จิตวิทยาในการ “สร้างความสุข” โดยไม่ต้องรู้สึกผิด

เคยเป็นไหมที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นช่างไร้สาระสิ้นดี ไม่ก็เสียเวลาอันมีค่าไปแบบเปล่าประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้าม เรากลับรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำตามใจตัวเองนั้น ตัวอย่าง เช่น การนั่งดูรายการทีวีที่สุดจะไร้สาระทั้งวันโดยไม่ทำอะไรเลย กินอาหาร fast food/ junk food ทั้งหลาย ทั้งที่รู้ดีว่ามันไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช้อปปิ้งแหลกลาญ รูดง่ายจ่ายสะดวกโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง หรืออ่านหนังสือประเภทที่คนอื่นมองว่าไร้สาระ แต่ที่เราอ่านก็แค่ต้องการความสนุกสนาน เป็นต้น

ในสายตาคนทั่วไป สิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นช่างเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อันใดต่อชีวิตเลย ทำไมล่ะ? ในเมื่อทำแล้ว “มีความสุข” เราก็อยากที่จะทำ ถึงแม้ว่าจะเป็นความสุขที่เจือด้วยความรู้สึกผิดก็ตาม แต่รู้หรือไหมว่าเราไม่จำเป็นต้องแบบความรู้สึกผิดเหล่านั้นตลอดก็ได้ อาจถึงเวลาที่เราจะลดมาตรฐานการเป็นคนเคร่งลงมา แล้วลองทำอะไรตามที่ใจตัวเองต้องการดูบ้าง เชื่อสิว่าไม่ใช่เรื่องแย่หรอก

Dr. Sami Schalk ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเพศและสตรีศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน เคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะ “พอใจที่จะทำในสิ่งที่ชอบ แม้ว่าจะรู้สึกผิดอยู่บ้างก็ตาม เพราะรู้ดีว่าไม่ควรทำ หรือถ้าทำแล้วจะทำให้คนอื่นมองเราในแง่ลบ”

ตามคำกล่าวของ Dr. Schalk กล่าวว่าเรามองความสุขบางอย่างเป็น “สิ่งบาป เป็นเรื่องไม่ดี เพราะมันหมายถึงการทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่ยับยั้งความรู้สึก” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราพยายามจะอยู่ในสังคมที่มีแนวคิดแบบอุดมคติ เช่น อย่าทำอะไรไร้สาระ อย่าทำอะไรที่เสียเวลาไปเปล่า ๆ โดยเปล่าประโยชน์ จะต้องระงับจิตใจตัวเองไม่ให้ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม หรือก็คือการใช้ชีวิตแบบอยากทำอะไรก็ทำ ไม่รู้จักระงับความอยาก

ความรู้สึกแบบนั้นนั่นเองที่ทำให้เราอาจรู้สึกผิดหรือตะขิดตะขวงใจอยู่เนือง ๆ ที่จะทำอะไรตามใจตัวเอง ทั้งที่สิ่งนั้นอาจสร้างความสุขให้เราได้ นั่นทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเราก็แค่อยากจะสนุกกับสิ่งนั้น ในเมื่อถ้าทำสิ่งนั้นแล้วไม่ได้เดือดร้อนใคร เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกละอายหรือรู้สึกผิดอะไรเลย แต่คำถามคือ ทำไมต้องรู้สึกผิดแบบนั้นด้วย

ความรู้สึกผิดจะปรากฏขึ้น เพราะเรากลัวว่าความสุขเหล่านั้นจะทำให้คนอื่นมองเราไม่ดี ทั้งที่เราไม่ได้กำลังมีความสุขกับสิ่งที่เลวร้ายอะไรขนาดนั้น การได้ทำนอกกรอบ ตามใจตัวเองบ้างต่างหากที่เป็นการพักผ่อน ได้เพลิดเพลินกับเรื่องไร้สาระเล็ก ๆ น้อย ๆ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นไม่ได้ทำร้ายใคร! เพราะการใช้ชีวิตไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำแต่เรื่องที่มีสาระหรือมีประโยชน์ตลอดเวลา บางครั้งความสุขก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกปีติยินดีที่ทำอะไรต่ออะไรสำเร็จ แต่มาจากการใช้ชีวิตแบบส่ง ๆ บ้างนั่นเอง

เสียเวลาไปกับรายการทีวีที่ไร้ค่า

ไม่ว่าจะนั่งดูหนัง ดูซีรีส์ หรือดูอะไรก็ตาม บางครั้งก็ทำให้เราหลุดออกจากโลกของความเป็นจริง ได้รู้สึกสนุกสนานและรู้สึกดี เพราะสมองของเราหลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ร่างกายสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อได้อยู่ในอารมณ์มีความสุขสนุกสนาน ซึ่งถ้าร่างกายมีโดปามีนน้อย จะส่งผลต่ออารมณ์ การนอนหลับ ความจำ หรือสมาธิ

ถ้าไม่อยากรู้สึกผิด อาจต้องกลั่นกรองประเภทรายการที่ดูสักหน่อย กำหนดเวลาให้ชัดเจน และระวังอย่าเพลิดเพลินมากจนเกินไป การดูซีรีส์ต่อเนื่องหลาย ๆ ตอน อาจทำให้เรารู้สึกดี แต่โดปามีนอาจหลั่งออกมามากเกินไป ต้องค่อย ๆ คลายความสนุกสนานลงให้โดปามีนลดลงตาม ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกเหนื่อยล้าและหดหู่หลังจากที่โดปามีนพุ่งสูงสุดแล้วลดระดับแบบดิ่งลงมาพรวดเดียว จะเกิดความรู้สึกประมาณว่าขี้เกียจ ไม่อยากไปทำงาน เพราะเสพติดวันหยุดยาว

การกินอาหาร Fast food/ Junk food

ถ้านึกอยากจะกินป๊อปคอร์นหรือไอศกรีมในมื้อค่ำ แต่ไม่กล้ากินเพราะกลัวอ้วน ถ้านาน ๆ กินที ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรเลยที่จะตามใจปากดูบ้าง เพราะเราไม่ได้กินแบบนี้ทุกวัน แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่าใส่เสื้อผ้าแล้วคับ หรือน้ำหนักขึ้น ก็ค่อยกลับไปกินเนื้อไก่ไม่ติดมันและสลัดผัก

ก็เหมือนกับกับเวลาที่เรามีความสุขกับรายการโทรทัศน์นั่นแหละ การตามใจปากกินอาหารที่ไม่กล้ากินดูบ้างก็ทำให้สมองหลั่งสารโดปามีนออกมาเช่นกัน ลักษณะเดียวกันกับการหลั่งสารโดปามีนเวลาที่ใช้สารเสพติดหรือเวลามีเซ็กส์ แต่เราไม่จำเป็นต้องลองถึงขั้นนั้น เพราะสมองของเรารับรู้สิ่งที่น่าพึงพอใจ แล้วกระตุ้นให้หลั่งสารแห่งความสุขได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงเสพติดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำแล้วรู้สึกดีมีความสุข เพราะมันสามารถสร้างโดปามีนให้ร่างกายได้อย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้น กินป๊อปคอร์นหรือไอศกรีมได้นะ ถ้าอยากมีความสุข

การช้อปแหลกจนกระเป๋าฉีก

เช่นเดียวกับการกิน Fast food หรือ Junk food การช้อปปิ้งก็สามารถทำให้สมองหลั่งโดปามีนได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกมีความสุขเหลือเกินเวลาที่ได้ช้อปปิ้ง จนกลายเป็น “ช้อปปิ้งบำบัด” ไม่ต้องไปเดินห้างด้วยตัวเอง แค่นั่งอยู่หน้าจอแล้วดูเว็บไซต์ขายของออนไลน์ก็มีความสุขแล้ว แต่การช้อปปิ้งคลายเครียดนี้อาจเป็นหนึ่งในความสุขที่สร้างความรู้สึกผิดอย่างใหญ่หลวงได้ หากไม่ระวังเรื่องการใช้เงิน!

ใช้ชีวิตผ่านไปหนึ่งวันโดยไม่ได้อะไรเลย

มีหนังสือบางเล่มที่อ่านแล้วติดจนวางไม่ได้ไหม แต่หนังสือเล่มนั้นดันไม่ค่อยจะมีประโยชน์สักเท่าไร หรือบางวันก็นอนเลื่อนหน้าฟีด Facebook ไปเรื่อย ๆ หรือเสพติดการท่องโลก Twitter จนดูเหมือนว่าเป็นคนติดโซเชียลมีเดียจนออกห่างไม่ได้ นอนเล่นเกมโทรศัพท์ หรือนอนทั้งวันในวันหยุดสุดสัปดาห์ การทำอะไรแบบนี้ อาจทำให้คนอื่นมองเราในแง่ลบ มองว่าเราเป็นคนขี้เกียจ ไม่หยิบไม่จับอะไรที่เป็นประโยชน์เลย แต่ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องแคร์สายตาคนอื่นว่าเขาคิดอะไรกับสิ่งที่เราทำ ทำไปเถอะถ้าทำแล้วมีความสุข (และไม่เดือดร้อนใคร)

กุญแจสำคัญในการตามใจตัวเองทำเรื่องไร้สาระนั้น คือ การควบคุมตัวเองให้ทำอย่างเหมาะสม สร้างสมดุลระหว่างความสมบูรณ์แบบในชีวิตไปพร้อม ๆ กับการเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง เพราะความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แน่นอนว่ามีความสุขบางอย่างที่มักจะได้มาจากการใช้ชีวิตแบบส่ง ๆ แต่ถ้ามั่นใจว่าซื่อสัตย์กับตัวเองว่าจะไม่ตามใจตัวเองมากเกินไป และสิ่งที่ทำไม่ได้ทำร้ายใคร ก็สนุกกับสิ่งนั้นโดยไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่นดูบ้าง ต่อให้ใคร ๆ จะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลาชีวิตก็ตาม

ถึงจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่นไปบ้าง ก็ไม่เห็นต้องแคร์ การกระทำทุกอย่างมันมีผลลัพธ์ในตัวหากเราตามใจตัวเองมากเกินไป เช่น การช้อปปิ้งโดยไม่คิด สิ่งที่ตามมาคืออาจจะถังแตก กระเป๋าฉีก หรือการกินพวก Fast food/ Junk food มากเกินไปก็เสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน และร่างกายก็ไม่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนี่คือหน้าที่ของตัวเราเองที่จะจัดการ ทำให้ตัวเองมีความสุข กำหนดเวลาพักผ่อนเมื่อเว้นว่างจากหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แล้วหาสมดุลระหว่างการพักผ่อนกับชีวิตที่เป็นงานเป็นการ ที่เหมาะกับตัวเองให้เจอ

อย่างไรก็ตาม คนเราต้องการความสุขในชีวิต ฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่นาน ๆ ทีจะกินของหวานก่อนในช่วงเย็น โดยไม่กลัวอ้วน หรือจะกระโดดโลดเต้นท่าประหลาด ๆ แบบไม่มีใครดู (จะทำทุกวันก็ได้รู้สึกดี) เพียงแค่อย่าให้มากเกินจนเปลี่ยนจากรู้สึกดีเป็นรู้สึกแย่ หรือน้อยไปจนรู้สึกไม่มีความสุขเพราะจำต้องอยู่แต่ในกรอบ ย้ำอีกครั้งว่าสิ่งสำคัญคือ “การรักษาสมดุล”

ข้อมูลจาก Medium