เวลาที่เกิดความรู้สึกบีบคั้น หรืออัดอั้นตันใจ จากการทำงาน ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการระบายออกมาบ้าง ซึ่งผลสำรวจเมื่อปี 2014 จากพนักงานออฟฟิศ 13,000 คน ใน 13 ประเทศ พบว่า มีอยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่แอบไปร้องไห้คนเดียวเงียบๆ ในห้องน้ำของออฟฟิศ
ขณะที่ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานออฟฟิศ 700 คน พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงยอมรับว่าเคยร้องไห้ในที่ทำงาน ส่วนผู้ชายพบว่า มี 9 เปอร์เซ็นต์ที่เคยร้องไห้ในออฟฟิศ ซึ่งการแสดงออกด้วยการร้องไห้นั้น คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ หรือความไม่เข้มแข็ง
แต่จากงานวิจัยล่าสุดของสถาบันการศึกษาชื่อดัง Harvard Business School โดย เอลิซาเบธ เบลี่ วูล์ฟ พบว่า เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างความได้เปรียบจากการร้องไห้ได้ หลังจำลองสถานการณ์ขึ้นมา 5 แบบ เพื่อดูว่าเพื่อนร่วมงานรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นคนร้องไห้ และการร้องไห้แบบไหนที่สร้างการรับรู้ในเชิงบวกได้มากที่สุด
โดยสถานการณ์ในการร้องไห้ทั้ง 5 แบบ ได้แก่ ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน, ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่อยากทำ, ถูกต่อต้านด้วยการเลือกปฏิบัติ, ต่อรองเพื่อขอเงินเดือนหรือค่าแรงเพิ่มขึ้น และร้องไห้เพราะความรักในงานที่ทำ
ปรากฏว่า สถานการณ์สุดท้ายสร้างความรับรู้ในเชิงบวกได้มากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากเลือกแสดงออกอย่างถูกที่ถูกเวลา ก็จะช่วยให้การร้องไห้นั้นมีประโยชน์และเพิ่มความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนร่วมงานและเจ้านายได้แบบไม่รู้ตัว