เช็กสิทธิ์ “ลดหย่อน” ให้ชัวร์ ยื่นภาษีปีนี้ยังมีเวลา!

ภาพจาก freepik.com

อย่างที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในหน้าที่ของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำกันทุกปีในช่วงนี้ คือการยื่นภาษี แต่ในปี 2563 ต่างไปจากปีก่อน ๆ ตรงที่กรมสรรพากรขยายเวลาในการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาได้จนถึงเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อลดภาระผู้ยื่นภาษีในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้มีเงินนำไปใช้จ่ายหมุนเวียน และสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ Tonkit360 จึงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นในการยื่นภาษี เพื่อให้ทุกท่านได้เช็กสิทธิ์ลดหย่อนภาษีให้ละเอียดก่อนยื่นภาษีปี 2563 และใช้สิทธิ์ที่พึงมีอย่างเต็มที่ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว

1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว

สำหรับคนมีเงินได้ทุกคน สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส

สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่ยื่นแบบแสดงรายการคำนวณภาษีพร้อมกัน สามารถลดหย่อนได้คู่ละ 60,000 บาท

3.ค่าลดหย่อนบุตร ต่อ 1 คน

หากเป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถนำมาหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรโดยกฎหมาย สามารถหักได้ไม่เกิน 3 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันตามนโยบายรัฐฯ ส่งเสริมให้เพิ่มประชากร คู่สมรสที่มีลูกคนที่ 2 ขึ้นไป รับสิทธิ์เพิ่มอีก 30,000 บาท ต่อคน รวมเป็น 60,000 บาท

4.ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร

สามารถลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท หากตั้งท้องปีนี้ แต่กำหนดคลอดปีหน้า ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้สิทธิ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

5.ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อแม่ และคู่สมรสอายุ 60 ปีขึ้นไป

ส่วนนี้ลดได้สูงสุดไม่เกิน 4 คน สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

6.ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ

สามารถใช้ได้ในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าร่างกายบกพร่อง สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน

1.ประกันสังคม

ส่วนนี้ลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 9,000 บาท

2.เบี้ยประกันชีวิต

สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 100,000 บาท

3.เบี้ยประกันสุขภาพ

สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

4.เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

กรณีนี้ต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 15,000 บาท

5.เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส

กรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ สามารถลดหย่อนได้คู่ละไม่เกิน 10,000 บาท

6.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ส่วนนี้ลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 10,000 บาท แต่ในกรณีที่มีส่วนที่เกิน 10,000 แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี

7.เงินสะสมกองทุน กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เกิน 500,000 บาท

8.เงินสะสมจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ส่วนนี้ลดได้คนละไม่เกิน 13,200 บาท

9.เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ

เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท

10.กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

กรณีนี้ต้องซื้อถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท

11.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

กรณีนี้ต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนด้านอสังหาริมทรัพย์

1.ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย

สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 100,000 บาท หากมีการกู้มากกว่า 1 แห่ง สามารถลดหย่อนรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ในกรณีที่กู้ร่วมกันหลายคน สามารถแบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน

2.ซื้อบ้านหลังแรก ปี พ.ศ. 2558

ถ้าบ้านหรือคอนโดนั้นราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท คิดเป็น20% ของค่าบ้าน สามารถลดหย่อนได้ 5 ปี (ปีละ 4%)

3.ซื้อบ้านหลังแรก ปี พ.ศ. 2562

ถ้าบ้านหรือคอนโดนั้นราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท สามารถลดหย่อนได้คนละไม่เกิน 200,000 บาท

กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนเงินบริจาค

1.เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนการกีฬา และเงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

2.เงินบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ

ส่วนนี้ลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

3.กลุ่มเงินบริจาคทั่วไป

สามารถลดได้จำนวนตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และเงินบริจาค 2 กลุ่มแรก

4.เงินบริจาคให้พรรคการเมือง

ส่วนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มที่ 5 ค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

1.สินค้าในกลุ่มช้อปช่วยชาติ สินค้าการศึกษาและกีฬา หนังสือ สินค้า OTOP

สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อ 1 กลุ่ม

2.โครงการท่องเที่ยวไทย

เที่ยวเมืองหลัก สามารถลดหย่อนได้ 15,000 บาท และเที่ยวเมืองรอง สามารถลดหย่อนได้ 20,000 บาท รวมกันแล้วไม่เกิน 20,000 บาท

3.ค่าเสียหายจากพายุปาบึก

สามารถลดหย่อนค่าซ่อมบ้านได้ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมรถได้ไม่เกิน 30,000 บาท

4.ค่าเสียหายจากพายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ส่วนนี้สามารถลดหย่อนค่าซ่อมบ้านได้ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าซ่อมรถและอื่นๆ ไม่เกิน 30,000 บาท