มองงานให้เป็นงาน ในแบบ “โค้ชง้วน” สุรชัย จตุรภัทรพงศ์
“พี่ไม่อยากเสียเพื่อนวะ หลายคนที่เรารู้จักและเป็นเพื่อนกันพอทำทีมแล้วมันมีหลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ เลยขอออกจากตรงนั้นมาพัฒนาในระดับเยาวชนแบบนี้ดีกว่าทำแล้วรู้สึกสบายใจ” คำพูดของ สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติ ที่เคยไปค้าแข้งและรุ่งโรจน์อยู่ในเอสลีก ของสิงค์โปร์ เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยพร้อมกับสถานะพ่วงท้าย “โค้ชระดับโปร ไลเซนส์ (Pro License) พี่ง้วน ก็ทำหน้าที่ผู้จัดการทีมบางกอกกลาส ต่อด้วยทีมชัยนาทเอฟซี ก่อนจะขึ้นเป็นโค้ชทีมชาติไทย ขณะที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสโมสรฟุตบอลบางกอกกลาส
เป็นชีวิตที่โลดโผนไม่น้อยสำหรับผู้ชายคนที่ใช้เกมลูกหนังเป็นหางเสือในการขับเคลื่อนเกมชีวิต ส่วนตัวนั้นรู้จักพี่ง้วนในฐานะนักข่าว กับ แหล่งข่าว เวลามีปัญหาในแวดวงฟุตบอลแล้วต้องการคำตอบแบบมีเหตุและผล ชื่อของ พี่ง้วนจะมาผุดขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพราะพี่ง้วนไม่เคยว่าร้ายใครให้ฟัง (แม้สันดานนักข่าวอย่างเราๆจะถามนำแค่ไหน) สิ่งที่พี่ง้วนตอบ เป็นเหตุและผลที่เหลือคือให้คนฟังไปคิดตามดูว่าจริงหรือไม่จริง
พอมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีกครั้งเลย ได้นั่งคุยกับพี่ง้วน ในแบบที่ไม่เป็นทางการ เป็นการนั่งคุยที่ให้อยากให้หลายคนที่กำลังรู้สึกว่า สังคมการทำงานในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและอยู่ยาก ได้มานั่งฟังไปด้วยกันเผื่อจะช่วยให้มีมุมมองในการทำงานที่เปลี่ยนไปบ้าง เพราะการใช้ชีวิตแบบผู้ชายที่ชื่อ สุรชัย จุตรภัทรพงศ์ ที่แม้จะเคยคุมทีมชาติไทยมาแล้ว แต่วันนี้ในฐานะ Commentator ของรายการ พรีวิว เกมพรีเมียร์ลีก พี่ง้วนของน้องๆ ไม่เคยทำตัวให้ยุ่งยาก เป็นพิธีกรที่มาถึงก่อนเวลาหนึ่งชั่วโมง มาพร้อมกับขนมถุงโตมาแจกทีมงาน พร้อมกับพูดแบบติดตลกว่า “ร้านสะดวกซื้ออยู่หน้าบ้านพี่ เลยซื้อมาแจก พี่จะได้กินด้วย”
บทสนทนาเริ่มต้นขึ้น ระหว่างที่พี่ง้วนหยิบเอามะเขือเทศสดขึ้นมาพร้อมกับชักชวนคนเขียน ให้กินไปด้วยกัน เลยเปิดคำถามแรกทักทายคุณสรุชัยเบาๆ “พี่ง้วนต้องปรับตัวเยอะไหมช่วงที่กลับมาทำงานในเมืองไทยหลังไปอยู่สิงค์โปร์มาเกือบสิบปี” พี่ง้วนตอบแบบไม่คิดนานเลยว่า
“ไม่นะ ไม่ต้องปรับอะไรเลยเพราะเหมือนเราผ่านการทำงานที่มีมาตรฐานมาแล้วพอมาทำงานเมืองไทย เราก็แค่ทำความเข้าใจว่าระบบเป็นแบบไหนจากนั้นก็ลงมือทำ เพียงแต่พอทำไปแล้วได้เห็นอะไรที่มันชัดขึ้นก็ต้องปรับตัว แล้วยิ่งทำไปพี่ก็รู้สึกว่าพี่ยังไม่อยากเสียเพื่อน ก็เลยออกมาดีกว่า มาอยู่ในวงนอกแต่ยังเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอยู่ อย่างมาเป็นผู้อำนวยการสโมสรนี่ก็รู้สึกสบายใจ เพราะได้ไปดูการพัฒนาของนักฟุตบอลในระดับเยาวชน ได้เห็นว่าเด็กไทยสมัยนี้มีพัฒนาการ ยิ่งถ้าเราสามารถพัฒนาในระดับอายุ 7-9 ปีได้จะดีมากเพราะกลุ่มนี้จะพัฒนาได้เร็ว และมีโอกาสจะเป็นนักเตะที่ดีในอนาคต”
แล้วบ้านเราที่มันไม่มีระบบมันจะพัฒนากันไหวหรือพี่ (คนเขียนยังคงไม่ยอมแพ้ ขอถามนำต่อ)แต่คำตอบของคุณสุรชัยคือดีงาม “อันที่จริงแล้วสมาคมฯก็พยายามอยู่นะ และ ทุกสโมสรก็พยายามที่จะสร้างนักฟุตบอลรุ่นใหม่ๆขึ้นมา เพียงแต่ของเราเป็นช่วงเริ่มต้นมันก็จะวุ่นวายกันหน่อยพอเริ่มเดินไปได้นานกว่านี้ก็จะเห็นผลจริงจัง”
“การทำงานไม่ว่าจะงานอะไรก็ต้องใช้เวลาแหละ มันไม่มีทางเสร็จได้ภายในสี่ห้าปีหรอก ส่วนปัญหาเรื่อง “คน” มันก็เป็นทุกที่เราก็มองให้เป็นสีสันของชีวิตไป อย่างพี่ตอนนี้พอมาทำเรื่องการกำหนดกลยุทธ์ในฐานะผู้อำนวยการสโมสรก็สบายใจดีนะ และเป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน”
ถ้าอย่างนั้นเอาคำถามสูตรสำเร็จส่งให้พี่ง้วนดีกว่าดูซิว่า จะตอบอย่างไร “แล้วบอลไทยจะไปบอลโลกไหมพี่” คุณสุรชัย ตอบแบบไม่คิดนานเลย “พี่ว่าไม่เกิน 10 ปีนี้ได้ไป ถ้าเราเข้ารอบคัดเลือกแบบนี้บ่อยๆเพราะนักฟุตบอลและทีมงานจะมีประสบการณ์ จะทำให้ทีมพัฒนาที่สำคัญนักฟุตบอลมีพัฒนาการแบบรุ่นต่อรุ่นพี่เชื่อว่าน่าจะไม่เกิน 10 ปีนี้เรามีโอกาสได้ไปฟุตบอลโลก” นี่ละค่ะ คำตอบแบบสุรชัย จุตรภัทรพงษ์ คนที่มีเหตุและผลในทุกคำตอบ ไม่มีมโนขึ้นมาเอง แถมก่อนจากยังฝากให้คิดด้วยว่า “ทำงานให้เป็นงาน มีความสุขกันชีวิตปัจจุบัน แค่นี้ก็อยู่สบายแล้วนะพี่ว่า” แล้วคุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรคะ …..พบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ