Google Search เพิ่มมาตรการต่อต้านข่าวปลอมด้วยฟีเจอร์ใหม่

โลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นโลกที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายมหาศาล หลั่งไหลเข้ามาหาเราจากได้ทุกทิศทุกทาง ในแต่ละวันเราต้องรับรู้ทั้งเรื่องที่อยากรู้และไม่อยากรู้ เรื่องจริง เรื่องเท็จ ต่างก็ทยอยนำเสนอผ่านหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนยุคใหม่หลาย ๆ คนใช้เป็นช่องทางหลักในการรับเสพข้อมูลข่าวสาร ยุคที่คนทำสงครามกันผ่านปลายปากกาและปลายนิ้ว สิ่งที่เรารับรู้โดยเรียกมันว่า “ข่าว” นั้นถูกด้อยค่าความน่าเชื่อถือลงไปทุกที

เพราะการรายงานข่าวทางออนไลน์ต้องแข่งกับเวลาและคู่แข่งเจ้าอื่น ตามลักษณะเด่นของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดกว้าง ข้อมูลไหลผ่านไปเร็วมาก ทุกอย่างต้องสดใหม่และเร่งรีบ ยิ่งนำเสนอได้ก่อนเจ้าอื่นก็ยิ่งได้เปรียบ ทำให้ข่าวออนไลน์บางส่วนไม่ได้ถูกกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้องอีกครั้งก่อนนำเสนอให้ผู้รับสาร กลายเป็น “ข่าวปลอม” กระจายว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ต คนที่รับสารก็ไม่ได้ตรวจสอบก่อนเชื่อเช่นกันเพราะคิดว่าช่องที่ตนเองกดติดตามไว้เชื่อถือได้ หลายคนจึงกลายเป็นเหยื่อที่หลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมไปแบบไม่รู้ตัว

เพราะโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่ใคร ๆ ก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ หลายช่องทาง ทั้ง LINE, Facebook, Twitter, TikTok หรือช่องทางอื่น ๆ สื่อแต่ละเจ้ามีหลายแพลตฟอร์มในการกระจายข่าวสาร ยังไม่นับรวมกับสื่อเฉพาะกิจอย่างเรา ๆ ที่สามารถสถาปนาตนเองเป็นสื่อได้อย่างง่ายดาย จึงไม่แปลกที่จะเกิดข่าวปลอมทะลักโลกออนไลน์ โดยที่บางทีเราไม่ได้เชื่อข่าวปลอมอย่างเดียว แต่ยังอาจเผลอแชร์ไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวด้วย ดังนั้น ขอแนะนำวิธีเสพข่าวให้ไกลจากข่าวปลอม ก่อนจะเชื่อ ก่อนจะแชร์

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็หาข้อมูลต่าง ๆ ที่ตนเองอยากรู้กันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะมีข้อสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร ก็แค่เข้าอินเทอร์เน็ต นิสัยที่ใคร ๆ ก็หาข้อมูลได้เองจากใน Google แค่พิมพ์ “คำค้นหา” ที่ต้องการ ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาให้เลือกคลิกเข้าไปดูมากมาย Google จึงไม่ต่างอะไรกับ “สารานุกรม” ที่รวบรวมความรู้ไว้ทุกแขนง ไม่ต้องเสียเวลาไปห้องสมุดหรือหาหนังสือเหมือนอย่างสมัยก่อน แค่เข้าอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์ ก็ได้คำตอบที่ต้องการ

แต่เราจะมั่นใจกับ “คำตอบที่ Google ค้นเจอ” ได้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อข้อมูลที่เราค้นหาได้มักเป็นแบบ “Copy-Paste” ไม่ได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ไม่อัปเดต ไม่ได้มีความรู้ใหม่ บางทีไม่แม้แต่จะสะกดคำถูกผิดด้วยซ้ำ ทำเพียงคัดลอกงานของคนอื่นมาตัดแปะทำซ้ำข้อมูลกันไปมา จนแทบหาข้อมูลต้นฉบับที่เขียนไว้ไม่เจอ

นอกจากนี้ เนื่องจากมีกรณีที่ Google เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ไม่สามารถกลั่นกรองข่าวเท็จหรือข่าวที่ไม่มีมูลความจริงได้ จนทำให้ผู้รับสารเกิดความสับสนในการรับข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้ Google ต้องเปิดตัวโครงการ Google News Initiative (GNI) เพื่อช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวจริงเท่านั้น และมีระบบอัลกอริทึมอย่าง “PageRank” ที่ช่วยตรวจสอบและจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ได้ดีขึ้น แต่ก็อาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสอดแทรกเข้ามาได้เช่นกัน และอาจทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดได้

การรับข่าวปลอมโดยที่ไม่รู้ว่ามันปลอม หรือบางครั้งก็แยกไม่ออกได้ง่าย ๆ ว่าจริงหรือเท็จ นำมาซึ่งความเชื่อที่ผิด ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่คาดเคลื่อนไปจากเดิม สร้างความรับรู้แบบปั่นหัว ทำให้ผู้คนแตกแยก แตกตื่น หรือเป็นต้นกำเนิดทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) รวมถึงปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ ในแบบที่คนกลุ่มหนึ่งอยากจะเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น แพลตฟอร์มออนไลน์จึงพยายามหามาตการที่จะจัดการกับข่าวปลอมให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งล่าสุด Google Search ก็เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในการเข้ามาจัดการกับข่าวปลอมให้ตอบโจทย์มากขึ้น

การแปะป้าย Highly Cited

แปะป้าย Highly Cited สำหรับงานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุด ในกรณีที่มีคนค้นหาข่าวสำคัญ ๆ ที่มีการกล่าวถึงบ่อย ๆ ซึ่งปกติหลายต่อหลายสื่อก็เล่นข่าวเดียวกัน แต่มักจะเป็นการอ้างต่อ ๆ กันมา โดยอาจมีการบิดเบือนข้อมูลบางอย่าง แค่จงใจใช้คำที่มีความหมายกำกวม ความจริงก็ถูกเปลี่ยนได้แล้ว อีกทั้งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าต้นเรื่องจริง ๆ มันมาจากไหนกันแน่ ดังนั้นป้ายกำกับนี้จะปรากฏในเรื่องเด่น ตั้งแต่บทความเชิงวิเคราะห์ การสัมภาษณ์ ประกาศต่าง ๆ ข่าวประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งข่าวท้องถิ่น เพียงแค่สื่อที่ทำข้อมูลใหม่จะอ้างอิงกลับมาที่ต้นฉบับเท่านั้น

กรณีที่มีคนค้นหา การแปะป้าย Highly Cited จะช่วยให้คนรับสารสามารถเห็นงานต้นฉบับได้ง่ายขึ้น สามารถกดเข้าไปอ่านที่ต้นเรื่องได้ ป้ายนี้จึงช่วยให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งข่าวหลักที่เชื่อถือได้โดยตรง สำหรับงานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุด แต่ถ้าหากว่าเป็นข่าวใหม่มาก ๆ ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือต้นเรื่องก็ไม่สามารถพิสูจน์ความน่าเชื่อถือได้ Google จะขึ้นหน้าจอเตือนว่าผลการค้นหาเปลี่ยนแปลงได้ ให้กลับมาดูใหม่ในภายหลัง

ฟีเจอร์นี้จะเริ่มให้บริการสำหรับการค้นหาด้วยภาษาอังกฤษผ่านสมาร์ทโฟนในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนเป็นที่แรก จากนั้นจึงจะค่อย ๆ ขยายไปทั่วโลกต่อจากนี้

เพิ่มเมนู About This Result

เพื่อให้ข้อมูลว่าเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ในกรณีที่เราไปเจอข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่รู้จักมาก่อน เมนูนี้จะมีประโยชน์ตรงที่ช่วยตรวจสอบแหล่งที่มา โดยเราสามารถกดดูได้จากปุ่ม จุด 3 จุด (…) ที่มุมของผลการค้นหา แล้วคลิก “เพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้านี้”

เพิ่มหน้าเว็บ Fact Check Tools

อีกหนึ่งวิธีในการตรวจสอบข้อเท็จจริงบน Google สำหรับการค้นหาข้อมูลของหัวข้อที่สนใจ โดยขณะนี้รวบรวมรายการการตรวจสอบข่าวปลอมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกแล้วกว่า 150,000 รายการ

ในยุคที่อะไร ๆ ก็เป็นกลายเป็นข่าวได้ ในฐานะคนเสพข่าวจึงต้องระมัดระวังการรับสารของตนเองให้มากที่สุด แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยกรองข่าวปลอมแล้วชั้นหนึ่ง แต่ผู้รับสารจะต้องรู้จักกลั่นกรองคุณภาพข่าว ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ความถูกต้องของข่าว ข้อเท็จจริงของข่าวด้วยตนเอง รวมถึงอคติในการรับข้อมูลข่าวสาร มีวิจารณญาณในการเสพข่าวสาร อย่าเชื่ออะไรโดยขาดสติ วางตนเองเป็นกลางในการรับสาร แยกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นออกจากกันให้ได้ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม

จำไว้ว่า “ข่าว” คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจก็ตาม แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริง ส่วนจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ชอบไม่ชอบ อยู่ที่การพิจารณาส่วนบุคคล

ข้อมูลจาก Google