การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของคนไทยมีปัญหามาค่อนข้างจะยาวนาน โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านพื้นที่ ระยะเวลา และทรัพยากร เนื่องจากการรักษาการเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว อย่างถูกต้อง และอุปกรณ์การรักษาต้องพร้อม หากไม่ทัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงชีวิต
ดังนั้น จากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอการ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติมอีก 4 สิทธิ” ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข โดยชูนโยบายที่ให้ผู้ป่วยนอกที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ารักษาหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่
การพัฒนาระบบบริการบัตรทองในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารสุขได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกขึ้น การปรับระบบ เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมระบบบัตรทอง ซึ่ง 4 สิทธิเพิ่มเติมที่สปสช. ดำเนินการในการยกระดับให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง มีดังนี้
1. “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่”
สิทธิของประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทอง เริ่มต้นที่บริการระดับปฐมภูมิ นำร่องพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาพรวมโครงการขณะนี้ คือพร้อมเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพฯ จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ โดยจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม รวมถึงจัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชันพร้อมระบบยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการผ่านบัตรประชาชน
2. “ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว”
ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จากกรณีที่ต้องนอนรักษาตัวต่อเนื่องด้วยเหตุผลทางการรักษา เดิมผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปเอาใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำเพื่อแสดงสิทธิในการรักษาบัตรทองต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาความไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด สปสช.จึงปรับระบบใหม่ให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องส่งใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนยืนยันตัวตนผู้ป่วยเท่านั้น นำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 มกราคม 2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ
3. “เป็นโรคมะเร็งไปรับการรักษาที่ไหนก็ได้”
เนื่องจากโรงมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้มีอาการลุกลาม และมะเร็งบางชนิด หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มโอกาสที่จะรักษาจนหายขาดได้ แต่ขั้นตอนการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษา ณ โรงพยาบาลที่มีความพร้อมตามสิทธิบัตรทองเป็นอุปสรรคให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ช้า ดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งจะมีประวัติและใบรับรอง หรือโค้ดเพื่อไปเลือกรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง
- สายด่วนสปสช. 1330
- แอปพลิเคชัน สปสช.
- ที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะโรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อม
ทั้งนี้จะได้รับการบริการตามโพรโตคอลรักษามะเร็ง ได้รับบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Telepharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
4. “ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน”
จากปัญหาที่ประชาชนติดขัดในการเข้ารับการรักษาในช่วงที่เปลี่ยนหน่วยบริการ เดิมระบบกำหนดให้ต้องรอ 15 วัน ก่อนถึงจะเข้ารับการรักษาที่หน่วยใหม่ได้ โดยปรับปรุงระบบการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ รวมถึงกรณีที่ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. หน่วยบริการสามารถพิสูจน์สิทธิและเบิกจ่ายค่าบริการผ่านบัตรประชาชน เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2564