เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรู้สึกจิตตกไปตาม ๆ กัน เมื่อจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 2,000+ มาหลายวันติดต่อกัน มีผู้เสียชีวิตทุกวัน (แต่ละวันไม่ใช่วันละ 1 คนแบบครั้งก่อน ๆ) ตัวเลขผู้ที่อาการหนักจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นร้อยคน จำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้ป่วย
รวมถึงข่าววัคซีน ที่เป็นประเด็นร้อนในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพราะมีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนหนึ่งมีอาการข้างเคียงรุนแรง การที่วัคซีนไม่เพียงพอที่จะใช้ควบคุมการระบาด และความล่าช้าในการฉีดวัคซีน
ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและปริมาณวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องปรับแผนการหาวัคซีนจากแหล่งใหม่เพิ่มเติม ทำให้เวลานี้ประเทศไทยกำลังจะมีวัคซีนใช้ทั้งหมด 5 บริษัท หนึ่งในนั้นคือ วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ของรัสเซีย
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ Sputnik V ก็มีข้อกังขาข้อถกเถียงไม่ต่างจากวัคซีน 2 ยี่ห้อที่กำลังใช้ในไทย โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย (อ่าน “วัคซีนรัสเซีย” กับข้อกังขาต้าน COVID-19 ได้จริงหรือไม่?) แต่ ณ เวลานี้ ข้อมูลเดิมที่มีผ่านมานานหลายเดือนแล้ว Tonkit360 จึงจะมาอัปเดตวัคซีนตัวนี้ให้ได้ทราบกันอีกครั้ง ก่อนที่ Sputnik V จะเข้ามาเป็นวัคซีนที่ใช้ทั่วไปในไทย
รู้จัก Sputnik V กันอีกครั้ง
วัคซีน Sputnik V (สปุตนิก วี) ก่อนหน้านี้หลายคนเข้าใจกันว่า V คือตัวเลขโรมันที่หมายถึง 5 แต่ความจริงแล้ว V จาก Sputnik V หมายถึง Vaccine ส่วนสปุตนิกมีที่มาจากชื่อ Sputnik 1 ซึ่งเป็นชื่อดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่สร้างโดยสหภาพโซเวียต (อ่าน จาก “ดาวเทียมดวงแรกของโลก” สู่ที่มาชื่อวัคซีน Sputnik V)
Sputnik V มีขื่อทางการวิจัยว่า Gam-COVID-Vac โดยมีที่มาจากชื่อ Gamaleya ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาของรัสเซีย หน่วยงานนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน Russian Direct Investment Fund (RDIF)
Sputnik V เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) คือ การใช้เชื้อไวรัสชนิดอื่นที่อ่อนฤทธิ์ลงเป็นพาหะ จากนั้นตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 เข้าไปแล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนส่วนหนาม เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
จะเห็นว่า Sputnik V ใช้เทคโนโลยีการผลิตเดียวกันกับวัคซีนของ AstraZeneca และ Johnson & Johnson แต่จะคล้ายกับวัคซีน Johnson & Johnson มากกว่า เนื่องจากใช้ไวรัสอะดิโนเป็นพาหะที่ก่อโรคในคน เพียงแต่ Johnson & Johnson ฉีดเข็มเดียว ในขณะที่ Sputnik V ฉีด 2 เข็ม เข็มแรกเป็นไวรัสอะดิโน 26 (Ad26) และเข็มที่ 2 เป็น Ad5 (ไม่ให้ซ้อนทับกับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากเข็มแรก)
แต่เพราะวัคซีน Sputnik V เป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่จดทะเบียนเป็นวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จึงสร้างข้อกังขาต่อทั่วโลกไม่น้อยว่าจะต้าน COVID-19 ได้จริงหรือไม่ และปลอดภัยแค่ไหน เนื่องจาก Sputnik V ใช้เวลาพัฒนาวัคซีนเพียง 5 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญ ณ เวลานั้น Sputnik V ยังไม่มีข้อมูลการทดลองในเฟส 3 เลยด้วยซ้ำ และไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับวัคซีนให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย
กระทั่งการระบาดระลอก 3 ในไทย ในเดือนเมษายน 2021 ทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนตื่นตัวเรื่องวัคซีน จนภาครัฐต้องหันมาสนใจวัคซีนที่มีใช้กันในโลกแล้ว และ Sputnik V ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผลยืนยันประสิทธิภาพวัคซีน Sputnik V ล่าสุด ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ระบุว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 91.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงผิดปกติ
เมื่อเห็นตัวเลขประสิทธิภาพของ Sputnik V แล้ว จะพบว่าใกล้เคียงกับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ และโมเดอร์นา (Moderna) ที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่าประสิทธิภาพสูงกว่าซิโนแวค (Sinovac) ที่ประสิทธิภาพจากการทดสอบขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 49.6 เปอร์เซ็นต์ การทดสอบในบราซิล 50.65 เปอร์เซ็นต์ และตุรกีซึ่งเป็นสถานที่ทดลองทางคลินิกเช่นกันอยู่ที่ 91.25 เปอร์เซ็นต์ และประสิทธิภาพสูงกว่าแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ล่าสุดมีข้อมูลผลทดสอบใหม่ที่ได้จากการศึกษา หลังจากรัสเซียฉีดวัคซีน Sputnik V ให้ประชากรไปแล้วราว 3.8 ล้านคน ช่วง 5 ธันวาคม ถึง 31 มีนาคม พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันเพิ่มเป็น 97.6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราการติดเชื้อเพียง 0.027 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก 35 วัน
ไทม์ไลน์ของ Sputnik V
หลังจากที่ COVID-19 ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกช่วงต้นปี 2020 ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น วันที่ 11 สิงหาคม 2020 ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ประกาศความสำเร็จของ Sputnik V ว่าใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพ มีปลอดภัย โดยอ้างว่าบุตรสาวของเขาก็ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เวลานั้นวัคซีนจาก 6 บริษัทกำลังทดลองเฟส 3 อยู่ เท่ากับว่า Sputnik V ข้ามการทดสอบในเฟส 3 ไป แล้วจดทะเบียนเป็นวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นตัวแรกของโลก
ผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet ในเดือนกันยายน 2020 ระบุช่วงทำการทดลองระหว่าง 18 มิถุนายน ถึง 3 สิงหาคม ในอาสาสมัคร 76 คน พบว่าปลอดภัย ผลข้างเคียงเป็นอาการเล็กน้อย และสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้
ต่อมา 7 กันยายน ถึง 24 พฤศจิกายน Sputnik V ได้ทดลองเฟส 3 ใน 25 โรงพยาบาลและคลินิกในกรุงมอสโก (ทั้งที่ประกาศความสำเร็จไปแล้วในเดือนสิงหาคม) ใช้อาสาสมัครอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 16,501 คน ทุกคนผ่านการทดสอบว่าไม่เคยติดเชื้อ COVID-19 มาก่อน โดยทดลองฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 91.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการประเมินประสิทธิภาพใน 21 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก
ส่วนรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่พบว่ามีอาการเล็กน้อย คือ ปวด บวม เกิดรอยแดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นที่พบ คือ เป็นไข้ ปวดศีรษะ ในกลุ่มผู้สูงอายุจะพบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 15.2 เปอร์เซ็นต์ ปวดบริเวณที่ฉีด 5.4 เปอร์เซ็นต์ ปวดศีรษะ 2.9 เปอร์เซ็นต์ อ่อนเพลีย 2.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย พบทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุมวัคซีนหลอก จึงสรุปว่าการเสียชีวิตไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีน
จนในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ถึงได้มีการยืนยันผลการทดลองเฟส 3 ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าประสิทธิภาพหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นอย่างไร รวมถึงยังไม่มีรายงานผลที่ชัดเจนในการทดสอบกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ แต่คร่าว ๆ มีดังนี้
- สายพันธุ์ดั้งเดิม ป้องกันได้ 91.6 เปอร์เซ็นต์
- สายพันธุ์อังกฤษ มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง
- สายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง
- สายพันธุ์บราซิล ยังไม่มีหลักฐานการทดสอบ
ทำให้มากกว่า 60 ประเทศ อนุมัติให้ใช้วัคซีน Sputnik V ในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ทั้งนั้น องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ก็ยังกล่าวเตือน ว่ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่
ส่วนในไทย วัคซีน Sputnik V เป็น 1 ใน 5 วัคซีนที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่ามีติดต่อกับรัสเซียเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนอกจากวัคซีน 2 ชนิดที่มีอยู่ จนล่าสุดก็มีความคืบหน้าชัดเจนว่าประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ยินดีสนับสนุนวัคซีน Sputnik V กับรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลทางการทูต ทำให้ Sputnik V จะเป็นวัคซีน COVID-19 ชนิดที่ 4 ที่นำเข้ามาใช้ในไทย
วัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย อยู่ที่ราคาโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300 บาท) ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยสามารถเก็บได้ในตู้เย็นปกติอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส นาน 2 เดือน นี่จึงเป็นอีกวัคซีนความหวังในไทย ในราคาที่พอจ่ายได้ (ถ้าต้องจ่ายเอง)
ข้อมูลจาก The Lancet, The Lancet, Sputnik Vaccine, European Pharmaceutical Review