สมัยนี้มีอาชีพแปลกๆเกิดขึ้นมากมาย เพื่อเพิ่มช่องทางในการทำมาหากินของคนเรา ในโลกที่วุ่นวายและสังคมที่เคร่งเครียด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การเป็น “Sugar Baby”
อาชีพนี้ หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ หรือไม่เคยได้ยิน เพราะในบ้านเรายังไม่เคยมีมาก่อน แต่สำหรับในต่างประเทศ ถือเป็นอาชีพที่กำลังมาแรงในหมู่วัยรุ่นและได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ
Sugar Baby คืออะไร
Sugar Baby คือคำที่ใช้เรียกหนุ่มสาว อายุประมาณ 18-26 ปี ที่รับจ๊อบให้ความสำราญกับผู้ชาย หรือผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า เพื่อแลกกับเงิน ของขวัญ หรือของราคาแพงต่างๆ ซึ่งลักษณะงานของอาชีพนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการรับจ้างเที่ยว รับจ้างกินข้าว ดูหนังในบ้านเรา
อาชีพนี้ถูกกฎหมายหรือไม่
Sugar Baby ถือเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย เพราะมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์ และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทารุณกรรม ล่อลวง หรือล่วงละเมิดไปมากกว่าข้อตกลงที่มีต่อผู้จ้างที่เรียกว่า Sugar Daddy (ผู้ชาย) หรือ Sugar Momma (ผู้หญิง)
Sugar Baby มีในประเทศใดบ้าง
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่อนุญาตให้ทำอาชีพนี้ได้ ทั้งใน สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ โคลอมเบีย และออสเตรเลีย ซึ่งเว็บไซต์ Sugar Baby ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง SeekingArrangement.com อ้างว่า มีนักศึกษาอังกฤษมากถึง 160,000 คน ที่ลงทะเบียนไว้ ขณะที่ออสเตรเลียก็มีนักศึกษาลงทะเบียนมากถึง 1 แสนคนเลยทีเดียว
คุ้มไหมที่จะทำอาชีพนี้
ขึ้นอยู่กับความต้องการของเหล่า Sugar Baby หากต้องการแค่ได้เงินค่าเล่าเรียน ก็อาจมองว่าการนั่งเป็นเพื่อนคุย กินข้าว ดูหนัง คุ้มค่ากับเงินที่ได้รับ แต่หากต้องการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายว่าเป็นอย่างไร เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่มองว่าอาชีพนี้มีช่องทางสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
Sugar Baby ขายบริการทางเพศหรือไม่
อาชีพนี้ บางทีก็ถูกเหมารวมว่าเป็นเด็กเสี่ย หรือไซด์ไลน์ เพราะบางคนก็ยอมขึ้นเตียงกับ Sugar Daddy หรือ Sugar Momma เพื่อจำนวนเงินที่มากขึ้น แต่สิ่งที่ต่างจากการขายบริการทางเพศ คือพวกเขาจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันด้วย
อย่างไรก็ตาม Sugar Baby สาวรายหนึ่งในอังกฤษ ยอมรับว่า อาชีพนี้แม้จะได้เงินเยอะ แต่ก็อันตราย เพราะถูก Sugar Daddy มองว่าเธอไม่ต่างอะไรกับ “สัตว์เลี้ยง” ที่จะทำอะไรก็ได้ อีกทั้งยังถูกสังคมมองในทางที่ไม่ดีด้วย เพราะเป็นอาชีพที่มีเส้นบางๆ ระหว่าง “เพื่อนคุย” กับ “เพื่อนนอน”