โอกาสที่สองสำหรับนักโทษ “สร้างอาชีพจากเรือนจำ”

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ต่างก็มีโอกาสทำ “ผิดพลาด” กันได้ทั้งนั้น การให้โอกาสผู้ที่เคยพลาดพลั้งหรือกระทำความผิดได้มีโอกาส “แก้ตัว” เมื่อกลับตัวกลับใจได้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันพึงมีให้กันในสังคม

แม้กระทั่ง “ผู้ต้องขัง” ที่ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ ก็สมควรได้รับโอกาสไม่ต่างกัน ซึ่งบางคนใช้ชีวิตอยู่ทัณฑสถานนานนับสิบปี จนแทบไม่รู้ความเป็นไปของโลกภายนอกว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง

ฝึกอบรมในเรือนจำปูทางสู่อาชีพสุจริต

ช่วงเวลาที่รับโทษอยู่ในเรือนจำ จึงเป็นโอกาสสำหรับบุคคลเหล่านี้ในการสร้างอาชีพให้กับตนเอง เพื่อเป็นการปูทางสู่การหางานสุจริตทำเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ซึ่งหลายคนได้อาชีพใหม่จากการฝึกอบรมในทัณฑสถานด้วย โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความรู้ในการประกอบอาชีพ

ด้วยเหตุนี้ กรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรือนจำและผู้ต้องราชทัณฑ์จากคดีต่าง ๆ กว่า 3 แสนราย จึงจัดฝึกอบรมอาชีพให้กับนักโทษทั่วประเทศไทย เพื่อมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังเพื่อเป็นโอกาสที่สองในชีวิตของพวกเขา

เรือนจำสอนอะไรบ้าง?

หลักสูตรโหราศาสตร์

หลักสูตรล่าสุดที่กรมราชทัณฑ์เห็นชอบว่าควรมีการเปิดฝึกอบรมให้กับผู้ต้องขังเพิ่มเติม คือการเปิดสอนด้านหลักสูตรโหราศาสตร์ให้กับกลุ่มผู้ต้องขังชั้นดีที่มีความสนใจ หรือมีพื้นฐานมาบ้างโดยเปิดอบรมวิชาที่ไม่ยากหรือซับซ้อนจนเกินไป อาทิ ไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์ หรือการดูวันเดือนปีเกิด

เนื่องจากเป็นอาชีพใหม่ที่เปิดสอนครั้งแรกในเรือนจำ จึงนำร่องรุ่นแรกสำหรับโครงการในเดือนม.ค.64 ในเรือนจำ 4 แห่ง ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำมีนบุรี เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงปทุมธานี

แม้การเป็นหมอดูอาจถูกมองว่าเป็นอาชีพที่งมงาย แต่ใช่ว่าจะฝึกกันได้ทุกคน เพราะจำเป็นต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องศึกษาต่อจากการอ่านตำราด้วย ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ดีในการปรับพฤติกรรมและนิสัยของผู้ต้องขังอีกทางหนึ่ง

หลักสูตร “งานช่าง” ต่าง ๆ

ในทุกปี กรมราชทัณฑ์จะมีโครงการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในเรือนจำ / ทัณฑสถาน ประจำปีงบประมาณ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวหลังพ้นโทษ

โดยเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง หรือวิทยากรจากหน่วยงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจัดการฝึกวิชาชีพ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย

สำหรับหลักสูตรช่างที่มีการเปิดอบรมนั้น ล้วนนำไปประกอบอาชีพได้ทั้งสิ้น อาทิ ช่างก่ออิฐฉาบปูน ช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสีอาคาร ช่างเชื่อมโลหะ ช่างเดินไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมจักรยาน ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ และช่างซ่อมรองเท้า

หลักสูตรสำหรับ “ผู้ต้องขังสตรี”

ทางเรือนจำ ทัณฑสถาน ไม่ได้มีเฉพาะหลักสูตรงานช่างสำหรับผู้ชายเท่านั้น แต่มีหลักสูตรสำหรับผู้ต้องขังสตรีด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  รวมถึงมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย

สำหรับหลักสูตรที่นำวิทยากรมาอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ ได้แก่ หลักสูตรประกอบอาหาร ขนมไทย การปรุงกาแฟสดและเครื่องดื่ม นวดเพื่อสุขภาพ ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม ช่างจักสาน เป็นต้น

หลักสูตรวิชาชีพจาก “โครงการกำลังใจ”

นอกจากหลักสูตรที่จัดโดยกรมราชทัณฑ์แล้ว ยังมีหลักสูตรวิชาชีพจาก โครงการกำลังใจฯ โดยกองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม อีกหนึ่งหน่วยงานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาทักษะทางวิชาชีพทั้งชายและหญิง

โดยผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและได้รับการคัดเลือกจะได้รับโอกาสในการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพภายในเรือนจำในแต่ละรุ่น ซึ่งหลักสูตรที่อบรมมีหลากหลาย อาทิ  โครงการฝึกวิชาชีพด้านศาสตร์พยากรณ์ฯ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพนวดแผนไทย โครงการวิชาชีพการแปรรูปผ้าและหนังเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  โครงการแปรรูปและประยุกต์ใช้สมุนไพร

พ้นโทษแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่อง “ตกงาน”

กรมราชทัณฑ์ไม่ได้แค่จัดฝึกอบรมวิชาชีพในทัณฑสถานเท่านั้น แต่มี “ศูนย์ประสานและส่งเสริมการมีงานทำ” (ศูนย์ CARE – Center for assistance to Reintegration and Employment) เพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้พ้นโทษ รวมถึงประสานงานเครือข่ายต่าง ๆ (กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งต่อข้อมูลผู้พ้นโทษไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ ยังจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการได้งานของผู้พ้นโทษ และจัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการที่มีตำแหน่งว่าง และประสงค์จ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ซึ่งสามารถขอรับข้อมูลจากศูนย์ CARE ได้ โดยเตรียมเอกสารให้พร้อม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาเอกสารใบ รท.25 (ถ้ามี), สำเนาวุฒิการศึกษา (ถ้ามี), หนังสือรับรองการผ่านงาน (ถ้ามี), ที่อยู่ปัจจุบันพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ หรือหากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ CARE โทร. 0-2967-2222, 0-2967-3557 หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 098 260 0641

ทั้งหมดนี้ ถือเป็น “โอกาสที่สอง” เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้ชดใช้ความผิดของตนเองจนครบกำหนดแล้ว ออกไปใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริงได้อีกครั้ง โดยสามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างสุจริต และกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง

ข้อมูล : กรมราชทัณฑ์ / ศูนย์ประสานและส่งเสริมการมีงานทำ / โครงการกำลังใจ