ข่าวลวง ข่าวจริง และความน่าเชื่อถือของข่าวในยุคปัจจุบัน

คิดว่าความน่าเชื่อถือของข่าวจากสื่อหลักยังมีอยู่หรือไม่…เป็นคำถามที่ผู้เขียนถามตนเองในฐานะที่เคยเป็นผู้สื่อข่าวมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ ยิ่งเวลาโลกโซเชียลประนามว่านักข่าวยุคนี้ทำงานกันอย่างมักง่ายไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ ปูมหลังที่เคยทำอาชีพนี้มาก่อนก็ให้รู้สึกว่าตนเองหน้าชาขึ้นมาเสียอย่างนั้น

เอาเข้าจริงคำว่า “ข่าว” แม้จะเป็นคำสั้น ๆ พยางค์เดียวแต่มีความหมายครอบคลุมไปถึงคนทำงานทางด้านข่าว และแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่กระจายข่าวออกไป หากหัวใจหลักในการส่งข่าวนั้น คือ “เชื่อถือได้” ซึ่งคำว่า “เชื่อถือได้” ในที่นี้ไม่ใช่แค่ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่รวมไปถึงการสะกดคำให้ถูกต้อง และใช้คำที่สื่อความหมายได้ตรงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อย้อนกลับมาดู “ข่าว” ในทุกวันนี้แทบจะไม่เป็น “ข่าว” อยู่แล้ว เพราะสื่อกระแสหลักเลือกที่จะเล่นเรื่องราวที่วงการข่าวเรียกว่า “Human Interest” หรือข่าวชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลิปตามโซเชียลมีเดีย เพราะนอกจากจะเรียกคนดูได้แล้ว ยังได้จับไปตามกระแสความสนใจของผู้คน ที่ปัจจุบันมีชีวิตติดอยู่กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ซึ่ง “ข่าว” ในลักษณะดังกล่าวถูกนำเสนอในแพตเทิร์นเดียวกันหมดทุกช่อง ผู้ประกาศจะต้องแสดงสีหน้า อารมณ์ น้ำเสียง ใส่เข้าไปด้วย อ่านผิดอ่านถูกไม่เป็นไรขอให้ได้มีอารมณ์ร่วมเข้าไป หรือแสงความคิดของตนเองเข้าไปอีกเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม เป็นรูปแบบที่เชื่อกันว่าถูกใจชาวบ้านยุคปัจจุบัน

เอาเข้าจริงถ้าเชื่อกันว่ารูปแบบการนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวถูกใจชาวบ้านในยุคปัจจุบัน ก็ออกจะดูถูกภูมิความรู้ของชาวบ้านไปหน่อย เพราะชาวบ้านสามอย่างผู้เขียนเคยเดินผ่านแม่ค้าแถวตลาดบางลำพู พวกนางบ่นการนำเสนอข่าวว่า “มีแต่คลิปให้ดู แล้วคลิปเดียว แ…ง มีทุกช่องเลย”

ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบดังกล่าวกำลังสร้างปัญหา และน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะวิธีการนำเสนอคลิปจากโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูล (ที่ OECD ระบุว่าโซเชียลมีเดีย คือแหล่งการกำเนิด Fake News 88%) ทำให้ข่าวลวง ข่าวลือถูกแพร่ในวงกว้างอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

เพราะเมื่อสื่อกระแสหลักลงไปเล่นเรื่องราวที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือเท็จ หยิบแค่คลิปหรือโพสต์จากโซเชียลมีเดียมาเล่าต่อ ก็เท่ากับว่าสื่อหลักได้ติดป้ายความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องดังกล่าว และทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากขึ้น

ในที่นี้รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นหรือความพยายามจะแสดงทัศนะของผู้ประกาศ พิธีกร กับการนำเสนอข่าว ที่สร้างความเข้าใจผิดได้เช่นกัน เพราะทัศนะอันเกิดจากความรู้ส่วนบุคคล ที่มีมากบ้างน้อยบ้างนั้น ต้องไม่ลืมว่าเป็นทัศนะที่ออกไปจากปากของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศหรือพิธีกรนั้น พวกคุณถูกติดป้ายความน่าเชื่อถือไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ข่าวลือ ข่าวลวง คือการสร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นสังคมนะคะ ยิ่งคนทำข่าวกลายเป็นเครื่องมือในการทำให้ข่าวลือ ข่าวลวง น่าเชื่อถือและแพร่กระจายออกไป ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ในทุกระดับชั้น ดังเช่นที่เราเห็นในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา

เคยมีคำกล่าวที่ว่า “ผู้คนจะต้องการสื่อที่เชื่อถือได้เมื่อเกิดวิกฤติ” แต่สถานการณ์ในทุกวันนี้ดูเหมือนจะยากเต็มที และยิ่งนึกถึงความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโรคระบาดที่ยังไม่จบ เศรษฐกิจถดถอย ปัญหาปากท้องในสังคม และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แต่สื่อยังคงเอาความน่าเชื่อถือของตนเองไปช่วยเสริมให้ข่าวลือ ข่าวลวง กลายเป็นข่าวจริง อนาคตอันใกล้นี้คงได้เห็นความวุ่นวายที่ละเลงไปทั่วเมืองกันบ้างล่ะค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า