ผลกระทบทางจิตใจเมื่อต้องเป็นคนที่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง

นับวันข่าวที่เราเห็นตามหน้าเพจดังในโซเชียลมีเดีย หน้าหนังสือพิมพ์ และการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ จะปรากฏเรื่องที่ชวนให้ผู้รับสารรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากกลวิธีในการนำเสนอข่าวที่ทำให้เรารู้สึกอินตาม รู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากกว่าเมื่อก่อน จากการที่มีน้ำเสียงของความคิดเห็นลงไปอยู่ในข่าวนั้น ๆ ด้วย ทำให้ข่าวไม่ดูแข็งทื่อแบบที่นำเสนอข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว แต่อีกส่วนซึ่งอาจจะบอกว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดก็ได้ คือจิตใจคนเราที่ยากแท้หยั่งถึง มีความบิดเบี้ยวทางตรรกะมากขึ้นทุกที จึงตัดสินใจทำเรื่องที่น่าสะเทือนใจ

อย่างเมื่อหลายวันก่อน มีข่าวหนึ่งที่ทำให้ชาวเน็ตรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและสงสารเด็กสาวคนหนึ่งจับใจ ข่าวรายงานว่าเด็กสาวคนนี้ถูกครอบครัวทิ้งไว้กับญาติตามลำพังหลังจากที่หลบหนีปัญหาหนี้สินไปต่างประเทศโดยไม่บอกกล่าวสักคำ โดยเริ่มแรกครอบครัว 4 คนหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา ด้วยความที่ติดต่อครอบครัวไม่ได้ เด็กสาวจึงคิดว่าอาจเกิดเรื่องร้ายขึ้นแล้วขอความช่วยเหลือให้สังคมช่วยตามหา แต่กลายเป็นว่าครอบครัวที่เด็กสาวเป็นห่วงกลัวว่าจะเหตุการณ์ไม่ดีนั้น ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปโดยที่ไม่บอกให้เธอรู้ ทิ้งเธอซึ่งเป็นลูกสาวคนโตไว้กับญาติที่ไทย

หากดูจากอายุของเด็กสาว จะพบว่าเธอโตพอที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “สภาพจิตใจ” มากกว่า เธอจะต้องรู้สึกอย่างไรที่จู่ ๆ ก็ถูกครอบครัวที่รักทอดทิ้งไปโดยไม่คิดจะบอกสักคำด้วยซ้ำว่าไปไหน การเป็นคนที่ “ถูกทอดทิ้ง” สร้างบาดแผลที่รักษาไม่หายไปตลอดชีวิต แล้วในเวลานี้เธอก็โตพอที่จะรับรู้เหตุการณ์ทั้งหมดว่าครอบครัวจงใจทอดทิ้งเธอและหนีไปเพื่อเอาตัวรอด เพราะครอบครัวไม่ได้บอกให้เด็กสาวรู้ว่าจะทำอะไร จนเกิดเป็นประเด็นให้เด็กสาวต้องตามหา แล้วกลายเป็นข่าวดังขึ้นมา ในข่าวรายงานว่าเธอยังร้องไห้ แล้วขอให้พวกเขากลับมา

ในความเป็นจริง ยังมีกรณีของ “การถูกทิ้ง” อยู่อีกมากมายในสังคม ไม่ใช่แค่กรณีนี้เพียงกรณีเดียว เด็กหลายคนถูกทอดทิ้งไว้ตามกองขยะตั้งแต่ยังเป็นทารก คนเฒ่าคนแก่หลายคนถูกทอดทิ้งให้ใช้ชีวิตตามมีตามเกิด โดยไม่มีใครเหลียวหลังมาดูแล หรือคนที่เมื่อวานยังรักกันอยู่ดี ๆ พอมาวันนี้ก็เก็บข้าวเก็บของหนีไปมีคนใหม่ทั้งที่ยังไม่บอกเลิก การถูกทอดทิ้งยังมีอีกหลายแบบทีเดียว ซึ่งคนที่ถูกทิ้งไปนั้นย่อมเกิดผลกระทบทางจิตใจแน่นอน

ความรู้สึกที่ตนเอง “ถูกทิ้ง”

ธรรมชาติของมนุษย์ ต้องการความรัก ต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการความรู้สึกที่มั่นคงและปลอดภัย โดยเฉพาะจากครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันพื้นฐานสถาบันแรกในชีวิตของมนุษย์ และถือเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝัง หล่อหลอม และขัดเกลาความเป็นมนุษย์ เด็กที่เกิดมาต้องการความรักจากพ่อแม่ ต้องการการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนในเรื่องต่าง ๆ แต่ถ้าหากเด็กถูกทอดทิ้งตั้งแต่ที่บ้าน เด็กอาจเติบโตไปเป็นคนที่มีปม การตั้งคำถามซ้ำ ๆ ว่าพวกเขาทำผิดอะไรถึงถูกทิ้ง ความรู้สึกไร้คุณค่า เพราะแม้แต่ครอบครัวยังไม่ต้องการ ยังให้ความปลอดภัยและมั่นคงไม่ได้ แบบนี้อาจกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคตได้ด้วย อาชญากรจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนที่เคยถูกทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ มาก่อน

บาดแผลที่ไม่มีทางรักษาหาย

แม้ว่าพวกเขาอาจจะให้อภัยคนที่ทอดทิ้งไปได้ในภายหลัง แต่การทอดทิ้งเพียงครั้งเดียวก็สร้างบาดแผลที่ไม่มีทางรักษาหายให้กับคนคนหนึ่งไปแล้ว มันคงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะกลับมาให้ใจคนที่ทอดทิ้งไปได้เต็มร้อย รวมถึงการปฏิเสธที่จะเชื่อใจหรือไว้ใจคนอื่น ๆ เพราะกลัวว่าหลังจากที่เชื่อใจไปแล้ว วันหนึ่งตัวเองก็จะโดนทิ้งให้ต้องเจ็บปวดอยู่คนเดียวเหมือนที่เคย ความรู้สึกหวาดระแวงว่าจะต้องโดดเดี่ยวเพราะถูกทิ้งจะตามเป็นเงา กลัวว่าตัวเองจะทำอะไรผิด ทำอะไรให้คนอื่นไม่พอใจ แล้วจะถูกทิ้งไปอีก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน บาดแผลนี้ก็ไม่เคยหายไป และจะยังมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สร้างความรู้สึกเปราะบางและจิตใจอ่อนแอได้ในทันที

โทษตัวเองและอยู่กับความรู้สึกผิด

ไม่ใช่แค่เด็กเล็ก ๆ เท่านั้นที่จะตั้งคำถามว่าตัวเองทำอะไรผิดถึงได้ถูกทิ้ง สงสัยว่าจะเป็นเด็กไม่ดีแบบที่ถูกดุล่ะมั้ง เพราะพ่อแม่เคยขู่ว่าจะไม่รักและจะไม่อยู่ด้วย ผู้ใหญ่ที่โตแล้วก็ยังถามคำถามนี้หากถูกคนเคยรักทอดทิ้งเหมือนกัน จะเฝ้าถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าฉันทำอะไรผิด ฉันไม่ดีตรงไหน เรื่องไปพลาดที่ตรงไหน ทำไมเขาถึงทิ้งฉันไป สารพัดเหตุผลของการถูกทิ้งถูกคิดขึ้นมาเองในหัว ว่าเพราะแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้เขาทิ้งไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่โทษตัวเองว่าเพราะฉันทำแบบนี้แหละ ฉันถึงต้องถูกทิ้ง แล้วก็จะอยู่กับความรู้สึกผิดแบบนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงคนที่ถูกทิ้งอาจไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ยิ่งรู้สึกผิดมาก ๆ จนสงสัยในคุณค่าของตัวเอง อาจทำให้คิดทำร้ายตัวเอง

การรอคอยที่ไม่รู้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

แม้ว่าในวันหนึ่ง คนที่ถูกทอดทิ้งหลายคนจะสามารถตั้งสติ ตั้งหลัก กลับมาใช้ชีวิตของตนเองได้แบบที่ไม่เจ็บปวดเหมือนช่วงแรก ๆ แต่อย่าลืมว่าความทรงจำนั้นไม่ได้หายไปไหน และลึก ๆ ในใจก็ยัง “รอคอย” คาดหวังที่จะได้เจอกับคนที่ทิ้งไปอีกสักครั้ง มันอาจถูกฝังไว้ในจิตใต้สำนึกที่ลึกที่สุด คือการรอให้คนที่ทิ้งไปกลับมา ทั้งที่ไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้น อาจไม่ใช่ทุกคนที่รู้เช่นนี้ แต่สำหรับคนที่ยังคาดหวังแม้จะเป็นเศษเสี้ยวเล็ก ๆ มันก็เป็นความรู้สึกที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้เหมือนกัน เหมือนคำที่ว่า “ไม่คาดหวังก็จะไม่ผิดหวัง” แต่เพราะยังหวังเลยเจ็บปวด บางคนแสดงออกโดยการปฏิเสธ ฝืนความรู้สึกตัวเอง ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะถ้าไม่ยอมรับความจริงก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่จะจมอยู่กับผลกระทบทางด้านจิตใจหลังจากถูกทอดทิ้ง มีคนจำนวนมากที่สามารถมูฟออนไปมีชีวิตที่ดีมีความสุขได้ โดยทิ้งให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงอดีต ฟื้นตัวและปรับตัวได้แบบที่ไม่ให้เรื่องเหล่านี้ยังมีผลกระทบทางจิตใจ แต่คงจะดีกว่าถ้าจะไม่มีใครที่ต้องถูกทอดทิ้งไปแบบนี้ ถึงจะผ่านเรื่องเลวร้ายมาได้ แต่ระหว่างทางก็ไม่ง่ายเลย เมื่อเวลาผ่านไป แผลเป็นมันอาจจะไม่มีเลือดซึม ไม่รู้สึกเจ็บอีกแล้ว สัมผัสโดนก็รู้สึกเหมือนกับเนื้อหนังทั่วไป แต่เราก็มักจะไม่ลืมว่าแผลเป็นนี้เกิดขึ้นมายังไง ไม่มีใครอยากลงเอยด้วยการถูกทิ้ง