ผู้คุมกฎแห่งศตวรรษที่ 21 “บิ๊ก บราเธอร์” โซเชียลมีเดีย

ภาพจาก pixabay

ในโลกที่มีคนจากรัฐบาลคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลาเมื่อใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าคุณจะทำอะไรข้อมูลของคุณจะถูกเปิดเผยกับทางการหากคุณทำดีคุณก็จะได้คะแนนความประพฤติดี และกลายเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ แต่ถ้าคุณใช้โซเชียลมีเดียในทางที่รัฐมองว่าไม่สร้างสรรค์ คุณก็จะถูกหักคะแนน คุณคิดว่าคุณอยากอยู่ในโลกแบบนั้นไหม

ถ้าคุณตอบว่าไม่ อาจจะช้าเกินไปแล้วเพราะแนวคิดดังกล่าวได้ถูกเสนอเป็นนโยบายในการควบคุมประชากรในการใช้งานโซเชียลมีเดียของจีนตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่เมืองไทยเองตอนนี้ได้แต่ร้อนๆหนาวๆเพราะเพิ่งจะมีการลงมติเห็นชอบในรายงานการศึกษาและข้อเสนอการ ปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของสภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศไทย

เรามาดูกันก่อนว่า แนวนโยบายควบคุมโซเชียลมีเดีย ของจีนนั้นเป็นอย่างไร สำหรับการจัดระเบียบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจีน นั้นเกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่ต้องการควบคุมไม่ให้เกิดอาชญากรรมได้โดยง่าย ซึ่งโครงการดังกล่าวทางการจีนหวังจะจัดระเบียบให้เสร็จสิ้นและเริ่มใช้งานกันจริงในปี 2020 ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความจริงใจ และใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางสร้างสรรค์

เนื้อหาในนโยบายดังกล่าวนั้นคือการเข้าแทรกแซง และควบคุมความประพฤติของผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้งานทุกคนต้องมีการลงทะเบียน หากพบว่าผู้ใช้งานรายใดทำผิดหรือเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ พวกเขาจะถูกจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และถ้าผู้ใช้งานหรือบริษัทใดไม่รักษากฎการใช้งานโซเชียลมีเดียที่รัฐตั้งไว้ พวกเขาจะถูกจับตาเป็นพิเศษและจะถูกตรวจสอบโดยทันที

ทั้งนี้ระบบตรวจสอบการใช้โซเชียลมีเดีย ตามแผนของรัฐบาลปักกิ่งนั้นจะเป็นการควบคุมชาวจีนที่ปัจจุบันใช้โซเชียลมีเดียในการเสพข่าว และ สื่อสารมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งการลงทะเบียนเพื่อใช้งานของแต่ละคนนั้นจะมีการให้เครดิตแก่ผู้ใช้งานโดยแยกเป็นประเภทประกอบไปด้วยแนวคิดทางการเมือง การตลาด สังคม และ กฎหมาย

แม้เวลานี้ยังไม่มีการประกาศใช้นโยบายในการควบคุมสื่อออนไลน์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่แนวนโยบายนี้ได้รับความสนับสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐบาลปักกิ่งจะมีสิทธิในการควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่ภายในประเทศ อันเป็นสิ่งที่สื่อต่างประเทศมองว่า นี่คือตำรวจยุคใหม่ของศตวรรษที่ 21

แนวคิดดังกล่าวของจีน ดูเหมือนจะไม่ต่างจากแนวคิดในการควบคุมโซเชียลมีเดียของไทย เมื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มีมติเสียงข้างมาก 144 เสียง เห็นชอบ รายงานการศึกษาและข้อเสนอ การปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน ระยะเร่งด่วน ให้จัดระบบการเข้าถึงสื่อ โดยการลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยใบหน้า ลายนิ้วมือ และข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งานได้

นอกจากนี้ ระบบจัดเก็บข้อมูลบริการของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ต้องขึ้นทะเบียนกับ กสทช. และติดตั้งระบบเก็บข้อมูลการใช้งานในอินเทอร์เน็ต หรือ Catching Server เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดยไม่ต้องดึงข้อมูลจากต่างประเทศ และให้กรมสรรพากรเก็บภาษีผู้บริโภค (VAT) กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ กับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่สามารถเก็บภาษี VAT จากผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ จะต้องดำเนินการเรียกเก็บจาก ผู้บริโภคโดยตรง

ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดให้กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวัง โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดตามและตรวจสอบ ข้อความ รูปภาพ คลิปเสียงในสื่อออนไลน์ทุกประเภท โดยเฉพาะในระบบเฟซบุ๊ก และยูทูป รวมถึงความเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในโลกสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบปัญหาของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศาสนา การทหาร และการเมืองของประเทศ

วิธีการของภาครัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชน กับความพยายามที่จะควบคุมการใช้โซเชียลมีเดีย นั้นดูจะเข้มข้นขึ้นทุกวัน โดยมีเหตุผลว่าต้องการควบคุมอาชญากรรมภายใน ซึ่งวิธีการนี้บางประเทศก็เปิดเผยเป็นแนวนโยบาย บางประเทศก็ใช้วิธีการในทางลับในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวประชากร (ดังเช่นในสหรัฐฯ ที่กรณีดักฟังโทรศัพท์ของเอฟบีไอ ทำให้องค์กรนี้ฉาวโฉ่มาแล้ว) แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีแบบไหน ความรู้สึกของประชาชนที่ต้องใช้งานภายใต้การควบคุมนั้น คงไม่ต่างอะไรไปจากเรียลลิตี้ “บิ๊กบราเธอร์” ที่ผู้เล่นต้องถูกผู้คุมกฎคอยจับตาอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง