วนกลับมาอีกแล้วกับระบบต่างๆ ของไทย และวิชาศิลปะ ถ้าพูดถึงวิชานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับหลายๆ คน มันกลายเป็นวิชาชิลล์ๆ คล้ายๆ คาบว่างยังไงอย่างงั้น
มันก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะด้วยสังคมไทยและระบบการศึกษา เราย่อมให้ความสำคัญกับวิชาการอย่างอื่นมาก่อนอยู่แล้ว เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ในการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อ จนวิชาย่อยๆ อย่างศิลปะ วิชางานประดิษฐ์ การงานอาชีพ ฯลฯ ถูกให้ความสำคัญอยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
เลยเกิดคำถามเล็กๆ ของคนที่อยากเรียนศิลปะว่า เอ๊ะ ถ้าเราจะเข้าคณะที่เป็นศิลปะ เราต้องทำยังไง?
คำตอบง่ายๆ เลยก็คือ ต้องไปหาที่เรียนพิเศษเพิ่มไง!
เพราะอย่างที่บอก โรงเรียนทั่วไปให้ความสำคัญกับวิชาศิลปะอยู่ที่ 1 ชั่วโมง ถ้าในส่วนวิชาเลือกที่แยกออกมาอาจจะสัก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ไม่เพียงพอที่จะนำความรู้นั้นไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะศิลปะได้
นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าศิลปะในประเทศไทยไม่ได้ถูกให้ความสำคัญขนาดนั้น เราลองมองย้อนกลับไปดูมัธยม ว่าเราเรียนอะไรกันบ้าง ครูบางคนอาจจะเริ่มถูกวิธีอย่างเช่นการให้เริ่มวาดโครงสร้าง ฝึกลากเส้น วาดรูปเรขาคณิตก่อน แต่กับบางที่อาจจะให้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือบางที่อาจจะให้ลองวาดและลงสีบนเฟรมผ้าใบเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ การจะเข้าคณะศิลปะมันแยกย่อยวุ่นวายมาก เราต้องเรียนรู้พื้นฐานอย่างการวาดเส้น และต้องชำนาญในวิชาเอกที่ตัวเองอยากจะเข้าด้วย (จะออกแบบนิเทศน์ศิลป์ แฟชั่น ผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ) อีกเยอะแยะที่นับไม่หมด และยังต้องมีทฤษฎีที่เกี่ยวกับศิลปะอีก ที่เราไม่สามารถหาในโรงเรียนได้เลย เป็นอีกสาเหตุที่คนที่จะเข้าเรียนคณะศิลปะ ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่เอาข้างนอกด้วยการหาที่เรียนพิเศษ และเริ่มวาดตั้งแต่พื้นฐานไปเรื่อยๆ จนต้องเตรียมตัวกันล่วงหน้าสองสามปีเลยทีเดียว
คงเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้การศึกษาและสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ก็พยายามจะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย มรดกที่เกี่ยวกับความเป็นไทย แต่อะไรอะไรที่เป็นไทยๆ คนก็ทั่วไปกลับไม่ให้ความสนใจซะงั้น
จะว่าไปไม่ใช่แค่วิชาศิลปะที่มีปัญหา
เราก็เห็นกันอยู่ทุกวันว่าตึกเรียนพิเศษ หรือโรงเรียนสอนพิเศษบางทีจะคึกคักกว่าโรงเรียนมัธยมทั่วไปด้วยซ้ำ มันเป็นแบบนี้เพราะอะไรกันแน่? คิดไปคิดมาเหมือนเราเรียนในมัธยมเพื่อสอบเอาเกรด ออกไปเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และทิ้งทุกอย่างเพื่อไปนับหนึ่งในมหาวิทยาลัยอีกที คิดแล้วตลกไม่ออกเหมือนกัน ฮ่าๆ
นั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเร็วๆ เหมือนกัน ชีวิตของเด็กนักเรียนจะได้ไม่ต้องไปเสียงกับระบบการศึกษาที่ อะไรก็ไม่รู้ ซะที