กว่าจะได้ติดปีกเป็น “แอร์โฮสเตส” กับพี่มีนา Crew Wings Academy

แอร์โฮสเตส ยังคงเป็นอาชีพในฝันของผู้หญิงหลายคนในปัจจุบัน เนื่องจากมีค่าตอบแทนสูง และมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ แต่การที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตสได้นั้น จะต้องผ่านบททดสอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา บุคลิกภาพ และภาระการทำงานที่ต้องพบเจอกับความเสี่ยง โดยวันนี้ Tonkit360 มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับ “คุณมีนา-วิภาวี ติระตระกูลเสรี” แอร์โฮสเตสและครูสอนพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อเป็นแอร์โฮสเตสและสจ๊วต ที่ Crew Wings Academy ซึ่งคุณมีนาจะมาแชร์ประสบการณ์ให้ได้ทราบกันว่า กว่าจะได้ติดปีกเป็นแอร์โฮสเตสอย่างทุกวันนี้เธอผ่านอะไรมาบ้าง

แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณมีนามาประกอบอาชีพแอร์โฮสเตส

คุณมีนา : จริงๆ มีนามีความฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตสตั้งแต่ ป.2 ค่ะ เพราะว่าแอร์โฮสเตสสวย ซึ่งเชื่อว่าสาวๆ หลายคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์ฯ ก็คงจะคิดเหมือนกัน แต่ทีนี้พอมีนาเรียนจบปริญญาตรีที่ประเทศไทย แล้วไปต่อปริญญาโทที่อังกฤษ ตอนนั้นมีนาก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่อยากจะเป็นแอร์โฮสเตสแล้ว เพราะคิดว่ายังไงตัวเองก็ทำไม่ได้ เลยไปทำงานเป็นเบื้องหลังแทน แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งก็มีเพื่อนมาบอกว่า “ลองไปสมัครแอร์ฯ สิ มีนาได้ภาษานี่หน่า” ซึ่งมีนาก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะเราไม่สวยแต่งหน้าก็ไม่เป็น แต่สุดท้ายคำพูดของเพื่อนคนนั้น ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มีนาลองมาสมัครแอร์โฮสเตสเฉยเลยค่ะ

กว่าจะเป็นแอร์โฮสเตสได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

คุณมีนา : หนึ่งเลยคือต้องผ่านการพัฒนาบุคลิกภาพค่ะ ซึ่งการพัฒนาบุคลิกภาพที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การยืน เดิน นั่งเท่านั้น มันรวมไปถึงเรื่องของทัศนคติและมุมมองด้วยว่า ตัวเราเองมีความคิดในแบบของแอร์ฯ รึเปล่า เราคิดในมุมที่ถูกต้องแล้วรึยัง และอีกอย่างที่แน่นอนคือคุณต้องได้ภาษา ซึ่งก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นกันค่ะ แล้วก็ต้องผ่านการฝึกแต่งหน้าทำผมด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อพัฒนาตัวเองแล้ว เราต้องไปลองสนามจริงก็คือการไปสมัครแอร์ฯ โดยตัวมีนาเองกว่าจะได้เป็นแอร์ฯ ก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี และผ่านการสมัครมาทั้งหมดถึง 19 ครั้งเลยทีเดียวค่ะ

การสอบ toeic กับการสอบข้อสอบของสายการบิน ยากแตกต่างกันอย่างไร

คุณมีนา : จริงๆ แล้วการสอบทั้ง 2 อย่างนี้ มันมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่ค่ะ แต่ว่าถ้ามองในมุมส่วนตัวของมีนาเอง มีนาว่าการสอบ toeic นั้นง่ายกว่า การไปสอบข้อสอบของสายการบินซะอีก เพราะว่าการสอบ toeic มันมีโรงเรียนมีสถาบันที่เปิดสอนอยู่แล้ว แต่ข้อสอบของสายการบินจะไม่มีใครรู้เลยว่าโจทย์เป็นยังไง อาจจะมีบางคนที่พอเดาได้จากประสบการณ์ที่เคยไปสมัครมาแล้ว แต่มันไม่มีที่ไหนสามารถสอนได้แบบตรงๆ เลยว่าโจทย์จะเป็นแบบนี้นะ ซึ่งข้อสอบของสายการบินไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น บางครั้งเขาก็มีโจทย์เลขมาด้วย หรือบางทีก็มีโจทย์รูทสายการบินนั้นๆ รวมไปถึงโจทย์ที่ถามถึง ข้อมูลของบริษัทสายการบินที่เราไปสมัครก็มีค่ะ ฉะนั้นเลยจะยากกว่าการสอบ toeic

ก่อนจะสมัครแอร์โฮสเตส ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

คุณมีนา : วิธีเตรียมตัวง่ายๆ ก่อนไปสมัครแอร์ฯ ก็คือ ให้ดูที่ความต้องการของสายการบินที่เราจะไปสมัครค่ะ เขาจะมีระบุบอกอยู่ว่าเขาอยากได้แอร์ฯ ที่มีคุณสมบัติแบบไหนบ้าง ก็ให้เราเช็คลิสต์ไปเลยว่าเรามีข้อไหนแล้ว หรือข้อไหนที่ยังไม่มีเราก็ไปจัดการให้เรียบร้อย เช่น มีใบวุฒิการศึกษา มีพาสปอร์ต มีคะแนน toeic มีรูปถ่ายรึยัง พอเอกสารครบปุ๊บก็อาจจะยังไม่พอ เพราะดราต้องมาดูอีกว่าเราแต่งหน้าทำผมเป็นรึยังด้วย ซึ่งเบื้องต้นก็จะประมาณนี้ค่ะ

สำหรับคุณมีนาคิดว่าคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ของการเป็นแอร์โฮสเตสคืออะไร

คุณมีนา : คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการเป็นแอร์โฮสเตส มีนามองว่าเป็นเรื่องของทัศนคติค่ะ เพราะว่าจริงๆ แล้วภาษาก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการเป็นแอร์ฯ แต่ถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้องต่างหาก จะทำให้เรามีโอกาสได้เป็นแอร์ฯ ก็คือต้องมีใจรักในงานบริการ แต่ต้องมากกว่ารักที่จะบริการคนอื่นค่ะ

เกณฑ์การคัดเลือกแอร์โฮสเตสเข้าสายการบิน ที่กรรมการส่วนใหญ่ใช้ในการตัดสิน

คุณมีนา : เกณฑ์แรกที่กรรมการจะมองเลยก็คือ first impression ค่ะ เขาจะประเมินก่อนเลยว่ามีความรู้สึกที่อยากจะคุยกับคนนี้มั้ย หรืออยากจะเห็นหน้าคนนี้บนเครื่องบินมั้ย ความประทับใจครั้งแรกมันเป็นสิ่งสำคัญ ที่กรรมการเองก็จะต้องมองไปเผื่อผู้โดยสารด้วย เพราะเวลาอยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารไม่มานั่งคุยกับแอร์โอสเตสอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาก็ต้องมองไปที่การเจอกันครั้งแรก ว่าเราสามารถทำให้เขาประทับใจได้มั้ยอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของมุมมอง ทัศนคติ แล้วก็บุคลิกภาพค่ะที่กรรมการจะใช้ในการตัดสิน

จริงๆ แล้วแอร์โฮสเตสมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

คุณมีนา : ตามหลักกฎการบินถ้าไม่มีลูกเรือ เครื่องบินก็ไม่สามารถบินได้ค่ะ และเช่นเดียวกันผู้โดยสารก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ เพราะว่าไม่มีลูกเรือที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบินให้ ซึ่งปกติผู้โดยสาร 50 คนเท่ากับต้องมีลูกเรือ 1 คน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องบิน) ดังนั้นหน้าที่ของแอร์โฮสเตส ที่นอกจากการสาธิตอุปกรณ์ความปลอดภัย และบริการอาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบินแล้ว เราจะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย เพราะการขึ้นไปอยู่บนฟ้ามันเหมือนห้องปิดตาย ที่ไม่สามารถกระโดดลงมาได้ ฉะนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงอันตรายขึ้น คงไม่มีใครทราบในอุปกรณ์ต่างๆ บนเครื่องบินไปดีกว่าแอร์โฮสเตสค่ะ

ข้อดีข้อเสียของอาชีพแอร์โฮสเตส

คุณมีนา : ข้อดีข้อที่หนึ่งก็คือเรื่องของรายได้ค่ะ แอร์โฮสเตสจะได้เงินเดือนตั้งแต่ 45,000-150,000 บาทค่ะ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายการบิน) ข้อดีข้อที่สองก็คือได้ท่องเที่ยว ส่วนสวัสดิการก็จะเป็นได้ตั๋ว extra ฟรีจากสายการบิน ได้สิทธิการรักษาพยาบาล และข้อดีข้อสุดท้ายก็คือเราได้ใส่ชุดยูนิฟอร์มสวยๆ ของสายการบิน ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งเหมือกัน สำหรับข้อเสียของการเป็นแอร์โฮสเตส ก็คือเราจะมีวันหยุดที่ไม่ตรงกับคนอื่นค่ะ อย่างเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ แล้วก็อาจมีปัญหาด้านการพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น Jet Lag จนตื่น-นอนไม่เป็นเวลาค่ะ

ฝากถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตส

คุณมีนา : เชื่อว่าแอร์โฮสเตสยังคงเป็นอาชีพที่สาวๆ หลายคนอยากจะทำอยู่นะคะ มีนาก็อยากจะฝากไว้ว่าในบางครั้งที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก มันเป็นอาชีพที่เอื้อมถึงยากเกินไป อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นค่ะ เพราะจริงๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นแอร์ฯ ได้ เราแค่ต้องให้โอกาสตัวเอง เราอาจจะไม่ใช่คนที่สวยเพอร์เฟค หรือเกิดมาเพื่อเป็นแอร์โฮสเตส แต่ถึงอย่างไรเราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพหรือหน้าตา ที่ก็สามารถอาศัยการแต่งหน้าช่วยได้ รวมถึงเรื่องของภาษาซึ่งมันไม่ใช่อุปสรรคอะไร เพียงแต่บางคนอาจจะต้องใช้เวลาและความตั้งใจ แล้วทำมันให้ดีที่สุดค่ะ มีนาเชื่อว่ามีนาเป็นได้ ทุกคนก็เป็นแอร์โฮสได้เหมือนกันค่ะ