หลายวันก่อนผู้เขียนกึ่งบ่นกึ่งเปรยกับเพื่อนสนิท เรื่องการอ่านร่างสัญญาที่หนากว่า 20 หน้า ว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อเสียจริง เพราะต้องทำความเข้าใจกับตัวอักษรที่เป็นภาษาทางการกึ่งภาษากฎหมายตัวเล็ก ๆ เมื่ออ่านจบแล้วต้องย้อนกลับไปอ่านอีกรอบเพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ว่าสามารถตีความได้อย่างไรบ้าง
เมื่อเจ้าเพื่อนตัวแสบฟังเสียงบ่นของผู้เขียนจบ ก็ตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า “เซ็น ๆ ไปเหอะ มันก็เหมือนสัญญาปีศาจที่ต้องเซ็นกับสถาบันการเงินไง อย่างไรก็ต้องเซ็นมิใช่รึ”
ใช่ค่ะ ประโยคเดียวจบเลย “มันเป็นสัญญาปีศาจเหมือนสัญญากับสถาบันทางการเงิน” ที่เราไม่เคยอ่านรายละเอียด ทำได้เพียงตั้งหน้าตั้งตาเซ็น มารู้ตัวอีกทีว่าให้ความยินยอมอะไรเขาไปบ้าง ก็เมื่อมีโทรศัพท์จากประกันบ้าง สินเชื่อบุคคลบ้าง เรื่อยยาวไปจนถึงการเสนอขายสินค้าที่ตัวเราเองไม่คิดว่าจะต้องซื้อ เหล่านี้คือสัญญาความยินยอมในการให้ใช้ข้อมูลที่เราได้เซ็นชื่อไปโดยที่เราไม่ได้อ่านนั่นแหละค่ะ
การประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกระแสการถ่ายรูปแล้วติดคนอื่น เมื่อเอาไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียแล้วจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าคุณเซลฟี่หรือถ่ายรูปในที่สาธารณะแล้วในรูปติดรูปผู้อื่นมา คุณยังคงโพสต์ในโซเชียลมีเดียของคุณได้ หากเป็นมีวัตถุประสงค์ในการโพสต์ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
รายละเอียดเรื่องการโพสต์รูปดูจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมที่มีโซเชียลมีเดียขับเคลื่อน แต่อีกมุมหนึ่งของ PDPA ที่ถูกนำมาใช้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นการตระหนักถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กับการเซ็นสัญญาเวลาทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินที่แม้ว่าจะเป็น “สัญญาปีศาจ” ที่เราต้องเซ็น
หากแต่สัญญาฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกควบคุมจากสถาบันการเงินแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป เพราะ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังพอจะเปิดช่องให้แก่เจ้าของข้อมูลด้วยการให้สิทธิในการเข้าถึง แก้ไข ลบข้อมูล หรือระงับใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นสิทธิที่ให้แก่เจ้าของข้อมูลมากกว่าในอดีต
เอาเข้าจริง สถาบันการเงิน ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันมักเป็นฝ่ายได้เปรียบเสมอ เพราะเป็นแหล่งการเงินเดียวที่คนชั้นกลางทั่วไปพอจะเข้าถึงได้ ดังนั้น เมื่อต้องทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน เวลาเขาให้เซ็นอะไรส่วนใหญก็เซ็นไปโดยไม่ได้อ่าน ถึงจะอ่านก็อ่านไม่ทัน (เพราะมันยาวและเยอะมาก)
สัญญาปีศาจที่เราเซ็นกันไป ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อประเภทต่าง ๆ คือการเซ็นความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ทำให้ธนาคารคือแหล่งรวมข้อมูลส่วนบุคคลชั้นดี จนทำให้บริษัทในเครือสามารถวิเคราะห์ทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ
เมื่อมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมา ก็เหมือนทำให้เสียงของผู้ที่ถูกละเมิดมาตลอดได้ส่งเสียงร้องไม่พอใจออกไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์จากบริษัทประกันที่ได้เบอร์เรามาจากไหนไม่รู้ (เอาจริง ๆ เรารู้แหละ) และชอบโทรมาในระหว่างที่เราขับรถบ้าง เรากำลังประชุมอยู่บ้าง หรือแม้ในวันหยุดที่เรากำลังกินข้าวกับครอบครัว พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้เจ้าของข้อมูลได้รักษาสิทธิของตนเอง ถ้ารู้สึกรำคาญมาก ๆ จากการเข้าถึงข้อมูลของสถาบันการเงิน ด้วยการขอให้สถาบันการเงินระงับใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของสิทธิ์
ส่วนตัวแล้วรู้สึกยินดีที่เมืองไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่าจะอยู่ในฐานะสื่อที่ต้องพิจารณางานให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นว่าบทความแต่ละเรื่องหรือการทำรายการจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่สามหรือไม่ ซึ่งเอาเข้าจริง แล้วนั่นคือหนึ่งในหน้าที่ที่คนทำสื่อต้องรับผิดชอบ ส่วนเรื่องโพสต์ภาพในโซเชียลนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของผู้เขียน เพราะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับโลกเสมือนเท่าไรนัก
แต่สำหรับความครอบคลุมของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับข้อมูลทางการเงิน ที่มีผลโดยตรงต่อสถาบันการเงินนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเอาเข้าจริงก็เบื่อมากแล้วกับความเอารัดเอาเปรียบของสถาบันการเงินที่ชอบให้ร่มในวันที่แดดออก แล้วเอาร่มกลับไปในวันที่ฝนตก แถมยังมาเบียดเบียนลูกค้ากับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล
สุดท้ายหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคม และทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง โดยไม่เอื้อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ