‘Sadfishing’ โพสต์เศร้าเล่าตัดพ้อ เรียกกระแสเพิ่มยอดไลค์

สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลไม่ว่าเรื่องใดก็ตามแต่ หากเป็นสิ่งที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมากจะเกิดเป็นกระแสและลุกลามเป็นวงกว้างอย่างยั้งไม่อยู่ ซึ่งอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการใช้โซเชียลมีเดียคือผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ใช้งานอันมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งความมั่นใจ ความเครียด ความไม่เป็นที่สนใจ เหล่านี้ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นยาพิษชั้นดีต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจอ่อนแอได้

Sadfishing

โซเชียลมีเดียคือพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่มีฟังก์ชั่นในการพิมพ์ในสิ่งที่อยากสื่อสารออกไปรวมถึงโพสต์รูปแวะวิดีโอให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้และสนใจ ซึ่งตอนนี้มีนิยามใหม่ของการโพสต์บนโซเชียลที่ถูกเรียกว่า Sadfishing การโพสต์ที่สื่อถึงความรู้เศร้า ตัดพ้อชีวิต เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น หรือหวังโกยยอดไลค์และคอมเม้นต์ โดยถ้อยคำเหล่านั้นอาจเกินจริงจากความรู้สึกของผู้โพสต์เอง แต่ใส่สีตีไข่ให้เรื่องเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

โดยมากแล้วเราจะเห็นแนวทางการ Sadfishing โดยไม่รู้ตัวจากเหล่าคนดัง เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ที่อาจสร้างเรื่องราวปนความเศร้าโดยแฝงการโปรโมทสินค้าหรือบริการอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากมนุษย์เราล้วนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ และแนวทางในการโพสต์เรื่องเศร้า ๆ สามารถอิมแพคคนได้เป็นจำนวนมาก ง่าย ๆ คือเปรียบเหมือนการใช้ความเศร้าเป็นเหยื่อล่อให้ผู้คนเข้ามาให้กำลังใจ นั่นเอง

ยกตัวอย่างการโพสต์ที่เข้าข่าย Sadfishing ของคนดังอย่าง Kris Jenner ที่โพสต์วิดีโอ Kendal Jenner บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพผิว ผิวหน้า ที่ทำให้ตัวเธอเองไม่มั่นใจ แต่ความจริงนั้นตัวเธอได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัทเลเซอร์และดูแลผิวพรรณไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้คนบางส่วนเข้ามาต่อว่าเธอว่า “นี่มัน Sadfishy มาก ๆ” สุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการใช้คำพูดทำร้ายกันไปอีก..

สำหรับการเป็นคนดัง ในเรื่องของการถูก ใครบ้างก็ไม่รู้ เข้ามาต่อว่าก็อาจจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง(ไม่ได้หมายความว่ามีใครสมควรโดน) แต่สำหรับหนุ่มสาววัยรุ่นทั่วไปก็อาจนำความประพฤติแบบนี้ไปเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อเห็นความสำเร็จของการโพสต์เรื่องเศร้าเล่าตัดพ้อ ซึ่งทำให้มีผู้คนเข้ามาสนใจและแสดงความเห็นอกเห็นใจ ใครต่อใครก็อ้าแขนรอกอด จึงมีความต้องการอยากได้รับความเห็นอกเห็นใจแบบนั้นบ้างและทำตาม ๆ กันไปจนถึงขั้นเสพติด

ซึ่งเรื่องของพฤติกรรมเหล่านี้เป็นที่น่ากังวลในหมู่นักเรียนและวัยรุ่น โดยจากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนจำนวน 50,000 คนในสหราชอาณาจักร โดย Digital Awareness UK ทำให้ทราบว่า โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเข้าข่าย Sadfishing ซึ่งชอบโพสต์ถึงภาวะทางอารมณ์ของตนในด้านที่แย่เพื่อรอกระแสตอบรับจากคนอื่น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การกลั่นแกล้งอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น การโพสต์เรื่องเศร้าเพื่อขอความเห็นใจแต่เมื่อไปโรงเรียนแล้วเพื่อน ๆ เห็นว่าไม่ได้เศร้าจริง การกลั่นแกล้งก็จะตามมา โดยครูใหญ่จากหลายโรงเรียนในประเทศต่างต้องรับมือกับการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ของเด็กนักเรียนในปริมาณมาก

เมื่อโทรศัพท์และการใช้โซเชียลมีเดียคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงการใช้งานไม่ได้สำหรับหนุ่มสาววัยรุ่นในปัจจุบัน และไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับการโพสต์ระบายความเศร้าบนสังคมโซเชียล เพียงแต่การใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ค่อนไปในทางไม่ดีอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติดการหาความสนใจจากความเศร้าเอาได้ เพราะในความเป็นจริงเราคงไม่ได้รับอะไรดี ๆ จากเรื่องเศร้า ๆ อยู่แล้ว ในทางกลับกันเมื่อเราประสบกับเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นจริงไม่ว่าใครก็อยากหนีจากเรื่องแย่ ๆ นี้ทั้งนั้น

อ้างอิง
metro.co.uk
bbc.com