เชื่อว่าปัญหาในหัวอกของคนที่เป็นหัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการประสบอยู่ทุกวันนี้คือเรื่อง การหา “ลูกน้อง” หรือ “ลูกจ้าง” ที่มีคุณภาพ อันเนื่องมาจากปัญหา “คุณภาพคน” ที่สุดท้ายอาจจะกลายเป็นปัจจัยฉุดความหวังประเทศไทย 4.0 ให้เหลือเพียงแค่ 0.4 ก็เป็นได้
คุณนึกแปลกใจบ้างหรือเปล่าว่าทำไม สถิติคนจบปริญญาตรีตกงานบ้านเราเป็นแสนราย แต่พอเวลานัดมาสัมภาษณ์ เจ้าของกิจการทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องคอยลุ้นว่าจะมารึเปล่า ต้องภาวนาอย่าให้ฝนตกอุปสรรคมาก เดี๋ยวไม่ยอมมา
เอาล่ะ ต่อให้ผ่านกระบวนการคัดสรรเข้าทำงานจริงๆแล้ว ก็ยังต้องพิสูจน์ใจกันในช่วงต้น ว่าจะเหยียบขี้ไก่ฝ่อหรือไม่ ถ้างานหนักไปจะพาลไม่ไหว ถ้าบริษัทเล็กเพื่อนน้อยอาจมีปัญหาด้านจิตใจ ถ้าเดินทางไกลก็ท้อถอยได้เช่นกัน
ระดับบน-กลาง-ล่างเป็นเหมือนกันหมดแล้ว ผมเคยไปนั่งทานอาหารร้านแบรนด์ดังแห่งหนึ่งที่มีหลายสาขาในกรุงเทพฯ ช้ายังไงมันก็ยังช้าอยู่อย่างนั้น ขนาดเด็กเสิร์ฟและพนักงานในร้านนับจำนวนหัวแล้วมีมากกว่าลูกค้าเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังจดออเดอร์ผิดออร์เดอร์ถูก อาหารมาตรงบ้างไม่มาบ้าง แต่เวลาเรียกเก็บตังค์ แหม มันเร็วชิบหอย..แถมยังไม่ลืมเก็บเซอร์วิสชาร์จเสียด้วยสิ
ไม่อยากเปรียบเทียบแต่ก็ต้องเปรียบกับญี่ปุ่น ที่นั่นแต่ละร้านเด็กเสิร์ฟน้อยครับแต่รับมือกับลูกค้าได้เยอะเพราะคนเขาทำงานกันเต็มประสิทธิภาพ บ้างร้านมีแค่เจ้าของร้านกับพนักงานเสิร์ฟคนเดียวก็ลุยได้แล้ว ไอ้เรื่องยืนเหม่อลอย หันหลังให้ลูกค้า หรือคุยโทรศัพท์มือถือระหว่างทำงานอย่าหวังว่าจะได้เห็น
เรียกว่าเรื่องของสมาธิและความตั้งใจในการทำงาน เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นผิดกันไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ “วินัย”
ถ้าพูดเรื่อง “วินัย” วิธีที่จะชี้ให้เห็นง่ายๆคือเรื่องของ “ทางม้าลาย” ในเมืองไทย เป็นที่กลายเป็นสัญลักษณ์อันว่างเปล่า ไม่ค่อยมีคนใช้ แม้จะอยู่ใกล้ๆก็ตาม นึกจะข้ามถนนตรงไหนก็ข้ามมันตรงนั้น
ไอ้คนขับรถก็พอกันคือ พอคนที่เขาเคารพกฎใช้ “ทางม้าลาย” ข้ามถนนก็ไม่ยอมหยุดรถให้ ซึ่งถือเป็นมารยาทเลวทรามที่คงพบได้ยากในประเทศที่เจริญแล้ว
สุดท้าย “ทางม้าลาย” ก็เป็นหมัน ไม่ค่อยมีหน่วยงานบ้านเมืองทำเพิ่มเท่าไหร่หรอก เพราะทำไปก็เท่านั้น ไม่มีความหมายต่อทั้งคนขับรถและคนเดินถนน
นี่คือสภาพที่ชี้ให้เห็นว่า หากเราไม่แก้ไขเรื่องการศึกษาและพัฒนา “คน” ไม่ว่าประเทศไทย 3.0, 4.0 หรือ 5.0 “คน”ที่ไม่มีวินัยไม่มีคุณภาพก็จะพาสังคมอลเวง จนไม่สามารถบรรลุการพัฒนาหรือปฏิรูปใดๆได้ทั้งสิ้นแม้แต่เพียงเรื่องเดียว
สุดท้ายหากไม่อยากให้แรงงานต่างชาติเข้ามากลืนกินสิ้นทั้งระบบในระดับล่าง แล้วถูกเทคโนโลยีใหม่ๆยึดพื้นที่ของคนทำงานชั้นกลาง ระดับบนถูกนายทุนผูกขาด ไทยเราคงต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังแล้วว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถปลูกฝังทัศนคติและสร้างคนที่มีคุณภาพขึ้นมาให้ได้มากกว่านี้ในอนาคต ไม่เช่นนั้นคงไม่ต้องคิดไปแข่งกับใครทั้งสิ้น.