
บ่อยครั้งที่หลายคนเลือกบำบัดความเครียดด้วยการ “กิน” จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำหนักตัวมากเกินพิกัด ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่ามี ผู้ใหญ่ถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ที่ยอมรับว่าพวกเขากินมากขึ้น เมื่อมีความเครียดหรือรู้สึกเศร้า และผลวิจัยที่ผ่านมา ก็พบว่า การกินเพื่อคลายความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เกิดจากการการส่งต่อทางพันธุกรรมหรือไม่
ล่าสุด มีผลการศึกษา 2 ชิ้นที่เกี่ยวกับกับการกินเพื่อบำบัดอารมณ์ในเด็ก โดยที่อังกฤษมีการศึกษาจากเด็กแฝดว่าการกินเยอะที่เกินไป เกิดจากสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดู หรือการส่งต่อทางพันธุกรรม ขณะที่ในนอร์เวย์ มีการศึกษาว่า ผู้ปกครองมีบทบาทในการให้ของกินเด็ก เพื่อทำให้พวกเขาเลิกงอแงหรือไม่
โดยนักวิจัยในอังกฤษศึกษาพฤติกรรมการกินบำบัดอารมณ์ จากครอบครัวที่มีเด็กแฝด 2,400 ครอบครัว ที่เกิดในปี 2007 ขณะที่มีอายุ 16 เดือน และ 5 ขวบ ก่อนพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกินมากเกินไปในเด็ก อยู่ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และเรื่องพันธุกรรมแทบไม่มีผลสำคัญใดๆ
ทั้งนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักแก้ปัญหาเด็กงอแง เช่น เมื่อลูกเจ็บตัวจากการเล่น ด้วยการให้กินอาหารเพื่อให้ลืมความเจ็บปวด จนทำให้เด็กๆ เคยชินกับใช้วิธีเดียวกันนี้ในการบำบัดอารมณ์เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น
ขณะที่ในนอร์เวย์ มีการสอบถามพฤติกรรมการกินของเด็กๆ จากพ่อแม่เกือบ 1,000 ครอบครัว ขณะที่เด็กมีอายุ 6 ปี, 8 ปี และ 10 ปี ซึ่งได้ผลไม่ต่างกัน เมื่อพบว่าเด็กที่พ่อแม่มักให้อาหารเพื่อเป็นการปลอบขวัญหรือบรรเทาความเจ็บปวด มักมีพฤติกรรมการในการกินบำบัดอารมณ์เมื่อโตขึ้น ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่การสืบทอดทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกินเพื่อบำบัดความเครียดสามารถป้องกันได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่ผู้ปกครองก็ต้องหาทางบำบัดความเครียดให้ลูกด้วยวิธีอื่นด้วย เช่น ชวนเล่นเกม หรือให้ดูทีวีรายการโปรด แทนที่จะหยิบยื่นน้ำอัดลม หรือขนมให้
ที่มา : www.independent.co.uk