ว่าด้วย “เรื่องที่ต้องรู้” เกี่ยวกับ “หมุดคณะราษฎร”

ภาพจาก FB : หมุดคณะราษฎร

ถือเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องมาหลายวัน เมื่อพบว่ามีการรื้อถอน “หมุดคณะราษฎร” ที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า และแทนที่ด้วยของใหม่ที่มีข้อความเปลี่ยนไปจากเดิม โดยล่าสุดนอกจากจะมีการระดมรายชื่อสนับสนุนให้ “เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร”ในเว็บไซต์ Change.org แล้ว สื่อต่างประเทศก็ให้ความสนใจประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการตัวผู้กระทำผิด ซึ่ง พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เหตุใดรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบกรณีหายไปของหมุดคณะราษฎร และหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลมิต้องรับผิดชอบทุกสิ่งที่หายไปในประเทศนี้อย่างนั้นหรือ”

ทั้งนี้ “หมุดคณะราษฎร” เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าการเปลี่ยนหมุดในครั้งนี้มีนัยยะสำคัญหรือไม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจเช่นกัน เพราะถือเป็นความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้รับทราบจากข่าวที่เกิดขึ้น

ที่มาของหมุดคณะราษฎร
พระยาพหล พลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มคณะบุคคลที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ต้องการให้มีการจัดทำหมุดที่ระลึกเพื่อเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นอนุสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดทำขึ้นด้วยโลหะสำฤทธิ์ และประกอบพิธีฝังหมุด เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ณ จุดที่พระยาพหล พลพยุหเสนา ได้รับแต่งตั้งจากกลุ่มคณะราษฎรให้เป็นผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ 2475 โดยตั้งชื่อว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”

ความสำคัญของหมุดคณะราษฎร
หมุดคณะราษฎร หรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ถือเป็นสัญลักษณ์ที่รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดย “คณะราษฎร”

นอกจากนี้ ยังถือเป็นจุดกำเนิดของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหน่วยงานทั้งสองล้วนถือเอาวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา
ข้อความบนหมุดคณะราษฎรเดิม
หมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับแรก ในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ 2475
ข้อความบนหมุดใหม่
ทั้งนี้ คาดว่ามีการลักลอบเปลี่ยนหมุดใหม่ ในช่วงระหว่างวันที่ 4-6 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเต๊นท์ผ้าใบคลุมบริเวณดังกล่าวไว้ ก่อนจะมีผู้พบเห็นว่าหมุดเดิมหายไป และถูกแทนที่ด้วยของใหม่ที่มีข้อความว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” ส่วนข้อความล้อมรอบด้านนอกเขียนว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณวัตถุ”
แม้ว่าหมุดคณะราษฎรจะมีอายุ 85 ปี และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่ได้ถูกขึ้นเป็นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึง เพราะหากได้รับการขึ้นทะเบียน จะทำให้หมุดคณะราษฎรได้รับการคุ้มครอง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือลักลอบนำออกนอกประเทศได้

โดยนักวิชาการบางรายระบุว่า หมุดคณะราษฎรเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ซึ่งกรมศิลปากรต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาตามหน้าที่