เปรียบเทียบความน่ากลัว “โควิดกลายพันธุ์” สายพันธุ์ต่าง ๆ

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีการกลายพันธุ์มากถึง 10 สายพันธุ์ และกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351), สายพันธุ์บราซิล (B.1.1.28 /P.1) และสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617)

โดย Maria Van Kerkhove หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ WHO กล่าวว่ามีไวรัสหลายสายพันธุ์ที่ถูกตรวจพบทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และได้รับการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าการกลายพันธุ์ส่งผลต่อความรุนแรงหรือการแพร่กระจายของโรคมากน้อยเพียงใด ก่อนจะมีการจัดประเภทของไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ว่าเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขแบบใหม่

ไทยมีการระบาด 2 สายพันธุ์

จากข้อมูลของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าประเทศไทยมีการระบาดจากโควิด-19 อยู่ 2 สายพันธุ์หลักคือ B.1.36.16 ซึ่งเริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2564 คาดว่าเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นไทยโดยเข้ามาแทนสายพันธุ์ A.6 ดั้งเดิมในปี 2563 พบในหลายจังหวัด  ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ (asymptomatic)

ส่วนอีกสายพันธุ์ที่กำลังเกิดการระบาดเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้คือโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้ามาระบาดในไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 มีการติดต่อได้ง่ายกว่า มีความรุนแรงมากกว่า มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์เดิม

สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7)

ไทยพบสายพันธ์ุอังกฤษครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 จากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 ราย ที่เดินทางมาจากเมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ แต่ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมดูแลในห้องความดันลบทั้งหมด

โดยโควิดกลายพันธุ์ดังกล่าวพบว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษอยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น อีกทั้งในห้องทดลองยังพบว่าไวรัสมีประสิทธิภาพในการแบ่งตัวดีขึ้น เพราะฉะนั้นไวรัสในโพรงจมูกจึงมีปริมาณมากทำให้แพร่กระจายได้ง่าย ส่งผลให้มีการติดเชื้อและกระจายโรคได้เร็ว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าสายพันธุ์อังกฤษมีการแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยน้อยลงด้วย ขณะที่อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการหนักจะใช้เวลาเพียง 7-10 วันก่อนจะเสียชีวิต

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351)

ไทยพบสายพันธ์ุแอฟริกาใต้เพียงแค่ 1 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่อยู่ใน  State Quarantine หลังมีประวัติเดินทางไปประเทศแทนซาเนีย และต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย แต่ไม่มีการแพร่เชื้อในชุมชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นักวิจัยจากแอฟริกาใต้ระบุว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้อาจติดต่อได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หลังพิจารณาจากอัตราการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเร็วมากนับตั้งแต่มีการค้นพบสายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของไวรัสพบว่าการกลายพันธุ์โดยเฉพาะส่วนของโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัสที่ใช้ในการเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์นั้น มีการยึดติดได้ง่ายขึ้น จึงเป็นตัวการที่ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

โดยศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสายพันธุ์นี้ที่กำลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียว่ามีความน่ากลัวตรงที่สามารถเข้าสู่ในประเทศไทยทางภาคใต้ได้ เพราะมีพรมแดนติดกัน และเป็นอีกสายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้

สายพันธุ์บราซิล (B.1.1.28 หรือ P.1)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ยืนยันเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าไทยพบสายพันธ์ุบราซิลเป็นครั้งแรกแล้ว แต่อยู่ในสถานกักกันตัวที่รัฐจัดให้ และยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในชุมชนแต่อย่างใด

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา ระบุว่าสายพันธุ์บราซิลเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็ว และเชื่อว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยในบราซิลพบมากถึงร้อยละ 87 ภายในระยะเวลาเพียง 7 สัปดาห์ และขณะนี้สายพันธุ์บราซิลแพร่กระจายไปแล้วในหลายประเทศด้วย รวมถึงในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรด้วย

ปัจจุบัน บราซิลมีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดเป็นลำดับ 3 ของโลก ซึ่งความน่ากลัวของสายพันธุ์บราซิลคือสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ได้ ทำให้มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะติดเชื้อกลายพันธุ์ของบราซิลได้ในราว 25-60 เปอร์เซ็นต์

สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617)

อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก และมีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งความน่ากลัวของโควิดสายพันธุ์อินเดีย อยู่ตรงที่เป็นการกลายพันธุ์คู่ หรือกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง (L452R และ E484Q) ในไวรัสตัวเดียว โดยมารวมกันบริเวณโปรตีนหนาม (Spike Protein) ของอนุภาคไวรัส  ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ ซึ่งโควิดกลายพันธ์สายพันธุ์อื่นนั้น จะพบว่าตำแหน่ง L452R และ E484Q แยกจากกัน แต่สำหรับสายพันธุ์อินเดียถือเป็นครั้งแรกที่พบ 2 ตำแหน่งนี้มารวมกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญพบว่าไวรัสสายพันธุ์อินเดียอาจไม่ร้ายกาจหรือสร้างปัญหาเท่ากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ บราซิล และอังกฤษ เพราะสายพันธุ์อินเดียมาจากตระกูล G (GISAID Clade)  ซึ่งเกิดขึ้นและติดต่อระบาดอยู่ในอินเดียตั้งแต่ปีที่แล้ว หากเป็นสายพันธุ์ที่สามารถก่อโรครุนแรง การระบาดรุนแรงจึงน่าจะเกิดตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่กลับพบเพียงการระบาดแบบจำกัดวง ไม่รวดเร็วเท่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น และไม่แพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษแต่อย่างใด

อ้างอิงข้อมูล : cnbc.com / ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ / bbc.com / abc.net.au / nytimes.com