
กลายเป็นประเด็นที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องสั่นสะเทือนเลยทีเดียว เมื่อมหาเศรษฐีนักลงทุนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ เผยว่าบริษัท Berkshire Hathaway ของเขาเทขายหุ้นทั้งหมดที่ถือไว้กับ 4 สายการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ทั้ง Delta Air Lines, American Airlines, Southwest Airlines และ United Airlines รวมมูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท
เมื่อมองไม่เห็นผลกำไร จึงต้องยอมขายทิ้ง เพราะหุ้นสายการบินต่าง ๆ ดิ่งลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากผลพวงของ COVID-19 และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด หลังจากกินเวลายาวนานจนล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเป็นอีกวงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้าย เมื่อสายการบินต่าง ๆ ต้องระงับเที่ยวบิน และหยุดบินเป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากมาตรการ Lockdown ของประเทศต่าง ๆ ทำให้ขาดรายได้มหาศาล และส่งผลให้นักบิน พนักงานต้อนรับ รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
จากอาชีพที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะตกงาน กลับต้องเจอทั้งภาวะการปรับลดเงินเดือน, ปรับลดค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน (Leave Without Pay) จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่
จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าสายการบินทั่วโลกมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 2.95 ล้านคน นั่นหมายความว่า หากมีการลดหรือปลดพนักงานออกเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จะมีคนตกงานทั่วโลกมากถึง 150,000 คน!
เวลานี้สายการบินต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มประกาศปรับลดจำนวนพนักงานกันแล้ว โดยจะมีพนักงานของสายการบิน Ryanair, Lufthansa, British Airways, Scandinavian Airlines และ Air France-KLM ที่ต้องเปลี่ยนสถานะกลายเป็น “คนว่างงาน” รวมกันมากถึง 32,000 คน
ขณะที่พนักงานของสายการบินต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกายังถือว่ามีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการให้ความคุ้มครองพนักงาน ด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือสายการบินต่าง ๆ เป็นเงินรวม 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.15 แสนล้านบาท พร้อมด้วยเงื่อนไขว่าสายการบินทั้ง 6 ที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล จะไม่สามารถปลดพนักงานออกได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563
โดย IATA ประเมินว่ารายรับของสายการบินทั่วโลกในปีนี้จะหายไปกว่าครึ่ง (55 เปอร์เซ็นต์) หรือประมาณ 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสายการบินหลายแห่งในยุโรปเริ่มร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วเช่นกัน เพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดสถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากมุมมองของ Eddie Wilson ผู้บริหารสายการบิน Ryanair มองว่าอาจจะต้องรอจนถึงช่วงซัมเมอร์หรือครึ่งปีหลังของปี 2022 เป็นอย่างน้อย กว่าที่อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้ ขณะที่ Carsten Spohr ผู้บริหารของสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง Lufthansa มองว่าน่าจะต้องใช้เวลาจนถึงปี 2023 เลยทีเดียว!