
หากใครไม่อยากจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ควรปรับเวลานอนกันเสียใหม่ไม่ให้น้อยกว่า 6 ชั่วโมง เพราะจากผลการศึกษาล่าสุดโดยสมาคมหัวใจอเมริกัน พบว่า การนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนนั้น ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 2.1 เท่า
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องและมีสาเหตุมาจากความอ้วน (metabolic syndrome) เช่น โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 , ความดันโลหิตสูง และอ้วนลงพุง ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการนอนหลับที่มากขึ้น หากไม่อยากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ทั้งนี้ ทีมวิจัยศึกษาจากกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ จำนวน 1,344 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี เกี่ยวกับระยะเวลาในการนอนหลับ โดยพบว่าการนอนหลับที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง ในส่วนของ “ไฮโปไทลามัส” ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญอาหาร
รวมถึงส่งผลต่อระบบประสาทซิมพาเธติก (sympathetic nervous system) ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายทั้งหมดด้วย ซึ่งหากการทำงานของระบบประสาทส่วนนี้ได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลให้เกิดโรคทางกายทั้ง โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้
นายแพทย์ฮูลิโอ เฟร์นานเดซ-เมนโดซ่า แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์เพนน์สเตท ของสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า หากต้องการลดความเสี่ยงจากอาการหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ก็จำเป็นต้องใส่ใจการนอนให้มากขึ้น เพราะการนอนหลับที่นานเพียงพอจะช่วยลดระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่ม metabolic syndrome มีอาการที่ดีขึ้น
ที่มา : www.thesun.co.uk