อากาศเปลี่ยน หลายคนเริ่มมีปัญหากับอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ มีฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และยังมี COVID-19 ที่แฝงตัวอยู่อย่างเนียน ๆ อีกต่างหาก อาการที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนส่งผลกระทบต่อ “ปอด” ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะปอดเป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินหายใจ หากปอดมีปัญหานั่นหมายความคุณภาพในการใช้ชีวิตของเราก็จะลดลง
ถ้าเป็นเช่นนั้น เราควรจะรู้จักบำรุงปอดให้แข็งแรง ด้วยการบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ และมีคุณค่าทางอาหารสูงทั้ง 15 อย่างนี้ ซึ่งอาหารที่ Tonkit360 แนะนำล้วนหากินไม่ยากในบ้านเรา และหากใครไม่ชอบกินอะไรก็ยังมีตัวเลือกอื่นทดแทนได้ มีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน
1. พริกไทย
พริกไทยเป็นแหล่งวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับสิงห์อมควัน แม้ว่าที่การเลิกสูบบุหรี่อาจจะยากเกินไป ลองหันมาบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงดู ปริมาณที่แนะนำ คือ 35 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งผู้ที่ได้รับวิตามินซีที่สูง ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจะทำงานได้ดีกว่าผู้ที่รับวิตามินซีน้อยกว่า หรือจะลองกินพริกแดงหวานขนาดกลาง 1 เม็ด วิตามินซีสูงถึง 169 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน
2. แอปเปิล
มีวิตามินซีและฟลาโวนอยด์ปริมาณสูง มีงานวิจัยที่ระบุว่าการกินแอปเปิลเป็นประจำสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปริมาณที่แนะนำคือควรบริโภค 5 ลูกต่อสัปดาห์ อีกทั้งแอปเปิลยังลดความเสี่ยงอาการกำเริบของโรคหอบและมะเร็งปอดได้ด้วย
3. ฟักทอง
อุดมไปด้วยแคโรทีนอนยด์ เบต้าแคโรทีน ลูซีน และซีแทนซีน ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระดับของแคโรทีนอยด์นี้มีความสัมพันธ์ต่อการทำงานของปอด อย่างเช่นผู้ที่สูบบุหรี่ ในร่างกายจะมีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการบริโภคฟักทองจะช่วยเพิ่มระดับแคโรทีนอยด์ได้
4. ขมิ้น
เป็นพืชที่มีคุณสมบัติทางยา มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เคอร์คูมิน เสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกาย สนับสนุนการทำงานของปอด ให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น จากการศึกษาในคนจำนวน 2,478 คน พบว่าขมิ้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานปอดของผู้สูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น 9.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ได้รับสารเคอร์คูมิน
5. มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ
หลายคนคุ้นเคยดีว่าการกินมะเขือเทศดีต่อผิวพรรณ ไม่เพียงเท่านั้นมะเขือเทศยังดีต่อการทำงานของปอดด้วย มะเขือเทศอุดมด้วยไลโคปิน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีส่วนช่วยการทำงานของปอด ลดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจในผู้ป่วยโรคปอด เพิ่มการทำงานประสิทธิภาพของปอดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และผู้ที่สูบบุหรี่
6. ชาเขียว
ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่มีผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด มีสาร Epigallocatechin gallate (EGCG) เป็นสารสกัดประเภทโพลีฟีนอลมีผลยับยั้งมะเร็ง มีคาเทชินเข้มข้น โดยสารนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ทั้งยังช่วยยับยั้งการเกิดพังผืดในปอด และรักษาแผลเนื้อเยื่อปอดที่เสียหาย
7. กะหล่ำม่วง
กะหล่ำม่วงเป็นแหล่งอาหารที่มีสารแอนโทไซยานินที่ราคาถูก สารชนิดนี้เป็นสารสี ที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ช่วยบำรุงปอดให้เสื่อมประสิทธิภาพช้าลง ทั้งยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร เนื่องจากการบริโภคเส้นใยมากจะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพของปอดด้วย
8. ถั่วแระญี่ปุ่น
มีสารประกอบที่เรียกว่าไอโซฟลาโวน เป็นสารที่ลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จากการศึกษาตัวอย่างชาวญี่ปุ่นจำนวน 618 คน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีปริมาณไอโซฟลาโวนลดลงมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งการบริโภคไอโซฟลาโวนเป็นประจำ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดและการหายใจ
9. น้ำมันมะกอก
การบริโภคน้ำมันมะกอกช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด เนื่องจากน้ำมันมะกอกเป็นแหล่งรวมสารต้านอนุมูลอิสระ โพลีฟีนอล และวิตามินอี มีประโยชน์ต่อการทำงานของปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ ลดการกำเริบของอาการโรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
10. หอยนางรม
หอยนางรมอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของปอด ได้แก่ สังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบี และทองแดง ซีลีเนียมและทองแดงจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด วิตามินบี 12 และสังกะสีเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยดูแลปอดของผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งวิตามินบี 12 ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ โดยในหอยนางรมมีวิตามินบี 12 สูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
11. โยเกิร์ต
โยเกิร์ตนับเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารหลากหลายชนิด ทั้งแคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และซีลีเนียมในปริมาณสูง สารอาหารเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของปอด และยังลดความเสี่ยงจากภาวะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้มากถึง 35 เปอร์เซ็นต์
12. กาแฟ
นอกจากที่เรารู้จักว่ากาแฟมีสรรพคุณในการเพิ่มระดับพลังงาน ในกาแฟมีคาเฟอีน และสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการปกป้องปอด โดยการดื่มกาแฟจะสามารถปรับปรุงการทำงานของปอดและป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น จึงลดอาการกำเริบของผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้
13. บาร์เลย์
บาร์เลย์จัดเป็นธัญพืชโฮลเกรน (ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี) มีไฟเบอร์สูง มีฟลาโวนอยด์ วิตามินอีที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของปอด และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับปอด อีกทั้งยังป้องกันความเสียหายของเซลล์ภายในร่างกาย
14. ปลากะตัก
ปลากะตัก เป็นปลาขนาดเล็กที่อุดมด้วยไขมันดีอย่างโอเมกา 3 ซีลีเนียม แคลเซียม และธาตุเหล็ก มีสรรพคุณต้านการอักเสบ และส่งเสริมสุขภาพการทำงานของปอดให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนโอเมกา 3 สามารถลดอาการกำเริบของผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด
15. โกโก้
โกโก้รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโกโก้ เช่น ดาร์กช็อกโกแลต มีสารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ และสารธีโอโบรมีน ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายคล้ายกับคาเฟอีนในกาแฟ ทางการแพทย์จึงนำมาใช้ในการขยายหลอดเลือด มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด และอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ
ข้อมูลจาก Healthline.com