กฎหมายเบาและคนเสื่อม ทำ “ชนแล้วหนี” เกิดขึ้นซ้ำซาก

ข่าวชนแล้วหนี มีให้เห็นกันทุกวัน เรียกได้ว่า สำหรับชาวโซเชียลมีเดียแล้ว อาจกลายเป็นข่าวน้ำจิ้มที่ให้ Like, Share และ Comment กันแบบกระหน่ำ เพราะการชนแล้วหนี คือการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใส่ใจใยดีกับผู้ประสบเหตุ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่ขับชนจะเป็นฝ่ายถูก หากว่าหนี จะกลายเป็นฝ่ายผิดในสายตาประชาชนทันที การเปิดการ์ดว่า สาเหตุที่หนีเพราะ “ตกใจ” หรือ “รู้เท่าไม่ถึงการ” อาจเป็นอะไรที่ไร้สาระไปแล้ว

แต่ในเมื่อถ้าไม่ผิด “ทำไมต้องหนี” หรือหนีไปก่อนเคลียร์ทีหลัง โดยใช้เส้นสายในการวิ่งเต้นเรื่องคดี หากมีเงินมาก ชดเชยด้วยเงิน เรื่องก็เงียบแล้ว นี่คือเรื่องจริงที่ยังเกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าเม็ดเงินมันจะมากแค่ไหน แต่เทียบไม่ได้เลยกับหนึ่งชีวิตที่อาจจะไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก กับการกระทำที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบของคน ในทางกลับกันหากผู้เสียหายกลายเป็นบุคคลในครอบครัวของคุณบ้าง คุณคงวิ่งเต้นเอาเรื่องให้ถึงที่สุด

คำถามคือแล้วทำไมเราถึงยังเห็นข่าว “ชนแล้วหนี” ที่เป็นปัญหาซ้ำซากในสังคมอยู่อีก ทุกวันนี้นอกจากความไวของข่าวสารปานความเร็วแสงแล้ว ยังมีกล้องติดรถยนต์ และกล้องตามถนนหนทางอยู่เต็มไปหมด เรียกได้ว่าคุณหนีได้แค่ตัวและรถคุณ แต่คุณหนีความผิดและหลักฐานไม่ได้ วันนี้เราจะมาพูดถึงประเด็นนี้กัน

ทำไมต้อง “ชนแล้วหนี” 

  1. รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ไม่มีประกัน พยายามหนีเพื่อไม่ต้องชดใช้
  2. มีของผิดกฎหมายในครอบครอง
  3. อยู่ในอาการมึนเมาของสารเสพติด ประเภทต่าง ๆ
  4. กลัวเสียเวลา คิดว่าไม่มีพยาน ไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์
  5. อาจเพียงชนแบบสะกิด โดยที่ผู้ขับไม่ทราบว่าได้ชนหรือเฉี่ยวจริง ๆ

กรณีเมาแล้วขับเราได้มีการรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน แต่อุบัติเหตุเรื่องนี้ก็ยังคงมีมากขึ้นทุกปี และดูจะเป็นอันดับต้น ๆ ของการชนแล้วหนี้ด้วยซ้ำ เพราะในตอนนั้นตัวเองรู้ต้วว่าผิดกฎหมายแน่นอน เพราะคุณเมาแล้วขับ มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงหนีไปก่อนเพื่อให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายลดลง หรือจนไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์เหลืออยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องรับโทษในส่วนนี้ แต่ถึงอย่างไรการหนีก็ต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่ดีนั่นแหละ

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ชนแล้วหนี”

หากคุณขับรถไปชนคนอื่น คันอื่น ของอย่างอื่น ๆ แล้วคุณขับรถหนี นั่นแปลว่า คุณกำลังหลบหนีจากจุดเกิดเหตุ โดยที่ไม่ได้ลงมาเจรจา หรือมาช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่อาจบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ดี อาจมีความเป็นไปได้อย่างอื่น ๆ คือ การชนและพยายามช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยการขับรถออกจากจุดเกิดเหตุ และไปหาโรงพยาบาล หรือคนมาช่วย อันนี้ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

แต่อีกกรณีคือ การหลบหนีความผิด โทษฐานขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือ เสียชีวิต กรณีนี้ผู้ก่อเหตุ คงเป็นผู้ที่ไร้ซึ่งจิตสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือจิตสำนึกบกพร่อง เห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึก จากการที่ยึดถือตัวเองเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล”คนประเภทที่ฉันจะทำ ฉันไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน ไม่แยแสว่าใครจะเป็นหรือจะตายกับการกระทำของฉัน คงต้องถอนหายใจยาว ๆ ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ เพราะคนแบบนี้จะไม่หมดไปจากสังคมของเราแน่นอน

ชนแล้วหนี เปลี่ยนจากโทษเบาเป็นโทษหนักทันที (เป็นคดีอาญา)

หากคุณขับรถชนและขับหนีออกจากจุดเกิดเหตุ จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยและอาจกลายเป็นฝ่ายผิดทันที เพราะเจ้าหน้าที่จะตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตไว้ก่อนเลยว่าคนที่หนีไปเป็นฝ่ายผิดและพยายามปกปิดความผิด แม้ว่าจะเป็นการชนโดยเหตุสุดวิสัย แม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายทำผิดกฎจราจร ความผิดจากการชนแล้วหนี อาจรวมถึงการถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิต ซึ่งจะเป็นคดีความอาญา และต้องถึงชั้นศาล และศาลอาจพิจารณาไม่ลดโทษ เพราะไม่มีการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ได้ระบุถึงความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือว่า “ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย”

หากเรา “หลบหนี” แล้วโดนจับได้ จะมีบทลงโทษ ดังนี้

– กรณีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต : จำคุก 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– กรณีมีผู้บาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต : จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีขับรถชน หรือขับรถโดยประมาท แล้วจอดลงมารับผิดชอบ บทลงโทษ มี 3 กรณีที่ว่าคือ

กรณี ชนแล้วหนี คุณจะมีคดีติดตัวเพิ่มมาอีก 1 คดี บทลงโทษคือ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกมาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 มีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 บทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีการวินิจฉัยว่าประมาทหรือไม่ต้องพิเคราะห์ตามมาตรา 59 วรรค 4 โดยดูจากภาววิสัยและพฤติการณ์ของผู้กระทำความขาดความระมัดระวังหรือได้ใช้เพียงพอหรือไม่

ชนแล้วหนี เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเลยอย่างยิ่ง ในเมื่อคุณทำผิดก็ต้องรับบทลงโทษตามกฎหมายจราจร เพราะถึงอย่างไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องตามจับมารับบทลงโทษอยู่แล้ว ทางที่ดีคุณควรขับรถอย่างมีสติ ระมัดระวังทั้งรถยนต์ของตัวเองและผู้ร่วมทาง มีน้ำใจต่อกัน ขับรถด้วยความเร็วพอประมาณ และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุก็จะน้อยลงตามมา

เมื่อเกิดเหตุรถชนสิ่งที่เราควรทำคือ หยุดรถแล้วลงมาจากรถทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดก็ตาม อย่างไรก็ดีหากเราดูที่ตัวบทกฎหมายแล้ว คิดว่ากฎหมายที่มีอยู่หนักเบา เพียงใด สำหรับการสูญเสียชีวิตของคนบนท้องถนนที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน หรือชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตกันล่ะ “ชนแล้วหนี” ถึงจะหายไปจากสังคมไทยเราอย่างนั้นหรือ

แต่ก็น่าแปลกใจว่า “ขับรถชน” คนอื่นได้รับความเสียหาย หรือเสียชีวิต ทำไมถึงรอดได้? คงเป็นคำถามที่สังคมรอคำตอบแบบไม่มีที่สิ้นสุดนั้นแหละ ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับ “คดีอุบัติเหตุ” ที่ล้วนเกิดจาก “ความประมาท” มักจบด้วยชดเชยค่าเสียหาย หรือผู้ก่อเหตุรับโทษ แต่สำหรับ “ผู้ตกเป็นเหยื่อความสูญเสีย” แม้บาดแผลทางกายหายดีความเจ็บปวดทางใจยังฝังลึกติดตัวไปตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ได้รับความสูญเสียคงยากที่จะมีอะไรทดแทนได้