“วาว..วาว..เสียงรถไฟแล่นไป ฤทัยครื้นเครง…” เพลงของวงอินโนเซนต์ที่เชื่อว่ายังติดหู ติดปาก ใน บรรยากาศการโดยสารไปบนตู้โบกี้ที่ติดสอยห้อยตามกันเป็นขบวนอยู่บนรางเหล็ก ก็คงอยู่ในความทรงจำของทุกคนเช่นกัน
คุณผู้อ่านนั่งรถไฟในประเทศไทยครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ?
ผมน่ะเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จำได้ว่าเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดหนองคาย รถออกประมาณหัวค่ำด้วยบรรยากาศสุดชิลในตู้เสบียง นั่งเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ชานกรุง สั่งข้าวปลาอาหารมากินพร้อมเครื่องดื่ม ปรากฏว่านั่งได้สักพักก็ต้องหยุดรอการสับราง เพราะบ้านเรายังเป็นรางเดี่ยวต้องผลัดกันวิ่ง เดี๋ยวรถไฟชนกัน (อันนี้ไม่ได้เป็นสำนวนนะครับ555)
วิ่งๆหยุดๆ วิ่งๆหยุดๆ จนเริ่มดึกทนไม่ไหวเข้า ผมต้องเลี่ยงเข้ามาพักในตู้นอนปรับอากาศที่จองไว้ โชคดีตอนนั้นยังวัยรุ่นอยู่ กินง่ายนอนง่าย ตื่นเช้ามารถไฟก็ยังวิ่งไม่ถึงตามกำหนด ต้องลุ้นกันอีกต่ออีกนิดว่าจะถึงเมื่อไหร่ สุดท้ายไปถึงหนองคายตอนประมาณสิบโมงเช้าเห็นจะได้ น่าจะกินเวลาไปทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง เล่นเอาเข็ดขยาดไปพอสมควรเหมือนกัน
ช่วงนี้บรรยากาศการขนส่งบนรางบ้านเราไม่ได้หวานๆเย็นๆเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อมีโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ไทย เกิดขึ้นมาให้เป็นประเด็นถกเถียงกันในหลายๆแง่มุม
ถึงเวลานี้แม้จะมาช้า (เพราะคนหนีไปขึ้นเครื่องบินกันเยอะแล้ว) แต่รัฐบาลยุคนี้พยายามผลักดันทั้งโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ก็น่าชื่นชมในความหวังดีแต่กลัวเหมือนกันว่าบางเส้นทางจะแข่งกันเองจนขาดทุนตูดบานทะโร่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย ที่งบลงทุนขั้นต้น 1.7 แสนล้านบาท สร้างจนสุดสายสะดือนั้นอาจจะต้องใช้งบปาเข้าไปถึง 5 แสนล้านบาท ฟังแล้วน่าเป็นห่วงจริงๆ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่พยายามลงทุนในเมกาโปรเจ็คต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวไทย แต่น่าเสียดายลงทุนใหญ่ทั้งที ผ่าไปลงทุนบนไอเดียของคนอื่นเขาเสียอย่างนั้นน่ะสิ
เข้าทำนองคนคิดไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้คิด
หลายคนวิจารณ์ว่า ตกลงโครงการนี้จีนอยากทำหรือไทยอยากทำกันแน่ แล้วทำไมไทยต้องเป็นฝ่ายออกทุน ทั้งๆที่จีนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าไทย เพราะเป็นคนออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และที่สำคัญปล่อยเงินกู้ด้วย
ส่วนตัวผมเองนั้นหวังแต่เพียงว่า ไปเที่ยวหนองคายคราวหน้าตอนแก่ๆ ขอให้ได้เลือกใช้ จะรางคู่หรือความเร็วสูง เอาให้เสร็จเป็นรูปเป็นร่างสักอย่างหรือสองอย่าง
แก่ๆแล้วยังต้องมานั่งรถไฟเที่ยวละ 14-15 ชั่วโมง มันไม่สบายก้นนะโยม.