ระวังจะคิดไปเอง! ใกล้ชิดได้ แต่ติดอยู่ที่ “Friend Zone”

ภาพจาก freepik.com

มนุษย์ทุกคนมี “พื้นที่ส่วนตัว” หรืออาจจะเรียกว่า “จักรวาลส่วนตัว” ก็ยังได้ เป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ใครเข้ามารุกล้ำโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการวัดพื้นที่รอบ ๆ ตัวเสมอ โดยระยะห่างที่สั้นที่สุดที่มนุษย์เราจะสงวนไว้ไม่ให้คนที่ไม่สนิทเข้าใกล้ จะอยู่ที่ประมาณ 1 ช่วงแขน กางออกแล้ววาดรอบตัวเหมือนวงเวียน ซึ่งก็คือประมาณ 45-60 เซนติเมตรนั่นเอง

พื้นที่ส่วนตัว (Personal space) ในทางมนุษยวิทยา คือ ช่องว่างระหว่างบุคคลแต่ละคนในสังคม ถือเป็นอาณาเขตส่วนตัวของคนแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ระยะห่างนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความสนิทสนมในความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เติบโตมา

ด้วยระยะห่างที่มนุษย์เราสร้างขึ้นนี้เกิดเป็น ทฤษฎี 45.7 เซนติเมตร เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งหากเราเริ่มยินยอมให้ใครสักคนเข้าใกล้พื้นที่ประมาณ 45.7 เซนติเมตรที่ว่า นั่นแปลว่าเขาอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลของเราแล้วก็ได้

ทฤษฎี 45.7 เซนติเมตร คืออะไร?

ทฤษฎี 45.7 เซนติเมตร (Proxemic Theory, 1966) เป็นทฤษฎีของเอ็ดเวิร์ด ฮอลล์ (Edward T. Hall) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอว่า การที่มนุษย์เว้นระยะห่างระหว่างกันนั้น ถือเป็นอวัจนภาษารูปแบบหนึ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน สังเกตได้ง่าย ๆ คือ การที่เราจะเว้นเก้าอี้อย่างน้อย 1 ตัว เมื่อต้องเข้าไปนั่งร่วมกับบุคคลอื่น หากมีเก้าอี้ว่างเหลือเยอะ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเว้นเก้าอี้มากกว่า 1 ตัว ซึ่งความหมายของพฤติกรรมนี้ก็คือ “อย่าเข้ามาใกล้ฉัน” ดังนั้น หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องของสถานที่ น้อยคนมากที่จะเลือกนั่งเก้าอี้ติดกับผู้อื่น

เมื่อมีการเว้นระยะห่าง ฮอลล์จึงได้แบ่งระยะห่างระหว่างบุคคลออกเป็น 4 ระยะ

1. ระยะใกล้ชิด (Intimate Distance) เป็นระยะที่ใกล้ที่สุด มีระยะห่างประมาณ 0-15 เซนติเมตร ในระยะนี้เป็นระยะที่มนุษย์เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด การใช้ภาษาในระดับกันเอง มีภาษากายในการสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยระยะนี้จะเป็นระยะเฉพาะคนพิเศษ เช่น คู่รัก สมาชิกในครอบครัว เพื่อนที่สนิทกันมาก ๆ หรือในเหตุการณ์เฉพาะอย่าการเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องอยู่ในระยะประชิดตัว

อย่างไรก็ตาม ระยะใกล้ชิดยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดบางอย่าง โดยเฉพาะข้อจำกัดของสถานที่ ในกรณีที่เราจำเป็นจะต้องอยู่ในระยะใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า เช่น การยืนเบียดกันบนรถโดยสารสาธารณะ การนั่งเก้าอี้รอคิวในการติดต่อธุระบางอย่าง จะเห็นได้ว่าไม่ว่ารถจะแน่นขนาดไหน เราจะพยายามสร้างพื้นที่ว่างไว้เสมอแม้จะเพียง 1 เซนติเมตรก็ตาม เพื่อไม่ให้คนแปลกหน้าสัมผัสตัว หรือถ้ามีโอกาส เราจะเลือกย้ายที่นั่งให้ห่างจากคนอื่น

2. ระยะส่วนตัว (Personal Distance) เป็นเขตป้องกันตัวระยะใกล้ มีระยะประมาณ 45-60 เซนติเมตร ในระยะนี้เองที่ต่อให้สนิทในระดับหนึ่ง แต่ยังมี “เส้นบาง ๆ กั้นระหว่างเราสอง” ปกติแล้ว ระยะนี้เป็นระยะที่เราใช้กับเพื่อนหรือคนที่สนิทสนมกันในระดับหนึ่ง สามารถเอื้อมมือถึงกันได้ ยังสัมผัสกันและกันได้ พูดคุยกันด้วยระดับเสียงปกติ แต่ยังคงรักษาระยะห่างไว้ ใครที่จะเข้าใกล้กว่านี้ จะต้องได้รับการยินยอมจากเราก่อน

3. ระยะสังคม (Social Distance) เป็นระยะที่ใช้กับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ระยะห่างประมาณ 2-3.5 เมตร เป็นระยะที่ใช้พูดคุยทางสังคมและหรือติดต่อกันในลักษณะที่ไม่สามารถเอื้อมมือถึงกันได้ ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาที่เป็นทางการมากขึ้น การแสดงกิริยาท่าทางจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของมารยาททางสังคม อาจใช้เสียงที่ดังขึ้น เพราะอยู่ห่างกัน

4. ระยะสาธารณะ (Public Distance) มักเป็นการสื่อสารทางเดียว ระยะห่างประมาณ 3.5 เมตรขึ้นไป อย่างการปรากฏตัวในที่สาธารณะ มีความสุภาพสูง ใช้ภาษาระดับทางการ และต้องใช้เสียงพูดดังขึ้นไปอีก เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ การปราศรัยในที่สาธารณะ เป็นต้น

ผลของการมีระยะห่างต่อกัน

จากการเว้นระยะห่างตามทฤษฎี เมื่อเราต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่ในที่ที่คนเยอะ ๆ หรือเบียดเสียดกัน การที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาประชิดตัวหรือกำลังถูกคุกคาม โดยสมองของเราจะเริ่มสั่งการให้เข้าสู่โหมด “ระวังภัย” รวมไปถึงความไม่พอใจ (แม้แต่กับคนรู้จัก) เมื่อใครก็ตามรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตส่วนตัวของเรา หรือเข้ามาวุ่นวายกับข้าวของส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในทางตรงกันข้าม หากเรายิ่งสนิทสนมกับใคร เราจะค่อย ๆ ลดกำแพงลง (แต่อาจจะยังมีเส้นบาง ๆ กั้น) ยินยอมให้เขาเข้าใกล้ในระยะส่วนตัว ทำให้ระยะห่างต่อกันเริ่มน้อยลง แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้น เราก็สามารถทวงคืนพื้นที่ส่วนตัวคืนได้ด้วยการขอ “ห่างกันสักพัก” ซึ่งเป็นสักพักที่ไม่รู้ว่านานแค่ไหน หรืออาจจะตลอดไปเลยก็ได้

ดังนั้น นี่จึงเป็นวิธีสื่อสารอย่างหนึ่่งที่บอกให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าเราทั้ง 2 มีความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร อย่างเช่นเพื่อนที่สนิทกันจะนั่งใกล้กันและสัมผัสตัวกันได้ แต่กับคนที่เราไม่รู้จักหรือคนที่เรา “เหม็นขี้หน้า” เราจะพยายามอยู่ห่าง ถือตัว ไว้ตัวต่อกัน หรืออาจเป็นในทางลบกว่านั้น คือแสดงอาการรังเกียจ ไม่ไว้ใจหรือระวังภัย

ระยะห่างจึงส่งผลต่ออารมณ์และความสัมพันธ์ได้ เมื่อมนุษย์กำหนดระยะห่างระหว่างตัวเองกับบุคคลอื่น จึงเกิดเป็นพื้นที่ว่างที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมขึ้น ในระยะใกล้ชิด พ่อแม่ที่ไม่เคยกอดหรือสัมผัสลูก ก็อาจทำให้ลูกโตมาอย่างรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดความอบอุ่น หรือคู่รักที่ต้องอยู่ห่างไกลทั้งระยะทางและเวลา หากไม่มีการติดต่อพูดคุยกันเท่าที่ควรจะเกิดขึ้นในระยะใกล้ชิด ก็อาจเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เริ่มห่างเหิน จนรู้สึกหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

ในขณะเดียวกัน ในระยะส่วนตัวที่เราขีดเส้นแบ่งไว้ ก็แปลว่าเราไม่ยินยอมให้คนที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าใกล้ และพยายามที่จะรักษาระยะห่างไว้ จนบางครั้งอาจเกิดการเข้าใจผิดว่าฝ่ายตรงข้ามเข้าถึงยาก หยิ่ง รังเกียจ หรือเกิดไม่มั่นใจขึ้นมาว่าตัวเองอาจมีลักษณะไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ทำให้คนไม่อยากเข้าใกล้

อีกสิ่งที่ต้องระวังให้มาก คือ “การคิดไปเอง” โดยเฉพาะคนที่สนิทสนมอยู่ใกล้ชิดกันมาก ๆ แต่ในทางความรู้สึก คน 2 คนอาจจะมีไม่เท่ากัน หากความรู้สึกที่มีเหมือนกันและเท่า ๆ กัน ก็อาจจะเกิดความสัมพันธ์ใหม่ขึ้น แต่ถ้าใครสักคนเริ่มรู้สึกตัวว่าโดนรุกล้ำมากเกินไป เพราะความรู้สึกที่มีต่อกันไม่เหมือนกัน ก็อาจจะ “ตีตัวออกห่าง” และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่จบไม่สวยเท่าใดนัก

ระยะห่างจึงมีความสำคัญ

แต่บางครั้งเราอาจจะล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ จึงจำเป็นอย่างมากที่เราต้องสังเกตภาษากายของอีกฝ่ายให้เข้าใจว่า เขาให้เราเข้าใกล้ได้มากแค่ไหน และที่สำคัญถึงจะยอมให้เข้าใกล้ได้มากกว่า 45.7 เซนติเมตร ก็อาจจะเป็นแค่เฟรนด์โซน ที่มีกระจกใสบาง ๆ คั่นไว้แม้จะยืนตัวติดกันก็ตาม

ดังนั้น ความเป็นส่วนตัวของมนุษย์เราจะสิ้นสุดลง ตั้งแต่ยอมให้อีกฝ่ายเข้าใกล้ได้ถึง 45.7 เซนติเมตรเป็นต้นไป แม้ระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นสิ่่งที่เรามองไม่เห็น แต่ระยะนั้นมีอยู่จริงและสัมผัสได้ การเว้นระยะห่างจึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งแบบใกล้ชิดและแบบคนรู้จักธรรมดา

ข้อมูลจาก eScholarship