วางแผนเที่ยว (ทิพย์ไปก่อน) ไปได้เมื่อไรไปเลย

ในที่สุดก็ถึงวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ เรามาหาเรื่องอะไรที่บันเทิงใจทำกันดีกว่า ซึ่ง “เรื่องเที่ยว” ก็ถือเป็นเรื่องที่จรรโลงใจที่สุดแล้วในสถานการณ์แบบนี้ ถึงเวลานี้จะทำได้ดีที่สุดแค่เที่ยวทิพย์ไปก่อนก็เถอะ

เพราะในช่วงที่เราส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไปเที่ยวสถานที่อื่น ๆ ในโลกได้ นอกจากเดินวนไปมาในบ้าน แค่ได้พูดถึงการไปเที่ยวก็สนุกแล้ว แม้ว่า ณ เวลานี้ สถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะไม่แน่นอนว่าเราจะเดินทางไปต่างประเทศอย่างอิสระแบบเมื่อก่อนเมื่อไร ถึงเราจะวางแผนไว้ มันก็อาจจะเป็นแผนที่วางไว้นานเกิน 1 ปีก็เป็นได้ แต่ข้อดีของการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนก็คือ คุณมีเวลาเก็บเงิน มีเวลาส่องราคาตั๋วเครื่องบินในช่วงโปรโมชัน มีเวลาค้นหาสถานที่แปลก ๆ และมีเวลานอนคิดว่ามีอะไรที่จำเป็นที่ต้องเอาไปด้วยในครั้งนี้บ้าง ถ้ายังไม่ได้ซื้อจะได้ซื้อ

ฉะนั้น ถ้าไปได้เมื่อไร คุณก็จะได้พร้อมออกเดินทางทันทีด้วยแผนที่วางเอาไว้นานแล้ว เพราะเรารู้ว่าคุณอึดอัดมานานที่ต้องอยู่แต่บ้านไปไหนไม่ได้แบบนี้! ไปได้ปุ๊บจะได้ไปปั๊บ (ก่อนที่อาจจะโดนล็อกดาวน์ไปยาว ๆ อีกรอบ) มาใช้เวลาที่ต้องกักตัวอยู่บ้านนี้วางแผนเที่ยวเล่น ๆ (แต่แอบจริงจัง) ดู เราจะไปเที่ยวไหนกันดี

ขั้นตอนที่ 1 : จะไปที่ไหนล่ะ?

แน่นอนอยู่แล้วสิ! ก่อนวางแผนเดินทางรอบโลกได้ เราก็ต้องคิดก่อนว่าต้องการจะไปที่ไหน ปกติแล้วเราก็มักจะเลือกจากการจินตนาการว่าอยากไปเยือนที่นั่นที่นี่สักครั้ง อยากไปลองกินเมนูท้องถิ่น อยากไปเห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้วยตาตัวเอง อยากไปเดินช้อปปิ้งถ่ายรูปสวย ๆ ที่นี่ อยากไปหาศิลปินในดวงใจ หรือไปเห็นรีวิวที่คนอื่นเที่ยวไว้โดยบังเอิญแล้วประทับใจขึ้นมา ซึ่งปกติแล้วคุณควรวางแผนเลือกจุดหมายปลายทางล่วงหน้าประมาณ 6-8 เดือนก่อนเดินทาง เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (แต่เวลานี้ คุณคงมีเวลาเตรียมตัวอีกนานทีเดียว)

ชีวิตต้องอยู่ด้วยความหวัง คุณอยากไปเที่ยวที่ไหน ก็หาภาพที่นั่นมาแปะไว้บนผนัง ให้ตัวเองเห็นทุกวันว่าเราจะได้ไปเหยียบที่นี่ในไม่ช้า (แค่ต้องรอโควิดซาลงก่อน) ถ้าเกิดเปลี่ยนใจซา อยากไปที่อื่นซา ก็แค่เปลี่ยนภาพเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 2 : มีงบประมาณอยู่เท่าไร

ความท้าทายในการวางแผนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ คือการวางแผนด้านการเงิน ถึงอย่างนั้น เราก็ยอมจ่ายเพื่อประสบการณ์ชีวิต ซึ่งถ้าอยากให้ทุกอย่างไปได้สวย ไม่ต้องไปเผชิญกับสถานการณ์คับขันไม่คาดฝันกับตัว ต้องตั้งงบประมาณเที่ยวของคุณอย่างรัดกุม

โดยวิธีการตั้งงบประมาณนี้ไม่ยากเลยในยุคที่ทุกอย่างค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต คุณสามารถเข้าไปอ่านรีวิวที่เคยมีคนไปเที่ยว ลองคำนวณค่าเงินแลกเปลี่ยน เข้าเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบิน-จองที่พัก เข้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อดูว่าของที่คุณตั้งใจจะไปหิ้วกลับมานั้นมีราคาคร่าว ๆ อยู่ที่เท่าไร จะช่วยให้คุณวางแผนเรื่องเงินได้ง่ายขึ้น หรือถ้าคุณยังเป็นมือใหม่ที่เพิ่งจะวางแผนเที่ยวด้วยตัวเองครั้งแรก อาจจะยังเริ่มต้นไม่ถูก ถ้าอย่างนั้นลองมาพิจารณาการวางแผนงบประมาณตามนี้

  • ค่าตั๋วเครื่องบิน
  • ค่าที่พัก คุณต้องมีที่พักทุกคืนตั้งแต่เครื่องบินลงที่ประเทศปลายทาง โดยไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นครบครัน
  • ค่าอาหาร ถ้าคุณเป็นสายกิน คุณต้องตั้งงบประมาณที่เกี่ยวกับการกินสูงหน่อย
  • ความบันเทิงต่าง ๆ เช่น ทัวร์ การแสดง กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ตั้งใจจะไปทำแน่ ๆ และที่อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่คุณไม่อยากพลาดประสบการณ์นี้ในต่างแดน
  • การคมนาคม เช่น รถไฟ รถประจำทาง รถแท็กซี่ เรือข้ามฟาก ค่าเช่ารถจักรยาน รวมถึงเผื่อหลงทาง อย่าลืมคิดงบประมาณส่วนนี้แยกออกจากค่าตั๋วเครื่องบิน ต้องแน่ใจว่าคุณจะมีเงินเพื่อไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่อยากไป และจะต้องมีเงินเผื่อไว้พาตัวเองกลับบ้าน หากเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น
  • ค่าช้อปปิ้ง เช่น ของที่ระลึก ของที่อยากได้ รวมถึงค่าไปรษณีย์ส่งของกลับบ้านถ้าคุณไม่อยากหอบหิ้วพะรุงพะรังกลับมาเอง
  • อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด แต่ต้องคิดเผื่อไว้เสมอ ว่าถ้าเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในสถานที่ที่คุณไม่คุ้นเคย คุณต้องพาตัวเองกลับบ้านให้ได้ และเงินคือสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในเวลานั้น

ขั้นตอนที่ 3 : จะไปทำอะไรที่นั่นบ้าง

ทำไมถึงต้องตั้งงบประมาณก่อนค่อยมาวางแผนว่าจะไปทำอะไรบ้าง ก็เพราะงบจะได้ไม่บานปลาย แต่ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน สามารถจ่ายได้ตามใจชอบก็ไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าหากมาดูกิจกรรมที่คุณจะทำ แล้วพบว่างบประมาณที่วางไว้ขาดเหลืออย่างไร ก็ยังพอยืดหยุ่นได้ ตัดกิจกรรมทิ้งหรือเพิ่มเงิน ดีกว่าเฟ้อไปก่อน มันจะไม่มีเพดานของงบประมาณ

นอกจากเรื่องเงิน การวางแผนจะไปทำอะไรบ้างก็สัมพันธ์กับเวลา โดยคุณต้องจัดสรรเวลาให้ดีในแต่ละสถานที่ สถานที่ใกล้ไกล ใช้เวลาแค่ไหน แล้วคุณไปกี่วัน เผื่อเวลากรณีหลงทางด้วย และอย่าลืมเรื่องของวัน-เวลาที่ต่างกันในแต่ละประเทศ การไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกอาจทำให้คุณสับสน รวมถึงเช็กให้ชัวร์ว่าคุณอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้นานเท่าไร เพื่อกำหนดวันเดินทางกลับ และสถานที่ที่คุณอยากไปจริง ๆ จนตัดออกจากแผนไม่ได้

ขั้นตอนที่ 4 : ว่าด้วยเรื่องของตั๋ว

ตั๋วในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตั๋วเครื่องบินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงตั๋วอะไรก็ตามที่คุณสามารถจองล่วงหน้าก่อนออกเดินทางได้ ซึ่งมันจะช่วยให้การเดินทางครั้งนี้ของคุณง่ายขึ้นมาก และไม่ต้องไปหงุดหงิดกับความไม่แน่นอนหน้างาน คนอาจจะเยอะจนคุณเข้าไม่ได้ แต่ถ้าคุณจองล่วงหน้าไว้และมีตั๋วแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหา

ส่วนตั๋วเครื่องบิน หากคุณวางแผนการเดินทางล่วงหน้าไว้นานหน่อย คุณจะมีเวลาสำรวจช่วงที่ตั๋วเครื่องบินราคาถูกได้มากขึ้น โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อตั๋วเครื่องบินคือ 4-6 เดือนก่อนออกเดินทาง ที่สำคัญอ่านกฎเกณฑ์ ข้อจำกัด และเงื่อนไขการเดินทางให้ชัดเจน หากเกิดปัญหา มันจะได้ไม่เป็นความผิดของคุณที่อ่านไม่รอบคอบเอง หากจองตั๋วผ่านตัวแทน ก็ต้องเช็กวันเวลาให้ถูกต้อง รวมถึงอาจเกิดปัญหาบางอย่างที่ไม่แน่นอนขึ้น แต่ถ้าคุณจองตั๋วกับสายการบินเอง คุณอาจจะเลือกได้ว่าคุณต้องการตั๋วเครื่องบินที่มีความยืดหยุ่นได้

ขั้นตอนที่ 5 : จัดระเบียบชีวิต

หากวางแผนการเดินทาง 4 ขั้นตอนแรกเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนที่ 5 ก็คือ คุณต้องเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง และเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนอย่างราบรื่น สนุก สมหวังกับการเดินทาง เช่น คุณต้องเคลียร์งานของคุณให้เสร็จก่อนลางานยาว ซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเดินทาง การวางแผนเดินทางครั้งนี้ คุณมีเวลาในการเตรียมตัวนานมาก เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้นหรือแย่ลงอีกเมื่อไร เพราะฉะนั้น อย่าให้พลาดถ้าโชคดี จะได้พร้อมเดินทาง

ทบทวนอีกครั้งถึงสิ่งสำคัญที่ห้ามลืม

  • กำหนดวันที่จะขอลางาน
  • จัดการกับสัตว์เลี้ยง เรื่องต่าง ๆ ในบ้านให้เรียบร้อย
  • ทำพาสปอร์ต/วีซ่า
  • ซื้อตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก
  • ซื้อประกันภัยการเดินทาง

สำหรับเรื่องที่พัก ไม่ควรจองล่วงหน้ามากกว่า 2 เดือน เผื่อในกรณีที่คุณเปลี่ยนแผนการเดินทาง การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการจอง มักจะยากกว่าการจอง ส่วนเคล็ดลับในการจอง คือให้คำนึงถึงความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านมากที่สุด สะดวก เป็นส่วนตัว และปลอดภัย