
หากพูดถึง “สลัม” ชุมชนที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงหนีไม่พ้น “สลัมคลองเตย” โดยภาพจำที่เกือบทุกคนมีต่อชุมชนนี้ คือเป็นชุมชนแออัด มีปัญหายาเสพติด เป็นแหล่งเสื่อมโทรม เป็นแหล่งมั่วสุม เป็นต้น ภาพของชาวคลองเตยก็ถูกมองว่าเป็นคนทำงานขายแรงงาน การศึกษาน้อย ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนย่ำแย่ตามไปด้วย
พอมี COVID-19 ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดชาวชุมชนคลองเตยมากขึ้นกว่าเดิม เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นลูกจ้างรายวัน ที่แต่ก่อนพอจะหารายได้จุนเจือครอบครัวได้บ้าง กลับต้องขาดรายได้และกลายเป็นคนตกงานแบบฉับพลัน จากการที่กิจการต่าง ๆ ถูกสั่งปิด จากที่เคยลำบากกันอยู่แล้วก็ต้องลำบากกันกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องของปากท้องที่มนุษย์เราจำเป็นต้องกินทุกวัน
แต่ในวิกฤตย่อมยังมีโอกาสเสมอ เมื่อมีโครงการดี ๆ อย่าง “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว เพื่อช่วยให้คนในชุมชนแห่งนี้ยังยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาปากท้องในครอบครัว
จุดเริ่มต้นโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”
เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากแนวคิด “ปันกันอิ่ม” โดยมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเป็นแนวคิดการทำบุญรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางใหม่ ที่จะช่วยให้คนทำบุญกันได้ง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำกัดเพียงการทำบุญที่วัดกับพระสงฆ์เท่านั้น จึงเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกทางหนึ่ง โดยมี “ผู้ให้” “ผู้รับ” และ “ร้านอาหาร” เป็นสะพานบุญ และมีเป้าหมายคือ “อิ่มใจผู้ให้ อิ่มท้องผู้รับ”
การทำบุญในรูปแบบปันกันอิ่ม เน้นสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อนจากการขาดรายได้ ซึ่งนั่นจะทำให้พวกเขาไม่มีอาหารกินด้วย ซึ่งพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ได้วางแนวคิดการดำเนินงานเป็น 4 ข้อ คือ
- ทำง่าย เพราะไม่ต้องใช้เงินมาก และทำที่ไหนก็ได้เพราะทุกที่สามารถเป็นโรงทาน
- ใคร ๆ ก็ทำได้
- เป็นการทำบุญที่ส่งผลบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่ทุกข์ยากและต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
- เติมพลังบวกให้กับผู้ให้ ผู้รับ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การทำบุญปันกันอิ่มนี้จะมาในรูปแบบของ “คูปอง” โดย “ผู้ที่อยากทำบุญ” สามารถบริจาคเงินเท่าไรก็ได้ไว้ที่ร้านอาหาร เมื่อจำนวนเงินครบตามราคาคูปอง 1 ใบ คูปองที่ว่าจะถูกส่งต่อให้กับผู้ที่ “ท้องหิว” ซึ่งสามารถนำคูปองมาแลกอาหารได้ที่ร้านอาหารที่ร่วมโครงการ ทั้งนี้ผู้รับจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจหรือรู้สึกต่ำต้อยใด ๆ เพราะนี่ไม่ใช่การ “ขอ” แต่เป็นการเอาคูปองมา “แลกเปลี่ยน”
เมื่อชุมชนคลองเตยนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ช่วยเหลือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งมีทั้งคนว่างงาน คนตกงาน และกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อ จะมีเจ้าหน้าที่นำคูปองอาหารที่ได้มาจากการบริจาคจากผู้ใจบุญไปมอบให้กับคนในชุมชน ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 3 เดือน จากนั้นชาวบ้านจะนำคูปองไปแลกอาหารกับร้านค้าในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยร้านค้ามีหน้าที่ทำอาหารให้สะอาด สดใหม่ และปลอดภัยกับผู้บริโภค
การดำเนินโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”
วิธีการดำเนินการของโครงการคลองเตยดีจังปันกันอิ่มนี้ เริ่มจาก “อิ่มใจผู้ให้” ผู้ที่ปรารถนาอยากจะเป็นผู้ให้สามารถสแกน QR Code เพื่อซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มในราคาอิ่มละ 30 บาทหรือตามกำลัง ฝากไว้กับ “สะพานบุญร้านค้า” เพื่อนำเงินเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นคูปองอาหารให้กับคนในชุมชน จากจุดนี้เอง จะช่วยให้ร้านค้าสามารถค้าขายได้ตามปกติ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน หลังจากนั้น “อิ่มท้องผู้รับ” จะนำคูปองที่ได้มายื่นให้กับร้านค้าแลกเป็นอาหาร 1 มื้อ พร้อมกับเขียนสิ่งดี ๆ ที่อยากจะส่งต่อให้กับผู้อื่นติดไว้บนบอร์ดของชุมชน เพื่อเป็นการส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ต่อไป
ความสำเร็จของโมเดล “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” ถือเป็นความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะโครงการดังกล่าวช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน ทั้งเรื่องการค้าขาย การจ้างงาน โดยเฉพาะเรื่องของการดึงศักยภาพของคนในชุมชนขึ้นมา เนื่องจากการปฏิบัติงานในชุมชนจำเป็นต้องให้ผู้นำในชุมชนนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการเองในฐานะของ “คนใน” ซึ่งจะรู้ความเป็นไปและสามารถส่งต่อแบบปากต่อปากได้มากกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็น “คนนอก” เพื่อจัดการให้เหมาะกับบริบทของชุมชน ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าหน้าที่จากโครงการจะช่วยประสานงานจะมีหน้าที่ช่วยประสานงาน

คุณอภิญญา จารุวัฒนชัยกุล เจ้าหน้าที่โครงการคลองเตยดีจัง ได้บอกเล่าถึงปัญหาในช่วงเริ่มต้นโครงการ จากความพยายามจัดลำดับผู้ได้รับความเดือดร้อนออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเร่งด่วน กลุ่มรอได้ และกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งนั่นทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันระหว่างคนในชุมชน เนื่องจากทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น
เมื่อรู้ถึงปัญหา ทางโครงการฯ ได้แก้ไขโดยการแจกคูปองให้กับทุกกลุ่ม สิ่งนี้กลับทำให้ได้ผลเชิงบวกที่คาดไม่ถึงจากกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าได้รับเพียงพอแล้ว ก็มีความคิดที่จะนำไปแบ่งปันต่อให้กับผู้ที่เดือดร้อนกว่า นี่จึงเป็นการสร้างสัมพันธ์ และสังคมการแบ่งปันให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องประชาสัมพันธ์อะไร
อีกสิ่งที่โมเดลคลองเตยดีจังปันกันอิ่มได้มอบให้กับชุมชนคลองเตยก็คือ “ผู้นำตามธรรมชาติ” โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ก้าวเข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว เนื่องจากการดำเนินโครงการต้องให้คนในชุมชนไปดำเนินต่อกันเอง เพื่อให้เกิดความสะดวก ต่อเนื่อง และยั่งยืน มีการทำงานร่วมกันระหว่างวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในชุมชน และนอกจากนี้ ชุมชนคลองเตยยังประสบกับปัญหาไล่รื้อ หากโครงการนี้สามารถดึงศักยภาพที่มีในตัวบุคคลแต่ไม่มีโอกาสได้แสดงออกขึ้นมาได้ เมื่อคนเหล่านี้ไปอยู่ที่ชุมชนอื่น ก็สามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวไปพัฒนากับชุมชนอื่นได้เช่นกัน
โครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” จึงถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คลองเตยดีจัง” การเปิดระดมทุน และการทำเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือทุกคนในชุมชน ในส่วนนี้ ไม่เพียงแต่อิ่มใจ อิ่มท้องกันเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดในเรื่องของปากท้อง จากการช่วยเหลือ นำไปสู่การพึ่งพาตัวเอง และเมื่อพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ก็ไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อ แม้จะไม่เห็นหน้าคนที่กำลังลำบาก และไม่เห็นหน้าคนที่ช่วยเหลือ แต่ก็ยังส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กันได้ไม่รู้จักจบสิ้น