Dunning Kruger Effect ทฤษฎีหลุมแห่งความกลวง

Dunning Kruger Effect คือผลกระทบอันเกิดจากความไม่รู้แต่คิดว่ารู้ เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อว่า David Dunning และ Justin Kruger โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่าเป็นการ ให้ค่าเกินจริง (Overestimate) ต่อความรู้ของบุคคล เกิดขึ้นได้เพราะคิดว่าตัวเองรู้ทั้ง ที่จริง ๆ แล้วไม่เคยมีทักษะหรือลงมือทำ หากการให้ค่าความสามารถตนเองเกินจริงนั้น ทำให้เขามองว่าเป็นเรื่องไม่ยาก

ทำความเข้าใจทฤษฎี Dunning-Kruger Effect

ในปี 1999 สองนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ได้นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ให้ค่าตนเองเกินจริงโดยเปิดการทดสอบอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการด้วยแบบทดสอบเกี่ยวกับตรรกะ แกรมม่า และอารมณ์ขันของพวกเขา ซึ่งจากการที่ทดสอบจากอาสาสมัคร พบว่าอาสาสมัครที่ทำแบบทดสอบที่มีคะแนนต่ำกว่าค่ามาตรฐานมักจะประเมินว่าตนเองนั้นมีความสามารถอยู่เหนือมาตรฐาน

อาทิเช่น อาสาสมัครที่กล่าวถึงความชำนาญของตนเองอยู่ในอันดับที่ 12 แต่ในความเป็นจริงแล้วความสามารถของพวกเขาอยู่ในอันดับที่ 62 ตามมาตรฐานความสามารถ

โดยงานวิจัยของดันนิงและครูเกอร์นั้น ได้กำหนดลักษณะของโจทย์และปัญหาให้อาสาสมัครแก้ไขด้วยการใช้วิธีคิดวิเคราะห์และใช้ทักษะความสามารถของตนเอง

ซึ่งวิธีการทดสอบดังกล่าวพบว่าอาสาสมัครที่มีความรู้จำกัดหรือรู้แต่เพียงผิวเผินมักจะแก้ไขโจทย์และปัญหาที่ให้ไปไม่ได้ และจะมีข้อสรุปที่ผิดพลาด แต่ด้วยความที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเองจนมากเกินไป ทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่ตระหนักถึงความไร้ความสามารถของตนเอง

ความมั่นใจที่สูงจนเกินความสามารถของตนเอง ทำให้หลายคนตกลงในหุบเหวแห่งความโง่เขลา พวกเขาต้องแสร้งทำเป็นมีทักษะ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ต้องแสร้งทำเป็นฉลาดทั้งที่ข้างในนั้นกลวงโบ๋

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความมั่นใจที่มากเกินไป ไม่ยอมรับความจริงเพียงเพราะกลัวจะเสียหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ฉลาดอีกหลายคนก็ตกลงในหุบเหวแห่งความโง่เขลาตามทฤษฎีดันนิงครูเกอร์ได้ เพราะความมั่นใจว่าตนเองฉลาดอยู่แล้ว เลยขาดการพัฒนา และปิดกั้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมไปถึงทักษะเฉพาะด้านที่ควรมีติดตัว

คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ตนเองนั้นมีประสบการณ์และทักษะที่เพียงพอแล้วจากการเรียนหรือการทำงาน โดยไม่ได้มองว่า คนอื่นก็มีเช่นเดียวกับที่ตนเองมี และหลายคนทำได้ดีกว่าด้วย เช่นนั้นแล้วทำไมผู้คนถึงไม่ได้ตระหนักและตกลงในหุบเหวแห่งความโง่เขลา

คำตอบที่อธิบายจากทฤษฎีดังกล่าว คือผู้คนส่วนใหญ่มักจะให้ค่าหรืออธิบายถึงตัวตนของตนเองแบบเกินจริง เกินกว่ามาตรฐานที่พวกเขามีไม่ว่าจะเป็นความฉลาด อารมณ์ขัน หรือทักษะทางด้านอื่น ๆ คนทั่วไปมักจะไม่ยอมรับความไม่รู้ของตนเอง พวกเขามักจะเพิกเฉยและหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ต และเชื่อว่าพวกเขารู้เรื่องที่ไม่รู้แล้วอย่างถ่องแท้ เมื่อทำบ่อยครั้งเข้าทำให้พวกเขาให้ค่าตนเองจนเกินจริง และกลายเป็นว่าเข้าใจว่าตนเองนั้นมีทักษะหรือมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ

ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบจาก Dunning-Kruger Effect

ทฤษฎี Dunning-Kruger Effect นั้นถูกพบเป็นอย่างมากในผู้ที่ไม่สามารถใช้ตรรกะและเหตุผลได้อย่างถูกต้อง เพราะความเข้าใจว่าตนเองรู้ทั้งที่ไม่ได้รู้จริงนั้น ส่งผลต่อการตัดสินใจและความฉลาดทางอารมณ์ ไปจนถึงความรู้เกี่ยวกับเงินทองส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งความรู้เรื่องการใช้ปืนอย่างถูกต้อง

ซึ่งความเชื่อมั่นผิด ๆ แบบดันนิง-ครูเกอร์เอฟเฟกต์ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มักมีอาการเช่นนั้นและเกิดได้จากอคติส่วนตนที่ทำให้สร้างความกลวงให้เกิดขึ้นในตนเอง

นอกจากนี้ ทฤษฏี Dunning-Kruger Effect ยังสามารถนำไปอธิบายถึงผู้คนที่มีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รู้ในเชิงลึก หากให้ค่าตนเองมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น จากผลวิจัยนั้นพบกว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักให้ทักษะตนเองสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วให้ค่าตนเองเกินจริงไปมาก

ซึ่งการให้ค่าที่เกินไปมากนี้สามารถเกิดขึ้นได้ หากคนที่มีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง อยู่ท่ามกลางสังคมที่ไม่มีความรู้อยู่เลย หรือมีอยู่หากแต่คนนั้นเพิกเฉยที่จะโต้แย้ง ทำให้คนที่มีความรู้แค่พื้นฐานพยายามจะส่งความรู้อันน้อยนิดปนมากับความคิดเห็นของตนเองและสร้างภาพว่ารู้จริง ทำให้ผู้ตามเกิดความเชื่อมั่น จนกว่าจะมีคนเข้ามาตรวจสอบและขุดคุ้ยด้วยความจริง ด้วยความรู้จริงก็จะพบกว่าคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น แทบจะไม่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ อยู่ในตัวเลย

ทำไมผู้คนถึงคิดว่าตนเองมีความรู้มากกว่าที่พวกเขามีอยู่จริง

ความมั่นใจมากเกินไปประเภทหนึ่งเรียกว่า ความเชื่อมั่นตนเองและคิดว่าตนเองถูกอยู่เสมอ เป็นบุคลิกภาพของกลุ่มคนที่มีความมั่นใจจนเกินไป และสร้างความเชื่อนั้นซ้ำ ๆ ตลอดเวลาจนเชื่อไปแล้วว่าตนเองนั้นมีความรู้อยู่จริง ทั้งที่ไม่มีอยู่เลย ส่งผลต่อการตัดสินใจที่อาจเกิดความผิดพลาด แต่ถึงแม้ผิดพลาดพวกเขาก็สามารถหาเหตุผลเพื่อยกให้วิธีการของตนเองถูกต้องอยู่เสมอ

ขณะเดียวกับพฤติกรรมของกลุ่มคนประเภทนี้มักจะต้องการปรากฏตัวต่อหน้าคนอื่นด้วยความรู้สึกที่ตนเองมีความฉลาดเหนือกว่าคนอื่น ลักษณะนี้มักจะทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ก้าวเข้าสู่ความผิดพลาดได้ง่าย หากเปรียบเทียบก็เหมือนนักกีฬาที่ประเมินความสามารถของตนเองสูงเกินไปจนทำให้พวกเขามีอาการบาดเจ็บ

ทำอย่างไรถึงจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมแห่งความกลวงและโง่เขลา

การหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตกอยู่ในพฤติกรรมที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect นั้นทำได้ง่ายมาก เพียงแค่คุณซื่อสัตย์กับตัวคุณเอง และถ้าต้องเจอกับคนในลักษณะให้ค่าเกินจริง คุณสามารถทดสอบได้เองด้วยคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ที่พวกเขามี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตอบไม่ได้

แต่คนเหล่านี้มักจะไม่ยอมรับและดันทุรังที่จะพาความไม่รู้ของตนเองไปพบกับจุดจบที่พังพินาศ หากคุณต้องการหลีกเลี่ยงจากพฤติกรรมดังกล่าวหรือคนในลักษณะดังกล่าว ขอให้หาคนที่รู้จริงและเรียนรู้จากคนเหล่านั้น ดูวิธีการที่พวกเขาใช้แก้ไขความไม่รู้ของตนเอง