที่เราหายตัวไปหรือติดต่อไม่ได้ ญาติพี่น้องจะได้ตามตัวถูกที่ว่าล่าสุดอัปเดตว่าอยู่ที่นี่นะ หรือหากมีรายงานข่าวเหตุฉุกเฉินในสถานที่นั้น ๆ พวกเขาจะได้รู้ว่าเราอาจกำลังตกอยู่ในอันตราย สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน หรือถ้าเป็นคนละสถานที่จะได้รู้ว่าเราปลอดภัยดี มีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไม่หายไปอย่างไร้ร่องรอยตามร่างไม่เจอ คนอื่น ๆ จะได้ไม่เป็นห่วงด้วย
5. อุปกรณ์สื่อสารต้องพร้อมเสมอ
ก่อนออกจากบ้าน ควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้เต็ม และอาจมีแบตเตอรี่สำรองพร้อมสายชาร์จเสมอ เพราะโทรศัพท์มือถือแทบจะเป็นวิธีการขอความช่วยเหลือช่องทางเดียวเมื่อตกต้องอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรทราบเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น เช่น เบอร์ 191, 1669, เบอร์โทรศัพท์สถานีตำรวจ โรงพยาบาลในท้องที่ที่ตนเองอาศัยอยู่, ข้อมูลติดต่อสถานทูตไทยในต่างประเทศ (กรณีเที่ยวต่างประเทศ) เป็นไปได้ควรจะมีบันทึกเก็บไว้ในมือถือเลยก็ดี เพราะน่าจะต่อติดได้ง่ายกว่าเบอร์กลางที่ใคร ๆ ก็โทรเข้าเบอร์นั้น หรือดาวน์โหลดแอปฯ ช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลาย ๆ ช่องทาง ควรเตรียมข้อมูลความปลอดภัยต่าง ๆ ในรูปแบบออฟไลน์ไว้ด้วย กรณีที่อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้
6. เรียนรู้วิธีป้องกันและเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้บ้าง
อย่างที่บอกว่าทั้งอุบัติเหตุ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการก่ออาชญากรรม สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา แม้แต่อยู่ในบ้านดี ๆ บางทีภัยยังมาหาถึงตัว เพราะฉะนั้น เวลาเดินทางไปไหนมาไหน “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน” ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเรารู้วิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย และวิธีการเอาตัวรอดเมื่อภัยถึงตัว มีความรู้เรื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดด้วยก็จะดีมาก ๆ หรือมีทักษะการต่อสู้ การเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่รู้พื้นฐานไว้บ้างก็ดี
7. ของมีค่า ต้องระวังให้มาก
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก เรื่องของการเก็บของมีค่าเป็นเรื่องที่ต้องเตือนอยู่เสมอ เช่น เก็บกระเป๋าสตางค์ไว้กระเป๋ากางเกงด้านหลัง หรือใส่ของมีค่าไว้ในกระเป๋าสะพายหลัง ทำแบบนั้นไม่ต่างอะไรกับการเชื้อเชิญมิจฉาชีพนักล้วงทั้งหลายให้เข้ามาหยิบฉวย ของมีค่าทั้งหลายควรจับ/หนีบติดตัวเอาไว้ให้แน่นตลอดเวลา หรือนำมาสะพายด้านหน้าแล้วกอดไว้ (ก็ยังอาจจะไม่รอด) นอกจากนี้ควรแบ่งเงินและทรัพย์สินแยกเก็บเป็นส่วน ๆ หากส่วนหนึ่งหายไปก็ยังเหลือที่ส่วนอื่น ไม่ได้หมดตัวเสียทีเดียว แบ่งเงินที่พอใช้ในวันนั้นใส่กระเป๋าที่หยิบใช้สะดวก แล้วซ่อนส่วนที่เหลือไว้อีกกระเป๋าซึ่งเก็บเอาไว้กับตัว อย่าเผอเรอเอากระเป๋าไปวางทิ้งไว้ที่อื่นให้ห่างตัว
อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ พยายามอย่าทำตัวโดดเด่นในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคย อย่างการแต่งตัวที่เห็นชัดทันทีว่าเราเป็นนักท่องเที่ยว การเดินเที่ยวชมถ่ายรูปจนไม่สนใจสถานการณ์รอบข้าง แถมที่ตัวก็มีทรัพย์สินมีค่ามากมายพกมาด้วย แบบนี้ย่อมล่อตาล่อใจมิจฉาชีพเป็นธรรมดา ความเสี่ยงที่จะถูกล้วงกระเป๋าหรือทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์ก็เพิ่มขึ้น วิธีเอาตัวรอดที่น่าสนใจ คือการทำตัวให้กลมกลืนกับคนท้องถิ่นมากที่สุด จะปลอดภัยกว่า
8. เอกสารสำคัญ ต้องสำรองไว้
การไปเที่ยว โดยเฉพาะการไปเที่ยวต่างประเทศ เราต้องเดินทางพร้อมกับพกเอกสารสำคัญต่าง ๆ มากมายไว้กับตัว เช่น พาสปอร์ต หลักฐานการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน รถไฟ เรือ ประกันการเดินทาง ฯลฯ สิ่งที่ควรทำคือ สำรองข้อมูลไว้อีกชุด อย่างการถ่ายเอกสารแล้วพกใส่กระเป๋าไปอีกชุด (แต่แยกเก็บ) รวมถึงถ่ายรูป/สแกนเอกสารเหล่านั้นเป็นไฟล์เก็บไว้ในสมาร์ตโฟน/แท็บเล็ต กรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็ยังพอมีหลักฐานไปแสดงหรืออ้างอิงให้ตรวจสอบได้แล้วแจ้งว่าเอกสารตัวจริงสูญหาย แบบนี้ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรที่แสดงตัวตนเราเลย
9. (ไม่) รู้หน้าไม่รู้ใจ
ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่น่าจะสอนมาตลอดว่า “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขามาแบบเป็นมิตรหรือมิจ (ฉาชีพ) กันแน่ ทุกที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากมีเหตุการณ์ที่ต้องขอความช่วยเหลือ คนท้องถิ่นทั่วไปก็คงมีเจตนาดีหยิบยื่นความช่วยเหลือเราเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีนักต้มตุ๋นแอบแฝงเข้ามาทำเนียนก็ได้เหมือนกัน คนพวกนี้จะพยายามพาเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แปลก ๆ หากเราหลงเชื่อก็เสร็จโจร วิธีสังเกตคือ ถ้าเราปฏิเสธความช่วยเหลือหรือพยายามออกห่างจากคนเหล่านั้นมากกว่า 1 ครั้ง พวกเขาก็ยังเซ้าซี้ไม่เลิก สัญชาตญาณก็คงบอกให้เปิดเครื่องเผ่นได้แล้ว ให้เดินไปอยู่ในที่ที่คนเยอะ ๆ หรือเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในสถานที่นั้น ๆ
10. ประกันการเดินทาง ไม่มีก็ไม่เป็นไรแต่มีไว้ก็จะดีกว่า
เมื่อพูดถึงการวางแผนเดินทางท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่อาจผุดขึ้นมาในหัวว่าต้องเตรียมด้วยหรือเปล่าก็คือ “ประกันการเดินทาง” หลายคนอาจสงสัยว่าแค่ไปเที่ยวจำเป็นต้องมีประกันภัยด้วยเหรอ คือมันไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่มีก็ดี! (แต่บางที่อาจจำเป็นต้องทำ) เพราะการทำประกันการเดินทางถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ค่อนข้างสำคัญ เพียงแต่หลายคนมองข้ามประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงมองว่ามันคือการจ่ายเงินไปเปล่า ๆ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น (เพราะไม่มีคาดหวังให้เหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นอยู่แล้ว) แต่การทำประกันการเดินทางมันคือการประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอโดยที่เราไม่ได้เตรียมรับมือมาก่อน
ซึ่งบางครั้งเหตุการณ์ไม่คาดคิดเหล่านั้น ก็ทำให้ส่วนใดหนึ่งของแผนการเดินทางไม่ราบรื่น อาจทำให้คุณเดือดร้อน เจ็บตัว เสียทรัพย์สิน เสียเวลา เสียอารมณ์ เจอเรื่องติดขัดขนาดนี้ ทริปแสนสนุกที่แพลนไว้อาจจะล่มไม่เป็นท่าเอาได้ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินจริง ๆ คุณอาจต้องจ่ายเงินเพราะเหตุขัดข้องนั้นมากกว่าเงินที่คุณจ่ายเพื่อซื้อประกันด้วยซ้ำ ประกันการเดินทางจึงอาจช่วยให้แผนการเที่ยวส่วนที่เหลือของคุณสะดวกขึ้น ด้วยความคุ้มครองต่าง ๆ ดังนั้น การถือกรมธรรม์ประกันการเดินทางในมือเมื่อเดินทางจึงช่วยให้คุณอุ่นใจได้มากขึ้น คุณจะรู้สึกขอบคุณมันที่ทำให้คุณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากไปกว่านี้ ในกรณีที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นจริง ๆ