บรรณารักษ์ คือบุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพในการจัดการข้อมูล ในด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยส่วนใหญ่แล้วบรรณารักษ์มักจะทำงานในห้องสมุด และมีหน้าที่ช่วยให้ผู้ที่มาใช้บริการทราบข้อเท็จจริง โดยการจัดซื้อจัดหาสารสนเทศ และค้นทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ทั้งหนังสือ วารสาร เว็บไซต์ มาให้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ
แต่ในปัจจุบันบทบาทของบรรณารักษ์เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้รูปลักษณ์ของความรู้เปลี่ยนแปลงจากหนังสือไปสู่รูปแบบอื่นๆ บทบาทของบรรณารักษ์จึงมีแนวโน้มว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องมีทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกความรู้ในอนาคต
ซึ่งวันนี้ Tonkit360 ก็ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ คุณปู-รัชนีวรรณ สังวรดี (อายุ 38 ปี) อาชีพบรรณารักษ์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการจัดการสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะมาเล่าถึงสายงานอาชีพบรรณารักษ์ว่า แม้บรรณารักษ์ดั้งเดิมจะลดน้อยลงจริง แต่งานในห้องสมุดนั้นก็ยังต้องอาศัย ผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านบรรณารักษ์ในการฝึกอบรมผู้ใช้บริการอยู่ดี
ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาบรรณารักษ์ และเลือกทำอาชีพนี้
คุณปู : ที่เลือกเรียนสาขานี้ก็เพราะว่าสะดุดตากับชื่อสาขา ซึ่งตอนนั้นชื่อสาขาคือบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยถ้าหากเป็นเฉพาะวิชาบรรณารักษ์ก็พอเข้าใจได้ว่า ถ้าจบมาก็คือมาเป็นบรรณารักษ์ที่ทำงานในห้องสมุด แต่เผอิญมันมีพ่วงคำว่าและสารสนเทศศาสตร์ เราไม่เคยได้ยินว่ามันมีวิชานี้ด้วยหรอ ก็เลยตัดสินใจเรียนสาขานี้ พอเรียนจบก็มาทำงานในสายบรรณารักษ์เลย จนปัจจุบันก็มีอายุงาน 14 ปีแล้วค่ะ
แรงบันดาลใจอื่นๆ ที่ทำให้มาประกอบอาชีพบรรณารักษ์
คุณปู : แรงบันดาลใจอื่นๆ ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่มีค่ะ ตอนแรกที่เลือกเรียนสาขานี้ ก็เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี (หัวเราะ) และด้วยความที่เราเป็นเด็กขอนแก่น ก็เลยอยากจะเอ็นให้ติดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเราก็เลยมาดูว่ามันมีคณะไหนสาขาอะไรบ้างที่เราพอจะเรียนได้ ก็เลยเลือกเป็นสาขาบรรณารักษ์ แล้วปรากฎว่าเราก็สอบติดด้วยค่ะ
เกณฑ์การคัดเลือกบรรณารักษ์ ใช้อะไรในการตัดสิน
คุณปู : ส่วนใหญ่แล้วจะมีเป็นการสอบข้อเขียน และก็สอบสัมภาษณ์ค่ะ โดยหลังจากนั้นเราก็จะดูในใบสมัครควบคู่ประกอบการพิจารณา ว่าเขามีคุณสมบัติอะไรพิเศษโดดเด่นกว่าคนอื่นไหม หรือมีประสบการณ์ตรงกับงานที่เราจะให้ทำไหมประมาณนี้ค่ะ
ลักษณะงานของบรรณารักษ์
คุณปู : จริงๆ แล้วในห้องสมุดมีหลายงานมากเลยค่ะ ซึ่งหลักๆ ก็คืองานจัดซื้อจัดหา ก็คือเราจะต้องจัดหาทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ มาให้บริการแก่ผู้ใช้ในห้องสมุด เมื่อเราได้ทรัพยากรมาแล้ว งานต่อไปก็คืองานเทคนิค วิเคราะห์และลงรายการทรัพยากรสารสนเทศ ก็คือเป็นการกำหนดเลขหมู่ คำค้น หัวเรื่อง แล้วก็บันทึกข้อมูลบรรณานุกรมเหล่านี้ลงในฐานข้อมูลของห้องสมุด เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นได้ และต่อไปก็คือเป็นงานบริการที่จะต้องนำหนังสือมาวางให้แก่ผู้ใช้ นอกจากนั้นก็ยังจะมีงานอื่นๆ อีกมากมาย เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานการสอนและฝึกอบรมให้แก่ผู้ใช้ เป็นต้นค่ะ
บรรณารักษ์ต้องปรับตัวแค่ไหน เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
คุณปู : ต้องปรับตัวอย่างมากเลยค่ะ อย่างปูจะอยู่ในยุคที่คาบเกี่ยวระหว่างบรรณารักษ์แบบดั้งเดิม กับบรรณารักษ์สมัยใหม่ก็คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน อย่างแรกเลยเราต้องเปิดใจว่าเทคโนโลยีมันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว และก็มันไม่สามารถที่จะมาแทนที่เราได้ แต่ว่ามันจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมากกว่า เอาง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรเราก็ไม่สามารถต้านทานเทคโนโลยีได้แน่นอนอยู่แล้วค่ะ
จำเป็นไหมที่บรรณารักษ์ต้องรักการอ่าน
คุณปู : ในสมัยนี้ปูคิดว่ามันไม่จำเป็น เอาจริงๆ พอไปทำงานมันไม่มีเวลามานั่งอ่านหนังสือหรอก แต่ว่าถ้าเกิดเราอยู่ในสายงานวิเคราะห์ งานให้เลขหมู่ หรือให้หัวเรื่อง อันนั้นก็จำเป็นที่จะต้องอ่านบ้าง แต่ถ้าเราทำงานในห้องสมุดสายอื่นก็คิดว่าไม่จำเป็นค่ะ (ยิ้ม)
รายได้ของบรรณารักษ์เป็นอย่างไรบ้าง
คุณปู : รายได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในหน่วยงานที่เป็นของรัฐหรือเอกชน ซึ่งถ้าเป็นรัฐเงินเดือนของบรรณารักษ์ก็จะขึ้นกับโครงสร้างของหน่วยงานตามเรทราชการ แต่ถ้าเป็นของเอกชน เขาก็จะดูประสบการณ์การทำงานเพิ่มเติมไป ก็คือพออยู่ได้ค่ะ แต่ถามว่ารวยไหมก็ไม่รวยค่ะ (หัวเราะ)
ห้องสมุดที่เปิด 24 ชม. จำเป็นไหมที่คนดูแลต้องเป็นบรรณารักษ์
คุณปู : สำหรับห้องสมุดที่เปิด 24 ชม. คือน่าจะเป็นการเปิดในช่วงที่เด็กกำลังจะสอบ แล้วเขาต้องการพื้นที่ในการอ่านหนังสือ ซึ่งคนที่ให้บริการหรือดูแลอาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบรรณารักษ์เสมอไป อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานที่คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการก็ได้ค่ะ
หลักการจัดเรียงหนังสือในห้องสมุด
คุณปู : มันก็จะมี 2 ระบบค่ะ คือระบบดิวอี้ที่ใช้เป็นตัวเลข กับระบบ LC ที่ใช้เป็นตัวหนังสือ ซึ่งในระบบดิวอี้ส่วนใหญ่จะใช้กับห้องสมุดโรงเรียนค่ะ แต่ถ้าเป็นระบบ LC จะนิยมใช้กับห้องสมุดขนาดใหญ่ เช่น ห้องสมุดในมหาวิทยาลัย หรือห้องสมุดประชาชน เป็นต้นค่ะ
รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ปัจจุบันอาชีพบรรณารักษ์ลดน้อยลง
คุณปู : สำหรับปูมองว่าถ้าเป็นบรรณารักษ์ดั้งเดิมมันอาจจะลดน้อยลง หรือหายไปบ้างจริงๆ แต่ว่าอย่างที่บอกไปคือปัจจุบันบรรณารักษ์ มีสายงานหลากหลายแขนงมาก ที่เข้ามาทดแทนงานแบบเดิมๆ เช่น งานฝึกอบรม หรืองานสอนผู้ใช้ให้รู้ถึงสารสนเทศต่างๆ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นงานเหล่านี้ มันก็ยังต้องอาศัยคนที่เรียนวิชาชีพทางด้านบรรณารักษ์อยู่อ่ะค่ะ
สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในอาชีพบรรณารักษ์
คุณปู : การได้เห็นความสำเร็จของผู้ใช้บริการห้องสมุดค่ะ อย่างปูที่ทำงานในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ผู้ใช้ก็จะเป็นนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ซึ่งเราได้เห็นเวลาที่เขาเรียนจบหรือทำโปรเจกต์สำเร็จ แล้วเขากลับมาขอบคุณเราว่า ขอบคุณนะคะ/ครับ ที่ช่วยสนับสนุนในด้านข้อมูล สื่อทรัพยากรอะไรต่างๆ ที่เรามีโอกาสหรือมีส่วนในการช่วย ทำให้เขาเรียนจบประมาณนี้ค่ะ
ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจอยากเรียนในด้านบรรณารักษ์
คุณปู : ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับบรรณารักษ์ มีค่อนข้างเยอะมากนะคะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน หรือว่าราชภัฎต่างๆ แต่ในแต่ละที่ก็จะสังกัดคณะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะสังกัดคณะอักษรศาสตร์ แต่ถ้าเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็จะเป็นสังกัดคณะมนุษยศาตร์และสังคมศาสตร์ คือถ้าน้องๆ สนใจอยากจะเรียนจริงๆ ก็จะต้องเข้าไปดูหลักสูตรในเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ อ่ะค่ะ
ฝากถึงประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการอ่าน
คุณปู : การอ่านในปัจจุบันนี้เราสามารถที่จะเข้าถึงความรู้ ข้อมูลต่างๆ ได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น นอกจากหนังสือที่เป็นเล่มๆ แล้ว แต่ทั้งนี้ก็อยากให้พิจารณาด้วยว่า สิ่งที่เราไปอ่านจากอินเทอร์เน็ต หรือว่าสิ่งที่เราได้รับการแชร์ต่อมานั้นมันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีแหล่งที่มายังไงบ้าง ซึ่งมันก็จะต่างกับการอ่านจากหนังสือโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว เพราะหนังสือกว่าจะออกมาเป็นเล่มได้ จะต้องผ่านการกลั่นกรอง การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้องก่อน ซึ่งหนังสือก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีแหล่งอ้างอิงชัดเจนค่ะ