วงการบันเทิงต้องพบกับข่าวการสูญเสียอีกครั้ง เมื่อ “แชมป์” ศุภวัฒน์ พีรานนท์ นักร้องเจ้าของบทเพลงดัง “นอนน้อย” และหนึ่งในผู้บริหารแอพพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง TikTok ประเทศไทย เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ในวัยเพียง 40 ปี
หัวใจวายหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างพอเพียง เพราะมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน และขัดขวางการไหลของเลือด จนทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ เมื่อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย จึงทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย
อาการหัวใจวายสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่มักพบบ่อยในคนสูงอายุ โดยเฉพาะในเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้นการบีบตัวของหัวใจจะลดลง ดังนั้น หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น หรือสูญเสียความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ ก็จะเกิดภาวะหัวใจวายได้
โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสูบบุหรี่จัด ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสุขภาพปกติแข็งแรง ก็สามารถเกิดภาวะหัวใจวายได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ต้องไม่นิ่งนอนใจเป็นอันขาด
สังเกตอาการผิดปกติ ลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
- เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตรงกลางอก และเป็นนานกว่า 1 นาทีขึ้นไป
- เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้งสองข้าง
- มีเหงื่อออกตามร่างกาย เหนื่อยง่าย หายใจถี่กระชั้น
- วิงเวียน หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว
ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์หรือเรียกรถพยาบาลทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิต โดยภาวะหัวใจวาย แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 จะไม่มีอาการใด ๆ แสดง ขณะที่ทำกิจกรรมหรือในอิริยาบถต่าง ๆ
- ระยะที่ 2 ขณะพักจะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีอาการของหัวใจวายเกิดขึ้น
- ระยะที่ 3 ไม่มีอาการใด ๆ ขณะพัก แต่หากทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะมีอาการเกิดขึ้น
- ระยะที่ 4 มีอาการกำเริบแม้ในขณะที่พัก และไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง
หัวใจวายเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการ และป้องกันไม่ให้รุนแรงมากขึ้นได้ โดยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันแต่เนิ่น ๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด
- ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมัน และแคลอรี่สูง
- ไม่รับประทานอาหารจานด่วน หรืออาหารสำเร็จรูป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล
- เลิกสูบบุหรี่ และพยายามอย่าให้เกิดความเครียด
นอกจากนี้ ก็ควรดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้มากขึ้น ทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย และอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ที่นำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
ข้อมูล : RAMA CHANNEL / พบแพทย์